ทุกรัฐบาลไม่ว่าประเทศใดๆ มักจะต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ถือเป็นปัญหาเฉพาะหน้า โดยขณะเดียวกันก็จะต้องรับภาระในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว
ฉะนั้นผู้ที่รับหน้าที่เป็นรัฐบาลก็จะต้องมีขีดความสามารถในการดำเนินการคู่ขนานทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มักจะมีหลักคิดหรือทฤษฎีว่า ฝ่ายรัฐบาลสามารถดำเนินการคู่ขนานกันไปทั้ง 2 แนวทางคือ
1.ทางด้านการคลัง (Fiscal) และ
2.ทางด้านการเงิน (Monetary)
ซึ่งในกรณีแรกหมายถึง การนำงบประมาณของรัฐที่มาจากภาษีของราษฎร ไปใช้จ่ายเชิงลงทุน เช่น การเพิ่มเงินเดือนและการเพิ่มสวัสดิการ การขยายและปรับปรุงกิจการสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น งานประปา งานไฟฟ้า ไปจนถึงการขยายเครือข่ายการโทรคมนาคมและการขนส่งต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการลงทุนของภาครัฐนี้ก็จะช่วยสร้างงาน ทั้งการว่าจ้างแรงงาน และการเพิ่มขยายการผลิต ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น วัสดุก่อสร้าง และการจัดหาเครื่องมือเครื่องจักร เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ
ในขณะเดียวกันภาครัฐก็ยังสามารถใช้มาตรการทางภาษี เช่น การลดภาษีเพื่ออำนวยให้ราษฎรนำไปใช้จ่ายต่างๆ เป็นการกระตุ้นการบริโภค และกระตุ้นการผลิตสินค้าต่างๆ ไปโดยปริยายด้วย
ส่วนมาตรการทางการเงินนั้น ภาครัฐโดยฝ่ายบริหารและฝ่ายธนาคารกลางก็อยู่ในวิสัยที่จะมีการปรึกษาหารือและหาข้อยุติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อที่แวดวงธุรกิจจะได้มีกำลังใจในการที่จะไปกู้ยืมเพื่อนำไปลงทุนในการขยายธุรกิจ หรือเริ่มธุรกิจใหม่ๆ อีกทั้งก็จะต้องมีการปรึกษาหารือกันเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท เพื่ออำนวยให้การวางแผนธุรกิจเป็นไปด้วยความแน่นอนมากยิ่งขึ้น
จากมาตรการดังกล่าวข้างต้น ประชาชนพลเมืองก็สามารถที่จะติดตามทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท และนโยบายของภาครัฐ และประเมินผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมล่วงหน้า
แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลไทยชุดต่างๆ มักจะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าด้วยมาตรการประชานิยมคือเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยด้วยการแจกจ่ายเงินเป็นหลัก โดยยังมิได้มีการนำเอาวิธีการอื่นๆ คู่ขนานกันดังกล่าวเข้ามาใช้
สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพกว้างและระยะยาวของประเทศไทยนั้น เราก็มีแผนการพัฒนาระยะเวลา 5 ปี มาหลายสิบปีแล้ว อีกทั้งก็มีการพินิจพิจารณาจัดทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะเวลา 20 ปี อีกด้วย แต่ก็มีข้อสังเกตว่า นโยบายและมาตรการของฝ่ายการเมือง โดยฝ่ายคณะรัฐบาลไม่ว่าจะชุดใดก็ตามมักจะขาดการโยงใยกับแผนยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาดังกล่าว เสมือนกับการเดินกันไปคนละทาง และทั้งหมดนี้ก็ยังไม่ปรากฏว่าจะมีการประชุมหารือ เพื่อบูรณาการความคิดอ่านที่แตกต่างกันที่ไปกันคนละทิศละทาง
การจะพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ก่อนอื่นก็ต้องรู้เสียก่อนว่า ณ วันนี้ ประเทศไทยอยู่ในระดับการพัฒนาแค่ไหน ทั้งจากมุมมองของประชาคมโลกต่อไทย และจากมุมมองของแวดวงต่างๆ ของไทยเราเอง หรือนัยหนึ่งไทยเรามีความรู้จักตัวเองมากน้อยแค่ไหน และมีความเห็นพ้องต้องกันหรือไม่ และจะทำการร่วมกันอย่างไร
ยิ่งเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินเดีย (ยังไม่นับญี่ปุ่นและจีน) ไทยเราก็ถือว่าล้าหลังในเรื่องระบบการศึกษา การค้นคว้าวิจัย การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ขณะที่ค่าแรงของไทยก็สูงกว่าหลายๆ ประเทศที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน อีกทั้งไทยเรายังมีปัญหาการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาล โดยสังคมไทยเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจโดยมิชอบของบุคลากรในภาครัฐ ไปจนถึงที่ฝ่ายการเมืองมักจะมีข้อเสนอโครงการใหม่ๆ ซึ่งส่อไว้ซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการหาประโยชน์เข้าตนโดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศและอนุชนรุ่นหลังๆ ที่จะต้องเข้ามาแบกภาระการใช้หนี้สินที่คนรุ่นก่อนได้ก่อไว้
ดังนั้น ประชาชนชาวไทยจึงต้องตื่นรู้ในฐานะเจ้าของประเทศ แต่มักจะถูกบิดเบือน และมอมเมามาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ดี สังคมไทยยังมิได้ขาดซึ่งนักการเมืองที่ดี ข้าราชการที่ดี นักวิชาการที่ดี สื่อที่ดี และภาคประชาสังคมที่ดี เพียงแต่พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นจำเป็นที่จะต้องมีความกล้าหาญที่จะต้องออกมาแสดงความคิดเห็นที่ดี สร้างสรรค์ให้ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนพลเมือง และร่วมกันต่อต้านสิ่งที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลาย และช่วยกันคัดท้ายให้ภาครัฐดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาเศรษฐกิจด้วยความรักชาติ และความซื่อสัตย์สุจริต
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี