เมื่อวานนี้ วันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม 2567
ประชาชนจำนวนมากเดินทางไปที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อถวายความเคารพพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ วางพวงมาลา น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวง ร.9 ได้พระราชทานแก่ปวงราษฎรไทยทั้งหลายตลอดรัชสมัย
ผมลองนึกมองไปข้างหน้า เอาแค่ 100 ปีข้างหน้า ถ้าเราไม่มีบันทึกหลักฐานไว้ หากไปเล่าให้ลูกหลานฟังบางคนอาจจะไม่เชื่อว่า เราเคยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงรัก เมตตา และทรงงานเพื่อประชาชนมากมายเช่นนี้อยู่จริงๆ
1. โครงการช่วยเหลือประชาชน บนแผ่นดิน ร.9
ช่วงต้น พระราชกรณียกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชนจะเป็นงานด้านการแพทย์และงานสังคมสงเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ เพราะยุคนั้น กิจการด้านการแพทย์ในบ้านเรายังไม่เจริญก้าวหน้าแบบที่เห็นสมัยนี้
พระราชกรณียกิจช่วงแรกเริ่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493-2505 จะเป็นการพระราชทานความช่วยเหลือบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า ยังไม่มีลักษณะเป็นโครงการเต็มรูปแบบอย่างปัจจุบัน
โครงการพระราชดำริที่นับว่าเป็นโครงการพัฒนาชนบทโครงการแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2495 โดยในหลวง ร.9 พระราชทานรถบลูโดเซอร์ ให้หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวรไปสร้างถนนเข้าไปยังบ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ (ซึ่งปัจจุบันคือ ตำบลทับใต้) อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ราษฎรสามารถสัญจรไปมาและนำผลผลิตออกมาจำหน่ายยังชุมชนภายนอกได้สะดวกขึ้น
จากนั้นในปี พ.ศ. 2496 ได้พระราชทานพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อบรรเทาความแห้งแล้ง เดือดร้อนของราษฎรและสร้างเสร็จใช้ประโยชน์ได้ในปี พ.ศ.2506 นับเป็นโครงการพระราชดำริทางด้านชลประทานแห่งแรกของพระองค์
2. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ ร.9ที่มีอยู่มากมาย มีทุกภูมิภาค
อาจจำแนกได้ ดังนี้
1) โครงการตามพระราชประสงค์
เป็นโครงการซึ่งทรงศึกษาทดลองปฏิบัติเป็นส่วนพระองค์ ทรงศึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญในวงงาน ทรงแสวงหาวิธีการทดลองปฏิบัติ ทรงพัฒนา และส่งเสริมแก้ไขดัดแปลงวิธีการเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อดูแลผลผลิตทั้งในพระราชฐานและนอกพระราชฐาน ซึ่งต้องทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินการทดลองจนกว่าจะเกิดผลดีต่อมา เมื่อทรงแน่พระทัยว่าโครงการนั้นๆ ได้ผลดี เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง จึงโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเข้ามารับงานต่อภายหลัง
2) โครงการหลวง
พระองค์ทรงดำเนินการพัฒนาและบำรุงรักษาต้นน้ำลำธารในบริเวณป่าเขาในภาคเหนือเพื่อบรรเทาอุทกภัยในที่ลุ่มล่างด้วยเหตุผลที่พื้นที่เหล่านี้เป็นเขตแดนชาวไทยภูเขาจึงทรงมีโอกาสพัฒนาชาวเขาชาวดอยให้อยู่ดีกินดี ให้เลิกการปลูกฝิ่น เลิกการตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อยลอย และเลิกการค้าไม้เถื่อน ของเถื่อน ฯลฯ ทรงพัฒนาช่วยเหลือให้ปลูกพืชหมุนเวียนที่มีคุณค่าสูง ขนส่งง่าย ปลูกข้าวไร่ และเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภค รวมคุณค่าผลผลิตแล้วให้ได้คุณค่าแทนการปลูกฝิ่น ทั้งๆ ที่งานของโครงการนี้กินเวลายาวนานกว่าจะเกิดผลได้ ต้องใช้เวลานานนับสิบปี การดำเนินงานจะยากลำบากสักเพียงใดมิได้ทรงท้อถอย การพัฒนาค่อยๆ ได้ผลดีขึ้นๆ
ชาวเขาชาวดอย จึงมีความจงรักภักดี เรียกพระองค์ว่า“พ่อหลวง” และเรียกสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่า “แม่หลวง” โครงการของทั้งสองพระองค์ จึงเรียกว่า “โครงการหลวง”
3) โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์
เป็นโครงการที่พระองค์ได้พระราชทานข้อเสนอแนะและแนวทางพระราชดำริให้เอกชนไปดำเนินการ ด้วยกำลังเงิน กำลังปัญญา และกำลังแรงงาน พร้อมทั้งการติดตามผลงานให้ต่อเนื่องโดยภาคเอกชน เช่น โครงการพจนานุกรม โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นต้น
4) โครงการตามพระราชดำริ
เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนา ทรงเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามแนวพระราชดำริ โดยพระองค์เสด็จฯ ร่วมทรงงานกับหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งมีทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร
โครงการตามพระราชดำรินี้ ในปัจจุบันเรียกว่า “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ปัจจุบันมีลักษณะที่เป็นโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาสั้นและระยะเวลายาวที่มากกว่า 5 ปี ขณะเดียวกันก็มีลักษณะที่เป็นงานด้านวิชาการ เช่น โครงการเพื่อการศึกษาค้นคว้าทดลอง หรือโครงการที่มีลักษณะเป็นงานวิจัย เป็นต้น
โครงการฯ มีมากมายหลายด้าน อาทิ โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ (เยอะที่สุด) โครงการพัฒนาด้านการเกษตร โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข โครงการพัฒนาด้านคมนาคม/สื่อสาร โครงการด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา ฯลฯ
3. สืบสาน รักษา ต่อยอด
ตัวอย่าง เช่น ถุงพระราชทาน สู่ถึงพระราชทาน สำหรับเด็ก
คนไทยคุ้นตากับ “ถุงพระราชทาน” มีมาตั้งแต่สมัย ร.9
ทรงให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ดำเนินการเพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยทั่วประเทศ โดยทุนดำเนินงานของทางมูลนิธิฯ นั้น ก็มีทั้งจากเงินที่ ร.9 พระราชทานอุดหนุน จากผู้ที่มีจิตศรัทธาบริจาค ภายใต้แนวทางพระบรมราโชบาย “… ให้ไปให้ความอบอุ่นไปช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยฉับพลัน ทำให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลือ มีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานต่อไป …”
ถุงพระราชทานที่มีข้าวของ เครื่องอุปโภค-บริโภค หนึ่งถุงมีพร้อม ของดีๆ มีประโยชน์ทั้งสิ้น
ประการสำคัญ คือ ประชาชนได้รับพระราชทานความห่วงใยจากพระเจ้าแผ่นดิน นำมาซึ่งความรู้สึกอบอุ่นใจ มีกำลังใจ ซาบซึ้งในน้ำพระราชหฤทัยอย่างที่สุด
ข้าราชการ หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ฯลฯ ต่างก็รู้สึกมีพลังที่จะลงมือช่วยกันทำงานช่วยประชาชนยิ่งขึ้นด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ยุคปัจจุบัน ในหลวงรัชกาลที่ 10ทรงรับมูลนิธิฯ ไว้ในพระราชูปถัมภ์ ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9
นอกจากยังพระราชทานถุงพระราชทานต่อไปแล้ว ในหลวง ร.10 และพระราชินี ยังพระราชทานถุงพระราชทานสำหรับเด็ก เพิ่มมาเป็นการเฉพาะด้วย
ทรงสกรีนถุงพระราชทานสำหรับเด็ก และทรงบรรจุเครื่องอุปโภค-บริโภค และสิ่งของจำเป็นต่างๆ ลงในถุงพระราชทานสำหรับเด็ก เพื่อเชิญไปพระราชทานแก่เด็กในพื้นที่ประสบอุทกภัยในภูมิภาคต่างๆ
ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด ความรักและห่วงใย ความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน
น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ตลอดไป
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี