อาเซียนซัมมิต เป็นเวทีแสวงหาความร่วมมือทางวัฒนธรรม ความมั่นคง เศรษฐกิจการค้าในสิบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันประกอบด้วย บรูไน พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนามและเมื่อความร่วมมือรอบด้านได้ขยายวงออกไปนอกประเทศอาเซียน เช่น การประชุมอาเซียน +9 คือ อาเซียน 10 ประเทศ ประชุมพบปะกับ 9 ประเทศคู่เจรจา ที่มีส่วนพัวพันทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เพื่อความร่วมมือทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและการเงิน พลังงาน สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก รวมทั้งสังคมและวัฒนธรรม
ดังนั้นการประชุมอาเซียนในสองทศวรรษที่ผ่านมา จึงถูกครอบงำโดยสองมหาอำนาจคู่ปรับตลอดกาล คือสหรัฐกับจีน ที่มักใช้วาระอาเซียนซัมมิต เป็นเวทีเผชิญหน้า ในความขัดแย้งทางการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งในภูมิภาค อาทิ ปัญหาทะเลจีนใต้ ตลอดถึงความเห็นต่างเรื่องวิกฤตทางการเมืองในพม่า ที่ปักกิ่งกับวอชิงตันขัดแย้งกัน ทำให้อาเซียนซัมมิต ไม่สามารถออกแถลงการณ์มติที่ประชุมมาแล้วหลายครั้ง
อาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 45 ในนครเวียงจันทน์ สุดสัปดาห์นี้มีทีท่าว่าจะไม่สามารถออกแถลงการณ์ได้เหมือนคราวที่ซัมมิตที่ประเทศอินโดนีเซีย และกัมพูชา เป็นประธาน เนื่องจากท่าทีอหังการ์ของอเมริกาที่ประกาศล่วงหน้าว่าจะขัดขวางจีนในความพยายามยุติความรุนแรงในพม่าและจีนสนับสนุนให้พม่าจัดเลือกตั้งในปีหน้า
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายหวัง อีรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ได้พบกับ พลเอกมินอ่อง หล่าย ที่จีนวางบัญญัติ 3 ประการไว้ 1.ระงับความรุนแรงไม่ให้บานปลาย และจัดให้มีเลือกตั้งตามแนวทางพม่า 2.พม่าต้องไม่เบี่ยงเบนออกนอกแนวทางอาเซียน 3.ห้ามแทรกแซงกิจการภายในพม่าโดยพลการ #ข้อสามจีนหมายถึงสหรัฐอเมริกา เพราะจีนถือว่า วิกฤตการเมืองในพม่า และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เป็นเรื่องภายในภูมิภาคนี้ที่ตะวันตกและอเมริกา ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง
จากอิทธิพลบารมีของปักกิ่งที่มีทั้งพระเดชพระคุณต่อทุกกลุ่มทุกฝ่ายในพม่า ทำให้การสู้รบใกล้ชายแดนจีนทุเลาเบาบางลงได้ ต่อมา รัฐบาลทหารพม่าออกแถลงการณ์เชิญฝ่ายต่อต้านมาร่วมหารือเตรียมการเลือกตั้งโดยการวางอาวุธยุติการก่อการร้ายทำลายชาติ ทันทีที่รัฐบาลทหารพม่าออกแถลงการณ์เชิญทุกฝ่ายเข้าร่วมกระบวนการเลือกตั้งอเมริกาและสมุนบริวารในภูมิภาคนี้โวยวายขัดขวางไม่ให้พม่า ทำสำมะโนประชากรเพื่อเลือกตั้ง ดังที่วอชิงตันแสดงท่าทีล่วงหน้า ว่าจะทำอะไรในอาเซียนซัมมิต
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า แอนโทนีบลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ จะเป็นตัวแทนสหรัฐอเมริการ่วมซัมมิต ในประเทศลาว โดยคาดว่า จะถกกันเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนในพม่า พฤติกรรมขาดความรับผิดชอบ(ของจีน)ในทะเลจีนใต้ และประเด็นสงครามยูเครน แดเนียลคริเตนบริงค์ นักการทูตระดับสูงในกิจการเอเชียตะวันออกกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริสวุ่นอยู่กับการหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จึงไม่อาจปลีกเวลามาร่วมซัมมิตได้ แต่วอชิงตันยังมุ่งมั่นในความร่วมมือกับอาเซียนครอบคลุมทุกด้าน
คริเตนบริงค์ กล่าวว่า เขาไม่มีรายละเอียดว่า นายบลิงเคนจะทวิภาคีกับใคร รวมทั้งจีนในเวียงจันทน์หรือไม่ แต่ประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับจีนจะยกขึ้นมาพูดกัน รวมทั้งความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น และการขาดความรับผิดชอบโดยการข่มขู่และกดดันหลายเหตุการณ์ในทะเลจีนใต้ ที่อ้างความเป็นเจ้าของจากบางฝ่าย นายคริเตนบริงค์หมายถึงการปะทะและเผชิญหน้ากัน ระหว่างยามชายฝั่งของจีนกับกองทัพเรือและประมงฟิลิปปินส์ และความตึงเครียด ระหว่างจีนกับเวียดนาม ซึ่งทั้งสามประเทศ กล่าวหากันไปมาว่า อีกฝ่ายยั่วยุและล้ำน่านน้ำของอีกฝ่าย
ปัญหาทะเลจีนใต้ขัดแย้งยืดเยื้อมาหลายทศวรรษเมื่อประเทศในอาเซียน อาทิ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนามขัดแย้งกับจีนเรื่องอธิปไตยเหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้ อาเซียนใช้เวลากว่าสามสิบปีไม่สามารถหาข้อสรุปได้เพราะสหรัฐซึ่งอยู่ไกลออกไปอ้างว่า ทะเลจีนใต้เป็นน่านน้ำสากลที่ทุกชาติต้องเดินเรือได้เสรี ส่วนประเทศคู่ขัดแย้งก็ยืนยันว่า ตรงนี้ตรงนั้นเป็นเขตเศรษฐกิจของตนและห้ามอีกฝ่ายล่วงล้ำโดยพลการ เมื่อยี่สิบปีที่แล้วอาเซียนมีฉันทามติให้มี Code Of Conducts หรือ หลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ เป็นทางออกแก้ปัญหาแต่ Code Of Conducts เมื่อผ่านวาระรับหลักการก็หยุดแค่นั้นไม่สามารถสร้างภาคขยายได้ว่า ปฏิบัติอย่างไร? เปรียบเหมือนสร้างบ้านที่ขุดหลุมปักเสาโด่ไว้ ไม่มีฝา ไม่มีหลังคาไม่มีประตูหน้าต่าง อเมริกาจึงเห็นช่องว่างหาทางล้มเสาทิ้ง
คริเตนบริงค์กล่าวด้วยว่า ประเด็นจีนสนับสนุนรัสเซียในสงครามยูเครน “เรากังวลมากที่จีนสนับสนุนรัสเซียอย่างแข็งขันปกป้องฐานอุตสาหกรรมพวกเขา ทุกวันนี้จีนยังทำอยู่ ทำต่อไป และ พูดได้ว่ามันเพิ่มมากขึ้นทุกวัน”คริเตนบริงค์ กล่าวว่า “วอชิงตันมีความกังวลมาก ที่รัฐบาลทหารพม่าเตรียมให้มีการเลือกตั้ง เรามองว่าเลือกตั้งไม่ควรมีขึ้นจนกว่าจะมีความสงบและปรองดองแห่งชาติอย่างแท้จริงในประเทศพม่า” เขากล่าวว่า ความพยายามกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าลดความรุนแรง ปล่อยนักโทษการเมือง และมีส่วนร่วมกระบวนประชาธิปไตยกับฝ่ายตรงข้ามไม่มีความคืบหน้าใดๆ
นายคริเตนบริงค์ บอกผู้สื่อข่าวว่าผู้แทนสหรัฐที่เวียงจันทน์ซัมมิต รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน จะเน้นย้ำกับหุ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียนว่า “เรากดดันรัฐบาลทหารมากขึ้น ทำให้เขาเห็นว่าการเลือกตั้ง ทั้งที่ยังไม่พร้อม การเลือกตั้งไม่ครอบคลุมทุกฝ่ายรังแต่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นและวิกฤตในพม่าจะยืดเยื้อออกไป”
ท่าทีของวอชิงตัน ที่ส่งสารผ่านคริเตนบริงค์ ชัดเจนว่าวอชิงตันต้องการให้ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้และวิกฤตการเมืองในพม่า บานปลายและยืดเยื้อออกไป นอกจากนั้นอเมริกันยังพยายามถ่างรอยแยกในอาเซียนให้ห่างออกไปจนไม่สามารถออกแถลงการณ์เวียงจันทน์ซัมมิตได้ เหมือนกับไม่สามารถออกแถลงการณ์อาเซียนซัมมิตในกัมพูชาและอินโดนีเซียซัมมิต
ถึงเวลาต้องยอมรับความจริงว่า อิทธิพลที่ครอบงำทิศทางนโยบายของมหาอำนาจตะวันออกกับตะวันตกทำให้สมาชิกประชาคมอาเซียนมีความเห็นแตกต่างกันหลากหลาย อาเซียนกลุ่มสุวรรณภูมิ อาทิ กัมพูชา ลาว พม่า และประเทศไทย ซึ่งมีชายแดนติดกับพม่า และ มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมร่วมกันมายาวนาน แน่นอนต้องเห็นด้วยกับจีนในนโยบายพม่าและทะเลจีนใต้ ส่วนประเทศอาเซียนที่ไกลออกไปไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ซึ่งมีความขัดแย้งกับจีนประเด็นทะเลจีนใต้ ก็ต้องเข้าข้างวอชิงตันที่เกื้อหนุนกันมานาน
เพราะความสัมพันธ์ผลประโยชน์ต่างกันจึงไม่มีวันที่อาเซียนจะเป็นเอกภาพได้ตราบใดที่มีจีนกับอเมริกาครอบงำทิศทางและนโยบาย
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี