เปิดฉากแล้วการประชุดยอดผู้นำอาเซียนในกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ที่นายกรัฐมนตรีไทยไปร่วมแสดงการอ่าน iPad /ปาฐกถาร่วมกับผู้นำอาเซียน และอาจมีทวิภาคีกับคู่เจรจา ที่นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรได้พบปะเจรจากับผู้แทนประเทศกำลังทำสงครามการค้า และมีส่วนพัวพันในความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาสที่กำลังกลายเป็นสงครามใหญ่ในตะวันออกกลางตลอดถึงความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้านพม่าที่สหรัฐอเมริกากับตะวันตกต้องการให้กลายเป็นสงครามกลางเมือง
จริงอยู่การประชุมอาเซียนเป็นเวทีแสวงหาความร่วมมือทางวัฒนธรรม ความมั่นคง เศรษฐกิจการค้าในสิบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันประกอบด้วย บรูไน พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และเมื่อความร่วมมือรอบด้านได้ขยายวงออกไปนอกประเทศอาเซียน จึงเป็นการประชุม อาเซียน+3 คือ ความร่วมมือของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน กับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่อีก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ เพื่อความร่วมมือหลักๆ 5 ด้าน คือ การเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและการเงิน พลังงานสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก รวมทั้งสังคมและวัฒนธรรม
ต่อมา การประชุมได้ขยายวงออกเป็นอาเซียน+6 (FTA ASEAN+6) คือ การรวมตัวกันของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และอีก 6 ประเทศนอกอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ อินเดีย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มในการลงทุน การทำการค้า และศักยภาพการแข่งขัน พร้อมกับปูทางเพื่อเตรียมทำข้อตกลงการเปิดการค้าเสรี
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการประชุมอาเซียนมีความซับซ้อน ที่มีเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง วัฒนธรรมหลากหลายรวมในเวทีเดียว และมันซับซ้อนมากกว่านั้น เมื่อการประชุมอาเซียน+9 คืออาเซียน 10 ประเทศประชุมพบปะกับ 9 ประเทศคู่เจรจา ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
อย่างไรก็ตาม การประชุมทั้งหมดที่กล่าวมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทุกประเทศ ที่ความรู้ ความสามารถมีประสบการณ์ด้านต่างๆได้ประชุมปรึกษาเจรจาต่อรองกัน จนได้ข้อสรุปก่อนหน้าวันประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน คือ ได้ข้อสรุปก่อนวันที่ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ขึ้นปาฐกถา (อ่าน iPad) ใน Plenary Session หรือในที่ประชุมร่วมกัน ในช่วงเวลานี้ นายกรัฐมนตรีสามารถอ่าน iPad โดยไม่เงยหน้าขึ้นมาสบตาใครเลยก็ได้ เพราะนโยบาย หรือทิศทางของไทยได้ระบุไว้ในคำปาฐกถา ดังนั้นจึงมั่นใจว่าการอ่าน iPad ของนายกรัฐมนตรีไทยผ่านขั้นตอนไปได้ตามที่หัวหงอกหัวดำทั้งหลายกล่าวว่า ใครๆ ก็ทำกัน
แต่ขั้นตอนต่อไปที่ชาวโลกไม่ทำกันเรื่องอ่าน iPad คือ ช่วงเวลาที่ผู้นำอาเซียนพบปะหารือกันภายในหลังจากกล่าวคำปาฐกถา/อ่าน iPad ในที่ประชุมใหญ่ ช่วงเวลาที่ฝรั่ง เรียกว่า Retreat ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้นำอาเซียนปล่อยของกัน คือจะพูดจะถามอะไรกันก็ปล่อยของออกมาโดยไม่มีสคริปต์ล่วงหน้า ซึ่งเป็นเวลาที่พูดหรือไม่พูดอะไรออกมามีผลบ่งชี้ว่า นโยบายต่างประเทศของไทยไปทิศทางไหน และที่สำคัญมหาอำนาจคู่ปรับตลอดกาลจีนกับสหรัฐฯมักมีบทบาทในการชี้นำกำหนดทิศทางระหว่างอาเซียนซัมมิต ถ้าให้เดาเราเชื่อว่า ผู้นำอาเซียนมีท่าทีทิศทางหลากหลายในประเด็นความขัดแย้งทะเลจีนใต้ เรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอลกับฮามาสและหลายชาติในโลกอาหรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งอิสราเอล-อิหร่านที่กำลังบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่ในตะวันออกกลาง
ในความขัดแย้งทะเลจีนใต้ เชื่อว่าฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม เอนเอียงไปทางสหรัฐ ส่วน สปป.ลาว กัมพูชา พม่า มีท่าทีสนับสนุนจีนเต็มที่ในประเด็นนี้ส่วนประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลใน iPad ส่วนประเด็นวิกฤตการเมืองพม่า ผู้นำอาเซียนก็มีท่าทีต่างกันกล่าวคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มีท่าทีทิศทางเดียวกับสหรัฐอเมริกา คือ กดดันต่อต้านขัดขวางรัฐบาลพลเอกมินอ่อง หล่าย ในเวลาเดียวกันก็สนับสนุนฝ่ายต่อต้านและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของพรรคเอ็นดี ฝ่าย อองซาน ซู จี ตามความต้องการของอเมริกา
ถึงกับมีรายงานว่า อินโดนีเซียประชุมกับผู้แทนรัฐบาลเงา หรือ เอ็นยูจีผู้แทนจากกองกำลังกลุ่มชาติต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า หนึ่งอาทิตย์ก่อนอาเซียนซัมมิต โดยมีรายงานว่า ที่ประชุมมีมติขัดขวางความพยายามเตรียมการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารพม่า ด้าน สมาชิกอาเซียนในสุวรรณภูมิ คือ กัมพูชา พม่า ลาว และไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับทุกกลุ่มทุกฝ่ายในวิกฤตการเมืองพม่า เห็นด้วยกับจีนที่ต้องการให้พม่ายุติการสู้รบแล้วหันมาร่วมมือกับรัฐบาลทหาร จัดให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า
นอกจาก iPad ช่วยนายกรัฐมนตรีไทยในระหว่างที่พบผู้นำอาเซียนด้วยกันไม่ได้แล้ว ปัญหาใหญ่ที่สุดนายกรัฐมนตรี แพทองธาร คือ ช่วงเวลา
ทวิภาคี หรือ Bilateral Dialogue กับคู่เจรจาที่นายกรัฐมนตรีไทย ไม่สามารถอ่าน iPad ได้ เหมือนตอนที่เจรจากับ ประธานาธิบดีอิหร่าน เพราะการพูดกับคู่เจรจา ต้องระบุ ท่าที ทิศทาง แนวทางและนโยบายต่างประเทศของไทยในประเด็นต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซีย-ยูเคน สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่บานปลาย กลายเป็นสงครามใหญ่ในตะวันออกกลาง ซึ่งจีน รัสเซีย ปากีสถาน ยืนยันช่วยอิหร่านเต็มที่ส่วนอเมริกาแฝดผู้พี่ของอิสราเอล ก็ชักชวนอังกฤษมาร่วมทำสงครามกับอิหร่าน ซึ่งเป็นศัตรูยาวนานของอิสราเอล และอเมริกา ส่วนท่าทีของไทย ในประเด็นร้อนเหล่านี้คิดว่าเกินความสามารถ ฯพณฯอ่าน iPad จะกำหนดให้ไทยอยู่ตรงจุดไหนได้
ในประเด็นวิกฤตการเมืองพม่ากับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เชื่อว่ากระทรวงการต่างประเทศกับที่ปรึกษาห้าเซียนพอใส่ข้อมูลลงไปใน iPad ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจว่า ฯพณฯอ่าน iPad เข้าใจลึกซึ้งหรือไม่ ว่ากำลังอ่านเรื่องอะไร เพราะภาษาทางการทูต ภาษาทางเศรษฐศาสตร์มันล้ำลึกเกินสติปัญญา ฯพณฯอ่าน iPad จะเข้าใจความหมายได้ลึกซึ้งไม่แน่ท่านอาจสับสนเหมือนคราวที่เข้าใจว่า ค่าเงินบาทแข็ง เป็นคุณต่อการส่งออกสินค้าซึ่งไม่ต่าง ฯพณฯกับอา ที่อ่านโพยว่า Thanks You Tree times
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี