เป็นไปตามความคาดหมายว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 ในประเทศลาว เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีความขัดแย้งกันทั้งปัญหาเก่าและปัญหาใหม่ จนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ เนื่องจากความเห็นต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีความหวังว่า ในปีหน้าเมียนมาจะมีรัฐบาลใหม่มาจากเลือกตั้ง
ตลอดเวลาสามปีที่ผ่านมาประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และ วิกฤตการเมืองในเมียนมาครอบงำการประชุมที่เต็มไปด้วยความเห็นแตกต่างกันทั้งในหมู่สมาชิกอาเซียนด้วยกัน และความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจจากภูมิภาคอื่นๆ ที่เป็นคู่เจรจาอาเซียน จนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ แต่อย่างไรก็ตามอาเซียนก็มีวิธีแก้ผ้าเอาหน้ารอด โดยการออกแถลงการณ์ประธานที่ประชุมแทน จะเห็นว่าในที่กัมพูชาและอินโดนีเซีย เป็นประธานมีเพียงแถลงการณ์ประธานที่ประชุม และล่าสุดอาเซียนซัมมิต ที่ประเทศลาว เป็นเจ้าภาพก็ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ ส่วนแถลงการณ์ของประธานในที่ประชุม ท่านสอนไซ สีพันดร นายกรัฐมนตรีลาวได้ให้ข้อคิดว่า..
“ลาวรู้สึกว่าความสำเร็จในอดีตของอาเซียนอยู่ที่เราเข้าใจซึ่งกันและกัน เราเกื้อกูลกันในวิถีและหลักการอาเซียน ท่านสอนไซ กล่าวในแถลงการณ์ นอกจากนั้น ในแถลงการณ์เรื่องทะเลจีนใต้ท่านเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ ขอให้ใช้วิธีทางการทูตแก้ปัญหา ส่วนวิกฤตการเมืองในเมียนมาก็ให้ยุติความรุนแรง และ เรียกร้องยึดมั่นในฉันทามติห้าข้อของอาเซียนในการแก้ปัญหา..
อย่างไรก็ตาม ฉันทามติห้าข้อ หรือ แผนสันติภาพของอาเซียน ไม่สามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้เนื่องจากว่าสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจบริบทสังคม และการเมืองเมียนมาที่ถือว่า กองทัพเป็นสถาบันหลักของชาติ เมียนมาไม่มีระบบราชาธิราชเหมือนบรูไน ไม่มีระบบกษัตริย์หมุนเวียนเหมือนมาเลเซียและไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจเหมือนประเทศไทย และไม่มีกษัตริย์เหมือนกัมพูชา เมียนมาไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นสถาบันหลักเหมือนเวียดนามและลาว เมียนมาจึงถือว่า กองทัพ คือ สถาบันหลักของชาติที่ปกครองประเทศมากว่าห้าทศวรรษหลังจากเมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมียนมาปิดประเทศอยู่อย่างโดดเดี่ยวนานสี่สิบห้าปี ดังนั้นบริบทสังคม การเมือง ความมั่นคงเมียนมาจึงแตกต่างจากสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์และพรรคการเมืองแนวทางคอมมิวนิสต์เป็นหลักเหมือนเวียดนามและลาว แต่เมียนมามีกองทัพเป็นหลักของชาติมากว่าครึ่งศตวรรษ ดังนั้นเพื่อนอาเซียนส่วนใหญ่ที่รับประชาธิปไตยตะวันตกมาแล้วยัดเยียดให้เมียนมาทำตามความต้องการนั้นมันเป็นไปไม่ได้
ความจริง เมียนมาพยายามปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยจัดให้การบริหารประเทศแบบประชาธิปไตยค่อนใบ หรือ ประชาธิปไตย 75% ดังที่รัฐธรรมนูญเมียนมา ซึ่งบังคับใช้ในปี 2551 ได้สงวนอำนาจไว้ให้กองทัพ 25% กล่าวคือการเลือกตั้งทั่วไปพรรคการเมืองแข่งกันชิงที่นั่งสภา 75% ส่วน 25% สงวนที่ไว้ให้กองทัพโดยไม่ต้องเลือกตั้งได้ที่นั่งในสภาตามการจัดสรรกองทัพ
การเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญเมียนมาพรรคเอ็นแอลดีของนาง ออง ซาน ซู จี บอยคอตต์ไม่ลงเลือกตั้ง“พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP)” ซึ่งเป็นพรรคโปรทหารชนะเลือกตั้งได้พลเอกเต็ง เส่ง เป็นประธานาธิบดีที่บริหารประเทศแบบฉบับเมียนมาสี่ปี โดยไม่มีปัญหา เมียนมาเริ่มเปิดประเทศรับนักลงทุนนักท่องเที่ยวมากขึ้น ปธน.เต็งเส่ง บริหารประเทศตามรัฐธรรมนูญเมียนมาให้โควตากองทัพ 25% คือ กองทัพกำกับดูแลกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดน
สิ้นวาระ ปธน.เต็ง เส่ง มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2558 พรรคเอ็นแอลดีของ ออง ซาน ซู จี ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย รัฐธรรมนูญเมียนมาห้ามไม่ให้ผู้ที่มีคู่สมรสและบุตรธิดา เป็นประธานาธิบดี แต่นางออง ซาน ซู จี ใช้วิธีเลี่ยงกฎหมายตั้งตัวเอง เป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ แต่ปฏิบัติหน้าที่เหมือน ประธานาธิบดีทุกประการ ตลอดเวลาสี่ปี ออง ซาน ซู จี นอกจากขัดใจกองทัพแล้วเธอยังชักศึกเข้าบ้านโดยการแต่งตั้งชาวต่างชาติเป็นที่ปรึกษา ทั้งด้านเศรษฐกิจการเมืองและสังคม เรียกได้ว่า สี่ปีของ ออง ซาน ซู จี มีสปายสายลับตะวันตก เข้ามาฟักตัวในเมียนมามากมายในรูปองค์การช่วยเหลือ เอ็นจีโอ ทั้งด้านสิทธิมนุษยชน การศึกษาและพัฒนาเต็มบ้านเต็มเมือง ทำให้สังคมอนุรักษ์ในเมียนมาเปลี่ยนไป คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่คลั่งเสรีประชาธิปไตย เหมือนคนรุ่นใหม่ประเทศไทยคลั่งพรรคส้มล้มเจ้า
เมื่อสังคมเมียนมาเปลี่ยนแปลงมาถึงจุดนี้ ออง ซาน ซู จี เลิกคิดเรื่องประชาธิปไตยค่อนใบที่ให้อำนาจกองทัพ 25% ดังนั้น เมื่อชนะเลือกตั้งถล่มทลายนางต้องได้อำนาจบริหารราชการ 100% เมื่อเป็นเช่นนี้แน่นอนกองทัพเมียนมาซึ่งถือเป็นสถาบันหลักของชาติ จึงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในวันที่พรรคเอ็นแอลดีเปิดประชุมสภาและเตรียมประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรี
การประกาศภาวะฉุกเฉินตามรัฐธรรมนูญที่จีนเรียกว่า การเปลี่ยนแปลงตามวิถีเมียนมา แต่สหรัฐอเมริกา ถือว่า เป็นการปฏิวัติรัฐประหาร สหรัฐ จึงสมคบกับตะวันตกจัดตั้งขบวนการต่อต้านทหารเมียนมาให้พรรคเอ็นแอลดีและคนรุ่นใหม่เมียนมาที่ถูกล้างสมองตลอดเวลาสี่ปีที่ผ่านมาให้จับอาวุธขึ้นมาทำสงครามกับรัฐบาลทหารที่ ออง ซาน ซู จี เรียกว่า ปฏิวัติประชาชนทั่วประเทศ
จึงพูดได้ว่า วิกฤตการเมืองเมียนมาอุบัติขึ้นตั้งแต่วันที่นางซู จี ประกาศปฏิวัติประชาชน และนี่เป็นจุกพลิกผันครั้งสำคัญของพรรคเอ็นแอลดีซึ่งมีคะแนนนิยมล้นหลาม แต่กลับใช้กำลังต่อสู้กับกองทัพเมียนมาเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยตามคำยุยงของอเมริกาและประเทศตะวันตกโดยไม่ยั้งคิดว่าการใช้กองกำลังปืนแก๊ปทำสงครามกับกองทัพเมียนมาที่มีแสนยานุภาพเกรียงไกรมีกำลังทหารกว่า 500,000 นาย มีอาวุธยุทโธปกรณ์ มากกว่ากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านทั้งหมดรวมกว่าหกสิบเท่าตัวจึงกล่าวได้ว่า ไม่มีวันเอาชนะกองทัพเมียนมาได้ ความวุ่นวายในเมียนมาคงยืดเยื้อต่อไป
ถึงตอนนี้อาจมีคำถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วทำไมถึงกล่าวว่า “ประเทศไทยหวังว่าเมียนมาจะมีเลือกตั้งได้ในปีหน้า” คำตอบ ก็คือ เมื่อจีนซึ่งเป็นพี่ใหญ่ประสงค์ให้เมียนมาจัดเลือกตั้ง ประเทศไทยซึ่งเป็นเพื่อนบ้านเมียนมาก็มีความประสงค์ตรงกัน ดังที่สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานจากเวียงจันทน์ ว่า น.ส.แพทองธาร นายกรัฐมนตรีไทยพูดเป็นนัยว่าประเทศไทยสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในเมียนมาโดยเรียกร้องให้ “มีพื้นที่ทางการเมืองและการเจรจามากขึ้นระหว่างทุกฝ่ายซึ่งจำเป็นในขณะที่เมียนมาเคลื่อนไปข้างหน้าเพื่อการเลือกตั้ง”
รอยเตอร์ส ให้รายละเอียดว่า “สำหรับประเด็นเมียนมา ไทยให้ความสำคัญสูงสุด ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งตั้งแต่ผู้พลัดถิ่น การอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายการหยุดชะงักทางการค้า ไปจนถึงอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติดและการหลอกลวงออนไลน์..
และได้ขอยก 4 ประเด็นสำคัญ ในเรื่องนี้ 1.ไทยจะทำงานร่วมกับมิตรประเทศในอาเซียนและภายนอกเพื่อนำความสงบสุข มั่นคงกลับมา ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศในภูมิภาคนี้ 2.ไทยจะมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการนำสันติภาพในเมียนมากลับคืนมาโดยจะเพิ่มความร่วมมือทวิภาคีกับเมียนมาและสนับสนุนกระบวนการอาเซียนต่อไป ไทยชื่นชมการทำงานของ สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน โดยเฉพาะผู้แทนพิเศษเรื่องเมียนมา (specialenvoy) ท่าน อลุนแก้ว กิตติคุณ และไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับมาเลเซีย ประธานอาเซียนในวาระต่อไป
3.อาเซียนควรเป็นหนึ่งเดียวในการส่งสารถึงทุกฝ่ายในเมียนมาว่า การใช้กำลังทางทหารไม่ใช่ทางออก เป็นเวลาที่ต้องเริ่มพูดคุยกัน ประเทศไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่กระบวนการทางการเมือง และ
4.อาเซียนควรเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระยะสั้นและเร่งการพัฒนาเมียนมาในระยะยาว โดยประเทศไทยได้บริจาคเงิน 290,000 เหรียญสหรัฐให้กับศูนย์ช่วยเหลือมนุษย์อาเซียน เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมธรรมในเมียนมา และประเทศไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือชาวเมียนมามากขึ้น” น.ส.แพทองธาร กล่าว และสรุปในตอนท้ายว่า “ไทยสนับสนุนให้มีพื้นที่ทางการเมืองและการเจรจามากขึ้นกับทุกฝ่ายซึ่งจำเป็นในขณะที่เมียนมาเคลื่อนไปข้างหน้าเพื่อให้มีการเลือกตั้ง”
มองจากภาษาทางการทูตบ่งชี้ว่าประเทศไทยสนับสนุนความพยามของจีนให้เมียนมาเลือกตั้งในปี 2568 ซึ่งเป็นท่าทีตรงกันข้ามกับอเมริกาและอาเซียนบางประเทศที่ขัดขวางเมียนมาไม่ให้มีการเลือกตั้ง จนกว่าสงครามกลางเมืองสงบและพรรคเอ็นแอลดีมีส่วนร่วมเลือกตั้ง
จึงสรุปว่าการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้ประเทศไทยวางตำแหน่งได้ถูกที่ถูกเวลาที่ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ตามมหาอำนาจที่ทำสงครามน้ำลายกันในประเด็นคาบสมุทรเกาหลี ช่องแคบไต้หวัน ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ตลอดถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และ สงครามในตะวันออกกลาง กระทรวงการต่างประเทศไทยจำกัดวงถกปัญหาเฉพาะเรื่องเมียนมาซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
ส่วนที่ประเทศไทยแสดงท่าทีเรื่องเมียนมาไปแล้ว จะมีผลในทางปฏิบัติหรือไมเมื่อไหร่ไม่สำคัญ เพราะการประชุมอาเซียนส่วนใหญ่เป็นเวทีบ้าน้ำลายที่ไม่เกิดมรรคผลใดๆ อยู่แล้ว
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี