พรรคเพื่อไทย มีเหง้าเดิมคือ พรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบพรรคไปด้วยเหตุ “ทุจริตการเลือกตั้ง” จ้างพรรคเล็กลงแข่งขัน ต่อมาจึงเกิดพรรคพลังประชาชน แล้วก็ถูกยุบอีกเพราะ “ทุจริตการเลือกตั้ง” เหมือนเดิม หรือจะเรียกว่า “สันดานเดิม” ดีล่ะ
จากนั้นจึงเกิดเป็น “พรรคเพื่อไทย” ที่ขณะนี้ ถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรม “ใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งเป็น “กระดุมเม็ดแรก” สู่การยื่น“ยุบพรรค”
โดยเมื่อวันที่ 10 ต.ค .2567 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ได้สรุปสาระสำคัญของคำร้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า
ก่อนยื่นคำร้องนี้ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ซึ่งครบกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดในวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดได้ดำเนินการส่งคำร้องขอของผู้ร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญตามที่ร้องขอ ผู้ร้องจึงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสาม ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องฉบับนี้ เพื่อขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49
ผู้ร้องมีหลักฐาน ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏตามคำร้อง 65 หน้า โดยมีพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องทั้งสองแบ่งได้เป็น 6 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1. ผู้ถูกร้องที่ 1 (ทักษิณ) ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี โดยพบว่า ทักษิณ-ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 (พรรคเพื่อไทย) เป็นเครื่องมือควบคุม การบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ทักษิณ ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ การกระทำของทักษิณ เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
กรณีที่ 2. ทักษิณ มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ พรรคเพื่อไทย เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
กรณีที่ 3. ทักษิณสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทักษิณมีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการให้พรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อทักษิณและพวก
กรณีที่ 4. ทักษิณมีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครองผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการแทน พรรคเพื่อไทย ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐาทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของทักษิณ (บ้านจันทร์ส่องหล้า)
กรณีที่ 5. ทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครองผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทย ยินยอมกระทำการตามที่ ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ
กรณีที่ 6. ทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครองผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของทักษิณ ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567
ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยว่า ทั้ง 6 กรณีผู้ถูกร้องทั้งสองได้มีการกระทำอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมืองหรือดำรงความเป็นกลางทางการเมืองย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง และผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง การกระทำดังกล่าวทั้งสองประการ เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศและสถาบันพรรคการเมืองที่มีความสำคัญต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลมมิให้ไฟกองเล็กกระพือโหมไหม้ลุกลามขยายใหญ่จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ในวาระต่อไป
จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ดังนี้
1.ให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
วิเคราะห์ :
โดยส่วนตัวเห็นว่า คำร้องว่า ทั้งทักษิณและพรรคเพื่อไทยมีการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49เป็นคำร้องที่เลื่อนลอยไปจากข้อกล่าวหา พ้นจากกรณีที่ 1 แล้ว ไม่เหลือกรณีใดอีกเลยที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือเข้าข่าย “ล้มล้างการปกครอง”
ทั้งยังมีภาระต้องเอาพยานหลักฐานมายืนยันว่า “ทักษิณ” สั่งการ “พรรคเพื่อไทย” อย่างนั้นอย่างนี้ เว้นเสียแต่บางข้อที่ใช้คำว่า “มีพฤติการณ์” ที่ภาระในการพิสูจน์เบากว่า
หลังจากสื่อรายงานข่าวนี้แล้ว ปฏิกิริยาจากบุคคลต่างๆ พบว่า...
1) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่นายธีรยุทธยื่น คิดว่าพรรคเพื่อไทยสามารถตอบได้ทุกประเด็น ไม่มีปัญหา
เมื่อถามว่า มั่นใจจะไม่มีปัญหาเหมือนที่พรรคก้าวไกลที่ถูกยุบใช่หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า มั่นใจไม่มีปัญหา เพราะคนละกรณีกัน เมื่อถามว่า 6 ประเด็นที่นายธีรยุทธยื่น นักกฎหมายมองว่าเหมือนกับที่เคยยื่นยุบพรรคก้าวไกลเลย นายสุริยะ กล่าวว่า “ผมได้อ่านคร่าวๆ แล้ว คิดว่าสิ่งที่ยื่นมานั้นเลอะเทอะมาก”
ถามว่า พรรคเพื่อไทยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อแก้ต่างคดีนี้หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า ไม่มี เมื่อถามอีกว่า ในทางการเมืองมองว่าเรื่องนี้มีนัยอะไรหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า “ผมคิดว่าเรื่องที่ยื่นเป็นเรื่องเก่า และพยายามทำให้เป็นประเด็นการเมือง โดยคาดหวังว่าเมื่อเปิดออกมาแล้วคนจะตกใจ แต่ทุกคนคงทราบดีว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเก่า และการที่บอกว่านายทักษิณเข้ามาก้าวก่ายนั้น ความจริงนายทักษิณไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวเลย บางเรื่องก็เกิดมาเป็นสิบปีแล้ว ยังหยิบขึ้นมา ดังนั้น จึงไม่กังวล”
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวรัฐบาลไทยเตรียมฟื้นการเจรจา MOU 2544 เพื่อแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา บริเวณเกาะกูด นายสุริยะ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทางกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการต่างประเทศ จะต้องไปพิจารณา ทั้งนี้ มองว่า บริบทในอดีตกับปัจจุบันต่างกันเยอะ ซึ่งในอดีตที่ตนเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี 2545 มีเรื่องการขุดเจาะแก๊สต่างๆ ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันสูง และหากมีการเจรจาและแบ่งผลประโยชน์สองฝ่ายทั้งกัมพูชาและไทย ก็จะทำให้ต้นทุนพลังงานถูกลง
2) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ว่าดูจากคำร้อง 6 ข้อที่ร้องมา ตนมองว่า ไกลกว่าเหตุ ที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีสองคำซ้อนกันอยู่ คือ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย และบวกด้วยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในคำร้องมีความพยายามบรรยายให้เข้าเกณฑ์กับคำวินิจฉัยของพรรคก้าวไกล ว่า เป็นการกัดเซาะบ่อนทำลาย ซึ่งมันไกลกว่าเหตุมาก พร้อมกับมองว่ามันเป็นคนละเรื่องคนละเรื่องกัน
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยกตัวอย่างการที่นายทักษิณ พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ บอกว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ซึ่งเป็นการบรรยายเกินไป พร้อมกับย้ำว่าเรื่องของสถาบัน ทั้งนายทักษิณ พรรคเพื่อไทยเราคิดว่าเรายืนยันมาตลอด โดยเฉพาะนายทักษิณที่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 นายทักษิณ อยู่ต่างประเทศ ก็ได้แนะนำมาผ่านคณะทำงานว่าหากจะแก้หมวด 1 หมวด 2 ห้ามแตะ ตรงนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด และเมื่อถึงรัฐบาลนี้และรัฐบาลที่แล้ว ก็มีความชัดเจนว่าไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 จึงชัดเจนว่าเรายึดมั่นอยู่ในจุดใด และพรรคเพื่อไทย ไม่มีเรื่องจะไปเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ระบอบประชาธิปไตย
ส่วนคำร้องที่มีการเขียนว่าร่วมมือกับฝ่ายค้านในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น อยากจะตั้งคำถามว่าในการร่วมมือกันในการทำกฎหมายผิดอะไร อย่างการแก้จริยธรรมให้มีความชัดเจนขึ้น ไม่ใช่การยกเลิก แต่เป็นการตีความให้ความชัดเจนขึ้น และเป็นผลดีกับประชาธิปไตย และเห็นว่าเป็นการเอื้อให้กับนายทักษิณตรงไหน
3) นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ระบุว่า เพื่อไทยแสดงอาการปรามาสกลบเกลื่อนดูแคลนคำร้องให้ศาล รธน.ไต่สวนทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย มีพฤติการณ์ล้มการปกครอง หากเชื่อมสถานการณ์ไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนกรณีชั้น 14 แล้ว แม้สาระสำนวนเน้นตัวผู้กระทำการแตกต่างกัน แต่ผลลัพธ์เป้าหมายกลับพุ่งชนไปที่ทักษิณและพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน ดังนั้น คำร้องจึงไม่ธรรมดา
“การสอบสวนกรณีชั้น 14 ของ ป.ป.ช.นั้น ได้ออกหนังสือถึง รพ.ตำรวจ 2 ครั้ง เพื่อขอเวชทะเบียนหรือบันทึกประวัติทางการแพทย์ของทักษิณ ผู้ป่วยและบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด แต่ยังไม่ได้รับ หากต้องออกหนังสือขอเวชทะเบียนเป็นครั้งที่สามแล้ว เมื่อยังไม่มีคำตอบอีกจะกลายเป็นปัญหาใหญ่”
นายจตุพร กล่าวว่า กรณีชั้น 14 รพ.ตำรวจ เป็นผลจากยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย และรัฐบาลได้ถวายความเห็นประกอบพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่านักโทษทักษิณเคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับได้ทำความผิดจริงและสำนึกการกระทำแล้ว แต่กลับไม่ติดคุกสักวันเดียว ย่อมเป็นพฤติกรรมส่งผลกระทบต่อพระบรมราชโองการ
สิ่งสำคัญ การสอบสวนของ ป.ป.ช. ได้เน้นการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ รพ.ตำรวจและราชทัณฑ์ หากพบความผิดจริงจะถูกส่งฟ้องไปที่ศาลอาญาคดีทุจริต ส่วนนักการเมืองจะยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรืออีกอย่างอาจออกคำสั่งให้กรมราชทัณฑ์นำตัวทักษิณกลับไปขังคุกก็ได้ ดังนั้น สถานการณ์ยื่นคำร้องจึงมากด้วยวิบากกรรมให้ทักษิณและเพื่อไทยต้องหวาดผวาและต่อสู้ก้าวข้าม
ส่วนทนาย ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาล รธน.ให้วินิจฉัยทักษิณและพรรคเพื่อไทย มีพฤติการณ์เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองหรือไม่นั้น นายจตุพร เชื่อว่า ในเบื้องต้น ศาล รธน.จะรับคำร้องไว้ไต่สวน
“คำร้องของนายธีรยุทธ เป็นคนละกรณีกับการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ที่เน้นการกระทำผิดของกรมราชทัณฑ์ รพ.ตำรวจที่มีผลถึงทักษิณ ส่วนคำร้องยื่นต่อศาล รธน.เป็นกรณีพฤติกรรมของทักษิณและพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเรื่องดังกล่าวนี้ ล้วนโยงเอกสารผลสอบสวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มาเป็นหลักฐานสำคัญเหมือนกัน ดังนั้น ย่อมไม่ซ้ำซ้อนกัน”
“คุณอุ๊งอิ๊งค์ (แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ) ถึงที่สุดต้องตัดสินใจว่า จะเข้าลานประหาร หรือออกก่อนเข้าลานประหาร หมายถึงจะรอคำวินิจฉัยหรือไม่ โดยแต่ละเรื่องไม่ใช่จะรอดกันได้ง่ายๆ เพราะสำนวนการเขียนของนายธีรยุทธ เน้นอยู่ที่ข้อแรก และกรณีชั้น 14 ยังมีพยาน แสดงถึงมีของในมือแล้ว รวมทั้งพยานในบ้านจันทร์ส่องหล้าด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของการครอบงำ ถ้ามีคลิปเสียงสามารถเปิดในชั้นศาลได้ ดังนั้น จึงเป็นลีลาที่ไม่ธรรมดา และไม่ใช่ดาบเดียวแต่มีหลายดาบที่รอประหารกันอยู่” นายจตุพร กล่าว
สรุป : โดยส่วนตัว ผมคิดว่าคำร้องไม่ค่อยมีน้ำหนักเมื่อเทียบกับข้อกล่าวหา และมีภาระซับซ้อนในการพิสูจน์แต่ในทางการเมืองและพื้นที่ข่าว หรือการเป็นเชื่อให้ “ขุด”พฤติกรรมทักษิณกับพรรคเพื่อไทยมาแฉ มาแหก มาวิเคราะห์ คงเป็นไปด้วยความเข้มข้น
คงทำให้พรรคเพื่อไทยล่มสลายในทางกฎหมายตามคำร้องไม่ได้ แต่กัดกร่อนบ่อนเซาะความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทยได้ ไม่มากก็น้อย!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี