ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับ “การหลอกลวง” เป็นคดีใหญ่ๆ ทั้งการขายสินค้าที่ต่อมาถูกพิสูจน์ว่าไม่มีคุณภาพหรือมาตรฐานตามที่กล่าวอ้าง มีการควบคุมตัวหัวขบวนเครือข่ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและอายัดทรัพย์ไว้ตรวจสอบพร้อมไปกับทยอยคืนเงินผู้เสียหาย หรือเครือข่ายธุรกิจขายตรงที่ถูกตั้งคำถามว่าเข้าใจแชร์ลูกโซ่หรือไม่ เพราะแม้จะมีสินค้าให้ขายจริงแต่ดูจะเน้นการหาสมาชิกใหม่ๆ เข้าเป็นลูกข่ายเสียมากกว่า หากต้องการมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ สำเร็จตามความฝัน “กินหรูอยู่สบาย” อย่างที่โฆษณาชวนเชื่อกันไว้
แต่เชื่อหรือไม่ว่า “กลยุทธ์ (หรือกลอุบาย)” ข้างต้น“ไม่ใช่เรื่องใหม่” และดูจะใช้ได้ผลเสมอมาตั้งแต่ยุคที่อินเตอร์เนตยังไม่แพร่หลาย การหลอกยังเป็นแบบออฟไลน์ต้องชักชวนกันไปเข้าห้องสัมมนา มาจนถึงยุคสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่การหลอกลวงทำโดยมิจฉาชีพที่อยู่ไกลแบบข้ามประเทศ อาศัยการเปิดเพจ ช่อง หรือกลุ่มสนทนา บนหลักคิด “ลงทุนน้อยได้ผลตอบแทนสูง” หรือบ้างก็ว่า “งานสบายรายได้ดี” รู้อีกทีก็ตกเป็นเหยื่อ
ที่งานเวทีนักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum ครั้งที่ 28 “Next levels to counter fraud & deepfake : What’s else should we act? ยกระดับรับมือมิจจี้ภัยการเงิน จากพลเมืองเท่าทันสู่นโยบายสาธารณะในยุคดีพเฟค” เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2567 มีวิทยากรหลายท่านได้ให้มุมมองไว้น่าสนใจ อาทิ พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เล่าว่า สกมช. มีโอกาสได้ไปช่วยอบรมการสังเกตคลิปวีดีโอปลอมที่ใช้เทคโนโลยีดีพเฟค (Deepfake) ตัดต่อใบหน้าบุคคล โดยมีกรณีศึกษาคลิปดาราฮอลลีวู้ดเต้นโชว์
ซึ่งแม้ในการอบรมจะสอนให้สังเกตความผิดปกติจากตัวคลิป เช่น การขยับปากหรือดวงตา แต่ก็อยากแนะนำให้ “ลองคิดจากบริบทประกอบ” อาทิ จู่ๆ ดาราดังจะมาเต้นโชว์
ผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เพื่ออะไร เช่นเดียวกับการถูกชักชวนให้ลงทุน ที่ผู้ชักชวนบอกว่าเราคือผู้โชคดีเพราะวิธีนี้เป็นความลับไม่เคยบอกใครมาก่อน แต่หากลองคิดต่ออีกสักนิด หากมีวิธีลงทุนที่มหัศจรรย์นั้นจริง ทางการคงให้ไปช่วยงานด้วยเศรษฐกิจแล้ว
“อย่างเคสล่าสุด มันมาจาก Keyword (คำสำคัญ) 2 ส่วน ส่วนหนึ่งมาจากการทำ MLM (Multi Level Marketing การตลาดแบบหลายชั้น) อีกส่วนคือเอาคนดังมาพูดว่ายุคนี้ต้องไปออนไลน์ เลยเป็น MLM ที่บวกกับว่าเดี๋ยวท่านไปสมัครกับเขาแล้วเดี๋ยวมีเว็บไซต์ของตัวเอง แล้วก็ขายฝันต่อว่าทันทีที่มีเว็บไซต์เดี๋ยวยอดขายขึ้นอัตโนมัติ ซึ่งแบบนี้เป็นความคิดในเชิงมหัศจรรย์ที่เรายังไม่เข้าใจเลยว่าสภาพแวดล้อมตรงนั้นเป็นอย่างไร แต่เราเชื่อเขาไปโดยการที่เอา Influencer (บุคคลผู้มีชื่อเสียง) มาบอกเรา แล้วในรูปแบบนี้มันมีมานาน แล้วก็จะมีต่อไป
ถึงแม้ยังไม่มี AI (ปัญญาประดิษฐ์) หรือ Deepfake การใช้ Influencer ที่เราเห็นหน้าเขาแล้วเชื่อเลย มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราถูกหลอกต่อไป แล้วคนหลอกบ้านเราไม่ต้องเป็นคนต่างชาติ คนไทยด้วยกันเอง รับจ๊อบ 2-3 หมื่น แล้วก็ไปทำงานที่ต่างชาติหลอกคนไทยด้วยกันเอง หรือแม้กระทั่งไม่เกี่ยวกับภาวะทางสังคมด้วยว่าเขาต้องจนถึงหลอก บางคนก็รวยอยู่แล้ว แล้วคิดว่าจะหาประโยชน์จากเราได้แล้วก็มาหลอกเราอีก ฉะนั้นการคิดเชิงวิเคราะห์ในส่วนที่ว่าอะไรเป็นได้-ไม่ได้ เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องเตรียมตัวไว้ด้วย” เลขาธิการ สกมช. กล่าว
เช่นเดียวกับ อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่กล่าวว่า ในมุมของผู้บริโภคจะมีความสัมพันธ์กับผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดร้านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่มีทั้งฉากจริงฉากลวง ยิ่งหากเป็น Deepfake อาจไม่มีร้านค้าหรือตัวตนของผู้ขายเลยก็ได้ ขณะที่การโฆษณานิยมใช้บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดซึ่งทำให้เราพร้อมที่จะไม่ตรวจสอบ บนหลักคิดที่ว่า “ทำอย่างไรก็ได้ให้เรามีสมาธิกับการตรวจสอบน้อยที่สุดและใช้เวลาให้สั้นที่สุดในการตัดสินใจ” ซึ่งก็เป็น “หลักการขาย” ที่ใช้กันมานานแล้ว
“ปล่อยข้อมูลอย่างไว ตรวจสอบหยิบต้องแทบไม่ได้ แล้วก็จูงใจด้วยมูลค่าซึ่งทำให้เราตาโลภ โห!..ถ้าได้จังหวะนี้นะมันลดมันแถมอะไรต่างๆ ราคาถูกโน่นนี่นั่น ถ้าหลุดจังหวะนี้แล้วท่านหลุดไปเลยนะ ฉะนั้นตัดสินใจภายใน 1 ชั่วโมงนี้ นี่คือใช้ความอยากทั้งหมด ใช้ความรวดเร็วทั้งหมด แล้วทำให้เราเกิดความรั่วในการไตร่ตรอง อันนี้คือจุดที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบัน” รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เคยให้คำแนะนำในการสังเกตการชักชวนลงทุนที่อาจเข้าข่ายหลอกลวง ในบทความ “เจอแบบนี้ต้องระวัง ‘แชร์ลูกโซ่’ หลอกลงทุน” ซึ่งแม้จะเน้นไปที่การลงทุนในหุ้นหรือสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) แต่ก็สามารถใช้กับการหลอกลงทุนเรื่องอื่นๆ ได้เช่นกัน โดยหากพบลักษณะใน 5 ข้อนี้ต้องระมัดระวัง 1.ให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้น ไม่มีการลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว และพึงตระหนักว่าการลงทุนที่อาจให้ผลตอบแทนสูงย่อมมีความเสี่ยงสูงตามมาด้วย
2.การันตีผลตอบแทน บอกว่าจะได้ผลตอบแทนสูงเท่านั้นเท่านี้เป็นตัวเลขแน่นอน เช่น 10%-15% ต่อสัปดาห์ หรือ 40% ต่อเดือน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีการลงทุนใดๆ ที่
การันตีผลตอบแทนที่แน่นอนได้ เพราะราคาจะเคลื่อนไหวจากหลายปัจจัย 3.เร่งรัดให้ตัดสินใจ โดยมักจะเสนอสิทธิพิเศษเฉพาะในช่วงเวลานั้นเพื่อลดโอกาสในการไตร่ตรอง ดังนั้นต้องทำความเข้าใจสิ่งที่จะลงทุน ไม่ด่วนตัดสินใจลงทุนจากแรงบีบคั้น และโดยหลักแล้วผู้แนะนำการลงทุนต้องไม่เร่งรัดการตัดสินใจของลูกค้า เพื่อให้เวลาลูกค้าคิดให้ถี่ถ้วน
4.อ้างว่าใครๆ ก็ลงทุน ถ้าไม่รีบอาจพลาดตกขบวนหรืออ้างบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการลงทุนถ้าไม่เข้าร่วมจะตกขบวนความร่ำรวย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครมาร่วมลงทุน แต่ขึ้นอยู่กับการลงทุนหรือธุรกิจนั้นมีอยู่จริงและถูกกฎหมายหรือไม่ และ 5.ธุรกิจจับต้องไม่ได้บอกว่าทำธุรกิจแต่ไม่เห็นสินค้า หรือชักชวนลงทุนในแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาต อ้างธุรกิจว่าได้รับการรับรอง แต่ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้ ดังนั้นควรตรวจสอบว่าเป็นธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
ส่วน “แชร์ลูกโซ่” ซึ่งหมายถึงการหลอกให้ลงทุนหรือซื้อสินค้า โดยอ้างว่าจะได้รับกำไรจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว มักจะจ่ายเงินให้จริงในระยะแรกเพื่อให้หลงเชื่อ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ประกอบธุรกิจอะไรเลย เพียงแค่นำเงินของผู้ที่ลงทุนทีหลังมาจ่ายให้กับผู้ที่ลงทุนก่อนเท่านั้น เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้เพิ่มจนไม่สามารถจ่ายเงินได้ หรือได้เงินจำนวนมากเพียงพอแล้วก็จะหลบหนีไป มีวิธีการสังเกตดังนี้ 1.เน้นสร้างเครือข่ายมากกว่าขายสินค้า 2.ให้ชักชวนคนมาร่วมมากๆ และ 3.ได้โบนัสเพิ่มหากชวนคนมาเป็นสมาชิกได้
หากพบแบบนี้ต้องระวัง!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี