น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกมธ.ฯ เปิดเผยว่า ได้รับการประสานและยืนยันจากคณะกมธฯและฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่า ในการประชุมสภาฯ วันพฤหัสบดีที่ 17 ต.ค. จะมีการพิจารณารายงานผลการศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯที่คณะกมธ.พิจารณาเสร็จและส่งเข้าสภาฯ
เช่นเดียวกับ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และหนึ่งในกมธ.ฯ ชุดดังกล่าวเปิดเผยเช่นกันว่า นายชูศักดิ์ ได้แจ้งในไลน์กลุ่มกมธ.ฯ ว่า การประชุมสภาฯ17 ต.ค.นี้ จะมีการพิจารณารายงานดังกล่าวแน่นอนหลังเลื่อนมา 2-3 ครั้ง เพราะตอนนี้ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีการเสนอเข้าสภาฯมาแล้วหลายร่างฯ และจ่อจะมีการพิจารณาในสภาฯ อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ก็เพราะต้องการรอให้สภาฯ พิจารณารายงานของกมธ.ฯ ชุดนี้ก่อน ซึ่งพอสภาฯ พิจารณารายงานเสร็จก็จะได้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่เสนอเข้าสภาฯ ที่พรรคการเมืองต่างๆ เช่น พรรคประชาชน เสนอฯ
นพ.เชิดชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีกรรมาธิการของสภาฯ ชุดไหน พูดคุยศึกษาเรื่องมาตรา 112 จะมีก็คือคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ที่คุยเรื่อง 112 เป็นครั้งแรก ที่มีการศึกษา มีการเขียนไว้ในรายงานของกรรมาธิการฯ ชัดเจนว่า หากจะนิรโทษกรรมคดี 112 ด้วยจะให้มีเงื่อนไขการนิรโทษกรรมอย่างไร ซึ่งเมื่อสภาฯ ได้อภิปรายกันในวันพฤหัสบดีนี้แล้ว
หากพรรคการเมืองไหน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี 112 หรือมีความเห็นว่าควรนิรโทษกรรมคดี 112 แบบไหน ก็อภิปรายกัน มันจะได้ลดความเข้าใจผิด ยืนยันว่าข้อเสนอของกมธ.ฯ ไม่ได้เสนอให้แก้ไข 112 แต่มีการอภิปรายเสนอความเห็นกันในกมธ.ฯ ว่า พวกโดนคดี 112 จะให้นิรโทษกรรมหรือไม่ และหากนิรโทษกรรมจะมีเงื่อนไขอย่างไร เช่น พวกมีพฤติกรรมอาฆาตมาดร้าย แบบนี้ ก็อาจต้องได้รับการลงโทษเบื้องต้นก่อน
“ส่วนคนที่ไม่รู้เรื่องเรื่องราวอะไร พวกอยู่ในห้องแอร์ แล้วเกิดไปแชร์ไปโพสต์อะไร หรือไปร่วมชุมนุมด้วย แบบนี้จะไปเอาผิดได้อย่างไร เพราะไม่ได้มีเจตนา ซึ่งในรายงานข้อเสนอของกมธ.ฯ จะพบว่า บางคนที่คัดค้านหัวเด็ดตีนขาดไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี 112 แต่ลึกๆ แล้ว เขาก็บอกว่าถ้าจะนิรโทษจริงๆ ก็ให้นิรโทษแบบมีเงื่อนไข การประชุมสภาฯ ครั้งนี้ สส.ก็อภิปรายแสดงความเห็นกัน แต่ว่าในระดับพรรคที่สังกัด ก็ให้แต่ละพรรคไปคุยกันเองว่า จะเอาด้วยหรือไม่ ไม่มีใครบังคับ ประชุมสภาฯ วันพฤหัสบดีนี้ พอเสร็จแล้ว พรรคการเมืองก็อาจไปคุยกันว่าเห็นอย่างไร หรือหากสส.บางกลุ่มสนใจ เขาก็เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาฯในฐานะสส.ได้”
อนึ่ง เดิมที สภาฯ มีคิวต้องพิจารณารายงานฯดังกล่าวตั้งแต่พฤหัสบดีที่ 26 ก.ย.แล้ว แต่ก็เลื่อนออกไป และเดิมทีจะเอาเข้าสภาฯ พฤหัสบดีที่ 3 ต.ค. สุดท้าย ก็เลื่อนไปอีก และล่าสุดพฤหัสบดีที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีการพิจารณาอีกเช่นกัน หลังมีข่าวว่า วิปรัฐบาล ขอให้สภาฯ ชะลอการพิจารณารายงานของกมธ.ฯ ไว้ก่อนเพราะยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในพรรคร่วมรัฐบาล หลังก่อนหน้านี้ พรรคร่วมรัฐบาลเช่น รวมไทยสร้างชาติ-ประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกมธ.ฯ เช่นเรื่องการนิรโทษกรรมคดี 112 ที่แม้จะไม่มีข้อเสนอดังกล่าวในรายงานของกมธ.ฯ แต่มีการให้กรรมาธิการฯ ทำบันทึกความเห็นไว้ในรายงานฯ ที่พบว่า เมื่อรวมเสียงแล้ว ความเห็นของกมธ.ฯ ที่ให้นิรโทษกรรมคดี 112 แบบมีเงื่อนไข กับที่เห็นว่าให้นิรโทษกรรมคดี 112 แบบไม่มีเงื่อนไข มีจำนวนที่มากกว่า กมธ.ฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี 112 ไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น จนสส.พรรคร่วมรัฐบาลเช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขอให้กรรมาธิการฯนำรายงานดังกล่าวกลับไปทบทวน และขอให้ถอนรายงานออกจากระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ไปก่อน จนทำให้ วิปรัฐบาลเลื่อนการพิจารณารายงานดังกล่าวมาร่วมสามสัปดาห์
แต่ต่อมา มีรายงานว่า มีกมธ.ฯ บางส่วนได้ไปพูดคุยกับตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลว่า ในรายงานไม่มีการเสนอให้นิรโทษกรรมคดี 112 แต่อย่างใด และความเห็นของกมธ.ฯในเรื่องการนิรโทษกรรมคดี 112 ก็เป็นความเห็นส่วนตัวของกมธ.แต่ละคนเพราะขนาดกมธ.ที่มาจากพรรคเดียวกันเช่น เพื่อไทย,พรรคประชาชน หรือพรรคก้าวไกลเดิม ก็ยังเห็นต่างกันในเรื่องคดี 112 จึงทำให้ ท่าทีจากฝ่ายรัฐบาลยอมจะให้มีการพิจารณารายงานดังกล่าวในสัปดาห์นี้
ด้าน นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ในคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ เปิดเผยว่า ทางอนุกมธ.ฯ ได้ข้อสรุปออกมาหลายส่วน เช่น นิยาม “แรงจูงใจทางการเมือง” ที่นิยามออกมาว่า “การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง”
นายยุทธพร กล่าวอีกว่า ส่วนกรอบเวลาที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ให้เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป ขณะที่การจำแนกประเภทการกระทำในคดีที่มีเหตุจากแรงจูงใจทางการเมือง แยกได้เป็นสามส่วนคือ คดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง
สำหรับคดีหลักคือคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์โดยตรง เช่น ถูกเอาผิดตามพ.ร.บ.การชุมนุมฯ หรือกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงส่วนคดีรอง คือ คดีที่เกี่ยวเนื่องจากเหตุการณ์เหล่านั้น เช่น ถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ความสะอาด ฯ พ.ร.บ.จราจร ฯ หรือกฎหมายส่วนคดีที่มีความอ่อนไหว คือ คดีตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 และคดีที่เป็นความผิดต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำต่อมนุษย์ โดยการจำแนกดังกล่าวใช้สถิติ ข้อมูล และหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการจำแนก รวมถึงอนุกมธ.ฯ ยังมีข้อเสนออื่นๆ เช่นมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและเสริมสร้างความปรองดอง ที่ก็จะมีแนวทางที่มาจากกรณีในต่างประเทศ ที่เสนอว่าเราจะมีแนวทางอย่างไรในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เช่น การมีกระบวนการที่จะต้องห้ามบุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรมไปดำเนินการหรือไปทำความผิดในฐานความผิดเดิม
เมื่อถามว่า รายงานดังกล่าว พบว่าได้ให้ความเห็นไว้ว่า ควรนิรโทษกรรมคดี 112 แบบมีเงื่อนไข เหตุใดจึงเสนอแนวทางดังกล่าว นายยุทธพร กล่าวว่า กระบวนการในการที่เราจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หากเราย้อนไปดูในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา จะพบว่าประเด็น และข้อถกแถลงในสังคมการเมือง มีการขยับอยู่ตลอดเวลา จากเดิมเป็นเรื่องของตัวบุคคล ต่อมาก็เป็นเรื่องของแนวทาง แนวคิด ต่อมาก็เป็นเรื่องอุดมการณ์ที่จะพบว่ามันก็จะขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น วันนี้หากเราไม่พูดถึงการแก้ปัญหาเลย ในอนาคตมันจะยิ่งมีความแตกแยก การแบ่งขั้วทางการเมือง ที่มันร้าวลึกลงไปอีก เพราะฉะนั้นเราจะปฏิเสธการไม่พูดถึงเรื่องนี้เลยคงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การพูดถึงเรื่องนี้ท่ามกลางบรรยากาศที่สังคมยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งที่มันซับซ้อนมากยิ่งขึ้นก็ได้
“วันนี้ หากเราจะพูดกันถึงเรื่องคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 หรือคดีที่เป็นความผิดต่อเสรีภาพ คดีที่เป็นความผิดต่อร่างกาย ก็ควรต้องมีเงื่อนไขในการให้มีการพูดคุยกันก่อน เพื่อให้สังคมได้ตกผลึก ไม่ใช่บอกว่าให้นิรโทษกรรมทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งมันก็ไม่ได้ เพราะมันก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ซับซ้อนตามมาอีก ดังนั้น ก็ต้องมีการพูดคุย โดยอาจจะให้มีการนิรโทษกรรมในเรื่องอื่นๆ ก่อนในคดีหลัก คดีรอง หรือคดีที่สังคมตกผลึกไปแล้วเดินหน้าไป แต่คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง อาจต้องมีเงื่อนไข เช่นอาจให้มีเวทีพูดคุยกัน โดยอาจมีมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ อาจต้องมีการหารือแนวทางให้มันตกผลึกก่อน ที่เป็นสิ่งที่เรียกว่าการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข”
ถามว่าตอนนี้เหมาะหรือยังที่สภาฯ จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพราะที่ผ่านมา มีการเสนอร่างเข้าสภาฯมาแล้วหลายร่างแต่ยังไม่มีการพิจารณาเสียที นายยุทธพรกล่าวว่า หลักใหญ่ตอนนี้ ควรต้องทำให้มีกระบวนการของการนิรโทษกรรมเสียก่อน ผ่านการพูดคุยกันก่อน แล้วกฎหมายค่อยเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างปัจจุบันที่มีการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม
4-5 ร่าง เสนอเข้าสภาฯไป แต่ยังไม่ชัดว่าจะเป็นไปตามร่างใด เพราะสุดท้าย สภาฯ อาจเห็นว่า ให้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมใหม่ขึ้นมาใหม่เลยก็เป็นไปได้
โดยตรงนี้มันต้องมีกระบวนการพูดคุยกันก่อนเพราะถ้าไปเสนอกฎหมายเข้าสภาฯเลย สุดท้าย มันจะไม่จบ เรื่องนิรโทษกรรม แล้วจะทำให้เกิดปัญหาความซับซ้อนในเรื่องความขัดแย้งที่ตามมาอีกก็ได้ โดยกระบวนการพูดคุยดังกล่าว ก็คือ สภาฯ อาจเป็นเจ้าภาพเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากแต่ละทุกภาคส่วนของสังคมว่า แนวทางการนิรโทษกรรมที่กมธ.ฯ ได้ศึกษาสรุปออกมาเป็นสามประเภทคดีคือคดีหลัก คดีรองคดีที่มีความอ่อนไหว แต่ละภาคส่วนเห็นอย่างไร อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ควรออกเป็นกฎหมายหรือไม่
หากออกเป็นกฎหมายอยากให้เนื้อหาในกฎหมายครอบคลุมอย่างไรบ้าง แล้วมันก็จะค่อยๆ จูนไปเรื่อยๆ เรื่องเวลาเป็นเรื่องสำคัญของการนิรโทษกรรม หากเรามีกระบวนการ มีการใช้เวลาตรงนี้ร่วมกัน สังคมเราจะมีทางออกร่วมกัน แล้วกฎหมาย ค่อยมาว่ากันตามเข้ามาทีหลัง แต่ถ้าใช้วิธีให้กฎหมายนำมาก่อน ไม่คิดว่าจะเป็นทางออกได้
ถามย้ำว่า หากในสภาฯ ที่เหลือเวลาอีกสามปี ถ้าไม่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา จะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ ถ้ายังมีการซื้อเวลา ไม่กล้าตัดสินใจ นายยุทธพร กล่าวว่า เราต้องมองกลับกันด้วยเหมือนกันว่า หากมีการไปออกกฎหมายโดยสังคมยังไม่ตกผลึก มันจะเกิดปัญหาได้เช่นเดียวกัน กับการนิรโทษกรรม เราอย่าไปมองว่า การไม่ออกกฎหมาย คือการซื้อเวลา ซึ่งมันไม่ใช่ การออกกฎหมายอาจกลายเป็นระเบิดเวลาได้เหมือนกัน เพราะการนิรโทษกรรม
เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และสังคมยังเห็นไม่ตรงกันหลายเรื่อง แต่เรื่องใดที่สังคมเห็นตรงกันแล้วก็ออกเป็นกฎหมายได้ เช่นการกระทำความผิดที่เกิดจากความขัดแย้ง
ในอดีต ที่ทุกฝ่ายตกผลึกแล้ว แบบนี้ออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมได้
แต่อันไหนที่ยังไม่ตกผลึกก็ค่อยๆ พูดคุยกัน หาทางแก้กันไปน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า อย่างเช่นเรื่อง คดี 112 ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ละเอียด รอบด้าน ถ้านิรโทษกรรมแล้วสังคมไม่ปรองดอง มันก็ไม่เป็นประโยชน์
สรุป : รอดูกันว่า วันพฤหัสบดีนี้ รัฐบาลจะลุยนำเรื่องนี้ เข้าสู่การพิจารณา หรือว่าจะชะลอออกไปก่อน เพราะเรื่องนี้ นับเป็นหนึ่งใน “ความเสี่ยง” ที่รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์จะ “อายุสั้น” และเป็นการ “เป่านกหวีด” ปล่อยประชาชนลงสู่ท้องถนนก็เป็นได้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี