แต่ละก้าวย่างของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” นับว่า เดินยาก หนัก และเหนื่อย
เหนื่อยแรก คือ ต้องคอยแบกคุณหนู ผู้ไม่ประสีประสาใดๆ เลย ทั้งกิริยามารยาท สติปัญญา และกาลเทศะ
เหนื่อยที่สอง คือ การข้ามขั้วมาตั้งรัฐบาลด้วยกัน ไม่ได้แปลว่าอุดมการณ์และสันดานดั้งเดิมจะสลายไป จึงเห็นว่า มักมีประเด็นน้อยใหญ่ ขัดกันอยู่เสมอในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล
เหนื่อยที่สาม คือ พฤติกรรมจุ้นจ้านล้ำเส้น ของคนที่ผู้คนทั่วไปคิดว่าเป็น “นายกฯตัวจริง” คือ นายทักษิณ ชินวัตร ที่แม้ระยะหลังๆ จะเก็บเนื้อเก็บตัว แต่กรรมเก่าก่อนหน้านั้น ก็ทยอยมาสร้างปัญหาให้รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนี้
ยังโชคดีที่มี “ฝ่ายค้านอยู่ 2 รูปแบบ” คือ “ไม่เอาจริง” กับ “ไม่เอาไหน”
ทว่า พลันที่ถีบ “พรรคพลังประชารัฐ” ออกไป ก็เจอการสวนกลับในรูปแบบ การร้องเรียนเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องคุณสมบัติและจริยธรรมของนายกฯ พรรคที่ถูกครอบงำโดยคนนอก และการแต่งตั้งที่อาจผิดหลักจริยธรรม แบบถี่ยิบ ร้องทุกเรื่อง ทุกการขยับตัว ไหนจะเจอการตั้งทีมเศรษฐกิจคอยจับผิดรัฐบาลอีก โชคดีที่ช่วงนี้“บ้านป่าซวนเซ” เพราะ “บริวารเป็นพิษ” เจอฤทธิ์ต้องสงสัยว่าเป็น “เทวดาดิไอคอนกรุ๊ป” ทั้งๆ ที่ อาจเป็น“นายเก่า” ของ “ไอ้ลูกกรอก” ต่างหาก ไม่ใช่ “ลุงในป่า”
มาดูกันว่า ความไม่ราบรื่นและชะตาที่ไม่ยืนยาวของรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ เกิดจากเหตุปัจจัยอะไรบ้าง
1) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส. นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า
“กระแสข่าวที่ กกต.รับคำร้องของบุคคลนิรนาม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี นายเรืองไกรลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุลอดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 เป็นผู้ยื่นคำร้อง กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร เชิญแกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุมกับนายทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง ซึ่งนายทักษิณไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำมีมูล”
ผมเห็นว่าการที่ กกต.รับคำร้อง และพิจารณาว่า คำร้องมีมูล น่าจะมาจากองค์ประกอบของคำร้อง ที่ได้ปรากฏภาพมีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค เดินทางเข้าไปบ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพบกับนายทักษิณ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกพรรค
แต่ในรายละเอียดของการครอบงำพรรค จะต้องนำสืบต่อไปว่า มีหลักฐานอะไรบ้างที่บ่งบอก หรือชี้ชัดว่านายทักษิณได้สั่งการครอบงำพรรคการเมืองทั้ง 6 พรรคจริง เช่น คลิปเสียง คลิปภาพวีดีโอ พยานบุคคล เพื่อนำมายืนยันว่า นายทักษิณเป็นบุคคลภายนอกมาชี้นำ และครอบงำพรรคการเมือง ซึ่งถ้าปรากฏหลักฐานชัดเช่นนี้ โอกาสที่พรรคการเมืองทั้ง 6 พรรคถูกยุบก็มีสูง
การที่กกต. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนคำร้องยุบพรรคเพื่อไทย ก็เป็นกระบวนการของกกต. ที่จะต้องเร่งหาข้อสรุปให้ได้ข้อยุติ เพราะในการครอบงำพรรคเพื่อไทยของนายทักษิณ ได้ถูกร้องโดยนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง และกกต.มีมติว่า คำร้องมีมูล ส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อจะให้ข้อหาการครอบงำพรรค และยุบพรรคเดินไปพร้อมกัน
แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการพิจารณายุบพรรค ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน
เมื่อถึงตอนนั้นก็ไม่แน่ใจว่า คดียุบพรรคเพื่อไทยกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของรัฐบาล อะไรจะมาถึงก่อนกัน ระหว่าง นางสาวแพทองธาร ชินวัตรพ้นจากตำแหน่งจากคำร้องยุบพรรค กับพ้นตำแหน่งจากอุบัติเหตุทางการเมือง หรือความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาล
2) หากไม่นับเรื่องร้องเรียนให้ยุบพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล เฉพาะตัว อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เอง ก็เจอ “คำร้อง” อย่างน้อยๆ 10 เรื่อง คือ
คำร้องที่ 1 : กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)ในฐานะรองประธานยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 4 หรือไม่ เพราะในคำสั่งแต่งตั้งระบุให้เบิกจ่ายเบี้ยประชุมจากงบประมาณสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
คำร้องที่ 2 : นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2567 น.ส.แพทองธารกับครอบครัวไปกินข้าว ร้องเพลงที่โรงแรมแรนโช ชาญวีร์ เขาใหญ่ ใครจ่ายเงินให้ หากมิได้จ่ายเงินเองเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 128วรรคหนึ่ง ที่ห้ามเจ้าพนักงานของรัฐรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่ เพราะ น.ส.แพทองธารเป็นรองประธานยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ฯ รองประธานพัฒนาระบบสุขภาพฯ และประธานพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ฯ ถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 4
คำร้องที่ 3 : นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบว่า น.ส.แพทองธารลาออกจากกรรมการ 21 บริษัทในเครือชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2567จริงหรือไม่ เพราะพบว่ามีการไปจดทะเบียนแจ้งการลาออกต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 19 ส.ค.2567 หลังจากได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 18 ส.ค.2567หากลาออกหลังจากวันที่ 18 ส.ค.2567 ความเป็นนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงหรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ห้ามรัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นหรือลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
คำร้องที่ 4 : กรณีบุคคลนิรนาม ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยื่นยุบพรรคเพื่อไทยต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยกรณีถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่านายทักษิณชี้นำนายเศรษฐาให้เสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี เท่ากับพรรคเพื่อไทยยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรค
คำร้องที่ 5 : กรณีบุคคลนิรนาม ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สั่งให้กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ (น.ส.แพทองธารดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในคณะกรรมการบริหารพรรคชุดดังกล่าว) เพราะยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรค
คำร้องที่ 6 : กรณีบุคคลนิรนาม ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยื่นถอดถอนน.ส.แพทองธารต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยที่ยอมให้นายเศรษฐา ทวีสิน นำชื่อนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ซึ่งถือว่า น.ส.แพทองธารขาดจริยธรรมร้ายแรง
คำร้องที่ 7 : นายสนธิญา สวัสดี อดีตผู้สมัคร สว.ยื่นหนังสือที่สำนักงานอัยการสูงสุด ขอให้ตรวจสอบความซื่อสัตย์สุจริต และการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเดชอิศม์ ขาวทอง เป็น รมช.สาธารณสุข กรณีมีเรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
คำร้องที่ 8 : นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีเสนอชื่อนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) หรือไม่และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่ และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
คำร้องที่ 9 : นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นร้องต่อ กกต.ขอให้พิจารณายุบพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ และพรรคพลังประชารัฐสืบเนื่องจากพรรคเหล่านี้เดินทางเข้าพบนายทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า หารือเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21, 28, 29และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) หลักเกณฑ์การยุบพรรคข้อ 11 ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง มาตรา 93 เป็นการเข้าไปแทรกแซงหรือกระทำการใดๆ หรือไม่
คำร้องที่ 10 : นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.เพื่อขอให้ตรวจสอบน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27วรรคสองหรือไม่ ต้องส่งศาลฎีกาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่ และจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป ตามมาตรา 235 วรรคสี่ หรือไม่ กรณีชักชวนให้คณะรัฐมนตรีถ่ายรูปในท่ามินิฮาร์ทขณะกำลังสวมเครื่องแบบชุดปกติขาว บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
4) เรื่องที่ร้ายแรงและสุ่มเสี่ยงที่สุดในตอนนี้ เห็นทีจะเป็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ กับเรื่อง “นิรโทษกรรม” ที่พรรคร่วมรัฐบาลประกาศชัด ว่า ไม่เอาการนิรโทษกรรมเรื่องทุจริตและคดี 112 ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ คือประโยชน์โดยตรงของนายทักษิณ ชินวัตร, นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บอสใหญ่ของบริษัทเพื่อไทย
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน ให้สัมภาษณ์ว่า หากย้อนกลับไปสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือนิรโทษกรรมสุดซอย หรือลักหลับ จะเรียกอะไรก็ตาม ก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะประชาชนออกมาต่อต้าน หากพิจารณาถึงเทคนิคช่องทางอาศัยเสียงส่วนใหญ่ในสภา โดยเสนอเป็นรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม เป็นการโยนหินถามทาง ดร.ณัฏฐ์มองว่า
“เป็นเทคนิคใช้กลไกสภาโดยใช้เสียงข้างมาก สับขาหลอกประชาชน โดยที่รัฐบาลแพทองธาร สามารถอ้างได้ว่า เป็นความเห็นของรัฐสภาฝ่ายนิติบัญญัติ มิใช่เป็นการกระทำของฝ่ายบริหาร ตนเองไม่เกี่ยว เป็นการใช้สภาเสียงข้างมากในการเป็นสารตั้งต้นออกกฎหมายนิรโทษกรรม ครั้นจะใช้วิธีการตราเป็น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ไม่ผ่านความเห็นและรายงาน ของ กมธ. จะทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนและพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างรุนแรง เพราะรัฐบาลผสมแพทองธาร ชินวัตร ยังไม่มีผลงานในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ”
ส่วนที่ถามว่า ที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ แถลงยืนยันว่า การเสนอรายงานนิรโทษกรรม ไม่ใช่การแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย และไม่ใช่การยกเลิกความผิด การกระทำนั้นยังคงเป็นความผิดตามกฎหมาย เพียงแต่สมควรมีการยกเว้นความรับผิดเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ประเทศชาติสามารถพัฒนาต่อไปได้ การตรากฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือนำพาประเทศให้เดินหน้าต่อไปเพื่อไม่ให้จมปลักอยู่กับความขัดแย้งนั้น
ดร.ณัฐวุฒิ มองว่า เป็นการโยนหินถามทางและเป็นสารตั้งต้นในการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยใช้เสียงส่วนใหญ่ในสภาว่า จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หากเห็นชอบ โดยเสียงส่วนใหญ่ ส่งผลให้มีการผลักดันไปสู่การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยอ้างความเห็นของรัฐสภาจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมคำว่า รายงาน ไม่ใช่ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สรุปง่ายๆรายงาน เป็นการรับฟังความเห็น ไม่ใช่เป็นการตรากฎหมาย เป็นการเช็คเสียงในสภาว่า รัฐบาลผสมและฝ่ายค้าน พรรคการเมืองใด เอาด้วย ซึ่งจะนำไปประเมินว่าจะเดินต่อหรือหยุด เพื่อรอเวลาก่อน เพราะหากผลักดันเป็น พร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง รวมมาตรา 112ไปด้วย ระหว่างพิจารณาคดีของนายทักษิณ ชินวัตร จะได้รับอานิสงส์ผลแห่งนิรโทษกรรมด้วย
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ให้จับข้อสังเกตว่า นายชูศักดิ์มือกฎหมายของเพื่อไทย มานั่งเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อชำแหละผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมควบคู่ไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทั้งนี้ หากรวมถึง คดีการเมือง คดีทุจริต ย่อมส่งผลต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เผ่นหนีไปตั้งหลักที่ต่างประเทศ กลับเข้าประเทศโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ จะลุกฮือต่อต้านรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร แม้จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงิน 10,000 บาท แก่กลุ่มเปราะบางแต่เป็นนำเงินภาษีประชาชนทุกคนมาแจก ไม่ใช่เงินของตระกูลชินวัตร หรือตระกูลใดตระกูลหนึ่ง
“หากยังฝืนเดินหน้าเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อยกเว้นความผิดให้แก่นายทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ในที่สุด”ดร.ณัฐวุฒิ กล่าว
สรุป : ยังบอกไม่ได้ว่า จุดตายไหนจะหยุดลมหายใจของรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ได้เร็วที่สุด เพราะหลายๆ เรื่อง ขึ้นอยู่กับกระบวนการทำงานขององค์กรอิสระแต่ถ้าดูเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองของพรรคร่วมฯ และม็อบของประชาชน เรื่องนิรโทษกรรมที่รวมคดีทุจริตและ 112 เข้าไปด้วยนี่แหละ ที่รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์จะจบด้วยการถอนตัวของพรรคร่วม และม็อบของประชาชนเต็มท้องถนน !!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี