เป็นที่ทราบและตระหนักกันดีในสังคมไทยว่าอัตราการเกิดของประชากรไทยได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการสะท้อนผลสำเร็จของนโยบายและมาตรการควบคุมการกำเนิดในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก จนกลายเป็นแบบอย่าง และแรงดลใจให้กับหลายๆ ประเทศกำลังพัฒนา
ความสำเร็จนั้นได้ถูกต่อยอดด้วยการที่คนหนุ่มคนสาวของไทยเราในระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมา โดยต่างมุ่งทำมาหากิน และแต่งงานช้า อีกทั้งเมื่อมีชีวิตคู่แล้วก็มักจะคิดเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นสำคัญ และมีความกังวลเกี่ยวกับภาระ ความรับผิดชอบ และค่าใช้จ่ายในการมีบุตร โดยเมื่อตัดสินใจที่จะมีบุตร ก็มักจะเป็นเรื่องของการมีบุตรให้น้อยที่สุด จนเกิดผลกระทบที่ตามมาต่อสังคมโดยทั่วไปก็คือ การขาด หรือลดจำนวนของแรงงานหรือผู้ทำมาหากิน ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเสียภาษีเพื่อนำมาทำนุบำรุงประเทศ และคู่ขนานกันไปกับจำนวนประชากรเกิดใหม่ก็คือ การที่ผู้สูงอายุมีอายุยาวนานยิ่งขึ้น และสังคมก็มีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่ถึงกำหนดการหยุดทำงานแล้ว
สรุปได้ว่าสังคมไทยกำลังประสบกับจำนวนประชากรลดน้อยลง แต่สัดส่วนของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่สมดุล และมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง โดยวิธีการแก้ไขมี 2 แนวทางคู่ขนานกันคือ
1.การเพิ่มพลเมือง และ
2.การเติมพลเมือง
ในวิธีการแรกก็คือ การส่งเสริมให้คนหนุ่มคนสาวมีครอบครัวและมีบุตร โดยฝ่ายรัฐมีการจูงใจต่างๆ เช่น ให้คู่สมรสชายสามารถหยุดงาน แต่ได้รับเงินเดือนด้วย เพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด และในขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องให้ความช่วยเหลือทั้งในเรื่องค่าเลี้ยงดู ค่าเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็น และการประกันการเข้ารับการศึกษาฟรี ตั้งแต่สถานที่รับเลี้ยงเด็กก่อนเข้าศึกษาระดับอนุบาล จนไปถึงการเรียนในระดับอาชีวะและระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการจัดหาสถานที่รับเลี้ยงเด็ก ณ ที่ทำงาน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการให้ความมั่นใจต่อแต่ละครอบครัวว่า จะสามารถเลี้ยงดูบุตรได้อย่างมีคุณภาพ เพราะมีภาครัฐช่วยประคับประคองให้ และการเพิ่มจำนวนการกำเนิดนี้ถือเป็นมาตรการระยะปานกลางและ
ระยะยาว ส่วนมาตรการเร่งด่วนก็จะกล่าวต่อไปในส่วนของวิธีการที่ 2
วิธีการที่ 2 คือ การเปิดรับแรงงานต่างด้าวทั้งในระดับมืออาชีพ และระดับบริการรับจ้างพร้อมด้วยครอบครัว ซึ่งประเทศไทยก็ได้ดำเนินการมาในระดับหนึ่งแล้ว และก็มีข้อตกลงที่เรียกว่าบันทึกช่วยจำ ว่าด้วยการจัดส่งและรับแรงงานกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งก็มีข้อจำกัดต่างๆ ที่อยู่ในวิสัยที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ ทั้งนี้ภาครัฐก็ต้องประกาศให้แน่ชัดและเสริมสร้างความเข้าอกเข้าใจต่อสาธารณชนว่า ประเทศไทยขาดแรงงานและจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานประเภทต่างๆ จากต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องแห่งความจำเป็น มิใช่เป็นเรื่องของการเข้ามาแย่งงานทำ อีกทั้งแรงงานต่างชาตินี้ก็จัดได้ว่า ได้เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศและเป็นผู้เสียภาษีอีกด้วย
ในยุคสมัยนี้เต็มไปด้วยความคืบหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ ฉะนั้นก็ไม่เป็นเรื่องที่ยากหรือสลับซับซ้อนที่ฝ่ายไทยจะรวบรวมสถิติข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการแรงงานต่างชาติในสาขาอาชีพ หรือในแขนงงานต่างๆ และในขณะเดียวกันฝ่ายไทยก็สามารถที่จะร่วมมือประสานกับประเทศผู้จัดส่งแรงงานได้ เพื่อทราบทั้งจำนวนและความชำนาญ แล้วนำเอาสถิติของทั้ง 2 ฝ่ายมาเทียบและจับคู่กัน (Matching)
การนี้ภาครัฐก็จะต้องทบทวนกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายตรวจคนเข้าเมือง กฎหมายแรงงาน กฎหมายสวัสดิการ และอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความสะดวกและรวดเร็ว และความยืดหยุ่นในการรับ ติดตามและตรวจสอบแรงงานต่างชาติ โดยคำนึงถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ และความจำเป็นที่ภาครัฐหรือฝ่ายไทยจะต้องประกันการปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติตามกฎหมายไทย และตามหลักสากล โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งสมาคม หรือเข้าร่วมในสหภาพแรงงานต่อไป เป็นต้น
บัดนี้ก็เป็นที่น่ายินดีที่คณะกรรมาธิการต่างๆ ของสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะคณะกรรมการกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ได้เริ่มพิจารณาและ
ขับเคลื่อนการระดมความคิด เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการขับเคลื่อนผลักดันให้ฝ่ายรัฐบาลเจรจากับบรรดาประเทศผู้จัดส่งแรงงานต่างชาติต่างๆ ด้วย
หากเรากระทำได้อย่างรวดเร็ว ผลกระทบในเชิงลบของการเป็นสังคมผู้สูงอายุก็จะเบาบางลงอย่างแน่นอน และประเทศไทยก็จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี