การอยู่ร่วมกันของหมู่คนจำนวนมากซึ่งในที่สุดก็เรียกว่าชาตินั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎระเบียบ ซึ่งเปรียบเสมือนกติกาของสังคม ในการที่จะทำให้ทุกคน อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข ผู้ที่ไม่ก่อปัญหาอะไรให้เกิดขึ้น ก็จะไม่ถูกบังคับใช้กฎระเบียบ ซึ่งต้องมีบทลงโทษ แต่หากผู้ใดที่ก่อปัญหา และทำให้สังคมกระทบกระเทือนเกิดความเดือดร้อนเสียหาย ก็จะต้องถูกลงโทษตามกฎระเบียบที่บัญญัติไว้ที่เรียกว่ากฎหมาย
กฎหมายของไทยมีมาตั้งแต่เริ่มอาณาจักรอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่๑ พระเจ้าอู่ทอง โดยกฎหมายลงโทษนั้นอยู่ในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ.๑๘๙๕ ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้มีกฎหมายลักษณะอาญาขบถศึกเพื่อปกป้องและคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ปรับปรุงกฎหมายเก่าและเกิดเป็นกฎหมาย ที่เรียกว่า “ตราสามดวง” จะเห็นได้ว่ากฎหมายเดิมที่เกี่ยวกับคดีอาญานั้นได้ถูกใช้มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๕๐๐ ปี โดยถูกยกเลิกไปเพื่อออกเป็นกฎหมายใหม่ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จุดมุ่งหมายและเนื้อหาของกฎหมายอาญาในอดีต จะเน้นความเด็ดขาดรุนแรง เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างสำหรับผู้ที่คิดร้ายต่อแผ่นดินหรือองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งบางครั้งก็เป็นขุนนางหรือข้าราชการที่อยู่ใกล้ชิด เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นจะมีไพร่พลในสังกัดและอาจจะมีอำนาจต่อรองได้ บทลงโทษจึงต้องเป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ที่ถือว่าเป็นการป้องปรามผู้ที่คิดเหิมเกริมต่อราชบัลลังก์
กฎหมายตราสามดวงเกี่ยวกับคดีอาญาถูกกำหนดไว้เป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกคือ โทษ ๘ สถาน และอีกส่วนหนึ่งคือโทษกบฏศึก ๓๒ ประการ
โทษ ๘ สถานที่มีอยู่ในกฎหมายพระอัยการอาญาหลวงนั้น มีไว้สำหรับผู้ที่ละเมิดต่อพระราชโองการหรือพระราชบัญญัติของพระเจ้าอยู่หัว โดยมีการกำหนดไว้ ๑๐ มาตรา เป็นการระบุความผิดจากการกระทำที่ไม่สมควรต่อองค์พระเจ้าแผ่นดิน และล่วงละเมิดพระราชอาญา เช่น หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำตัวเทียมเจ้า การทุจริต ประพฤติมิชอบ
โทษที่ระบุไว้นั้นมีตั้งแต่ต่ำสุดคือการภาคทัณฑ์ จนกระทั่งสูงสุดคือโทษประหาร โดยมีรายละเอียดการลงโทษดังนี้
สถานหนึ่งให้ข้า(ฆ่า)ผู้ร้ายนั้นเสีย
สถานหนึ่งให้ตัดตีนตัดมือแล้วประจาน
สถานหนึ่งให้ทวน(เฆี่ยน)ด้วยลวดหนังไม้หวาย ๕๐ ที
สถานหนึ่งให้จำไว้แล้วเอาตัวลง(เกี่ยว)หญ้าช้าง
สถานหนึ่งให้ไหมจัตุระคูน(ปรับ ๔ เท่า) แล้วเอาตัวลงเป็นไพร่
สถานหนึ่งให้ไหมตรีคูน
สถานหนึ่งให้ไหมทวิคูน
สถานหนึ่งให้ไหมลาหนึ่ง
การระบุความหนักเบาของโทษย่อมขึ้นอยู่กับความผิดที่ได้กระทำไป โดยกฎหมายกำหนดให้ใช้วิธีสถานใดสถานหนึ่งเท่านั้น
กฎหมายตราสามดวงนี้ ได้มองลึกเข้าไปในสันดานของผู้กระทำผิด โดยกำหนดกฎเกณฑ์การลดหย่อนไว้ว่า ถ้าเป็นทหารเลว ทหารฝึกหัดแล้วก็ทำผิดครั้งแรกให้ภาคทัณฑ์ไว้ก่อนได้ เพราะถือว่ายังไม่รู้ระเบียบราชการดีพอ ซึ่งส่วนใหญ่ ทหารใหม่คือชาวไร่ชาวนาที่ถูกเกณฑ์มา ส่วนทหารที่ยศสูงขึ้นถือว่าได้รู้กฎระเบียบแล้วแต่ยังทำผิดอีก ก็จะมีการละเว้นโทษที่ต่างกัน ซึ่งยังแสดงให้เห็นถึงความยุติธรรมในกฎหมายที่ให้โอกาสผู้น้อยที่กระทำผิดไป ให้ได้รับการตักเตือนก่อน แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่รู้ระเบียบแล้ว อันนี้จะไม่ยอมให้ภาคทัณฑ์
ส่วนโทษกบฏศึก ๓๒ ประการ ได้กำหนดไว้สำหรับผู้ที่ทำรัฐประหาร รวมถึงผู้ที่ก่อความไม่สงบเรียบร้อยในแผ่นดินด้วย ในกฎหมายตราสามดวง เรียกกฎหมายนี้ว่าพระไอยการกระบดศึก โดยรวมเอาโทษกับผู้ที่คิดร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดิน ปล้นเผาพระนคร ฆ่าพระ เผาโบสถ์วิหาร ปล้นฆ่าทารุณเด็ก เป็นความผิดที่สร้างความไม่สงบในแผ่นดินทั้งสิ้น ระบุโทษไว้ ๒๑ ประการ
เมื่อเอาโทษ ๒๑ ประการนี้ไปเทียบกับโทษ ๘ สถาน จะบอกได้ว่าโทษ ๒๑ ประการนั้นเป็นการลงโทษซึ่งเป็นภาพของความโหดร้ายอย่างชัดเจน เช่น
ให้ต่อยกระบานศีศะเลิกออกเสีย แล้วเอาครีมคีบก้อนเหลกแดงใหญ่ใส่ลง ให้มันสะหมองศีศะพุ่งฟูขึ้น ดังม่อเคี่ยวน้ำส้มพะอูม
ให้ตัดแต่หนังชำระเบื้องหน้า ถึงไพรปากเบื้องบนทั้งสองข้างเปนกำหนด ถึงหมากหูทั้งสองข้างเปนกำหนด ถึงเกลียวคอชายผมเบื้องหลังเปนกำหนด แล้วเทมุ่นกระหมวดผมเข้าทั้งสิ้น เอาท่อนไม้สอดเข้าข้างละคนโยกถอน คลอนสัน เพิกหนังทั้งผมนั้นออกเสีย แล้วเอากรวดทรายหยาบขัดกระบานศีศะชำระให้ขาว เหมือนพรรณศรีสังข์
ให้เอาขอเกี่ยวปากให้อ้าไว้ แล้วตามประทีปไว้ในปาก ไนยหนึ่งเอาปากสิวอันคมนั้นแสะแหวผ่าปาก จนหมวกหูทั้งสองข้าง แล้วเอาขอเกี่ยว ให้อ้าปากไว้ให้โลหิตไหลออกเตมปาก
ซึ่งเป็นโทษที่รุนแรงเป็นอย่างมาก ส่วนโทษสถานเบาในกรณีกบฏนี้ก็มี อาทิ
ให้ตีด้วยไม้ตะบองสั้น หรือไม้ตะบองยาว
ให้ทวนด้วยไม้หวายทังหนาม
จะเห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบการกับการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์หรือการตัดหัว โทษ ๒๑ สถานนี้เป็นความโหดร้ายที่เทียบกันไม่ได้เลย
และยังมีลักษณะโทษอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า ทวะดึงษกรรม ๓๒ ประการ เป็นโทษสำหรับผู้กระทำผิดพระราชอาญา เป็นโจร ลักทรัพย์ ทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน โดยมีการลงโทษ อาทิ
ให้ทวนด้วยหวาย
ให้ตัดนิ้วมือ
โทษสูงสุดคือตัดศีรษะ
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อปี ๒๔๗๕ ก็ได้มีการปรับปรุงกฎหมายจำนวนมาก ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายอาญา แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๒ ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวังโทษจำคุก ไม่เกิน ๗ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๔,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
จะเห็นได้ว่าหากนำกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ไปเปรียบเทียบกับกฎหมายอาญาในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพระมหากษัตริย์และสถาบันนั้น จะแตกต่างกันอย่างมากมายในความรุนแรงของบทลงโทษ
การที่พรรคการเมือง นักการเมืองหรือคนบางกลุ่มพยายามเรียกร้องที่จะแก้ไข กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ โดยอ้างถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยว่าต้องเท่าเทียมกัน โดยไม่ให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัย
บทลงโทษต่างๆ ที่เขียนไว้ในกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ จะมิได้ถูกนำมาใช้เลย หากไม่มีใครผู้ใดได้กระทำผิดที่โยงไปถึงมาตราดังกล่าว ซึ่งคดีความที่เกิดขึ้นขณะนี้บอกได้เลยว่าเป็นความตั้งใจที่จะกระทำผิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะบ้านเมืองใดก็ตาม ก็ต้องมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์หรือผู้นำสูงสุดของประเทศ
ขณะนี้ นอกจากความพยายามของพรรคการเมืองบางพรรค ในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมุ่งเน้นที่จะยกเลิกมาตรา ๑๑๒ หรือปรับเปลี่ยนเนื้อหาของมาตรา ๑๑๒ ก็ยังมีความพยายามที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่กระทำผิดในคดีที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยอ้างว่าเพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีของสังคมไทย ซึ่งรวมคดีของผู้ที่ทำผิดตามมาตรา ๑๑๒ ซึ่งเป็นการกระทำผิดโดยจงใจและเจตนาด้วย
หากสภาฯ ได้ลงมติผ่านความเห็นชอบในเรื่องดังกล่าว โดยนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำผิดในมาตรา ๑๑๒ ด้วย คงเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่อาจจะยอมรับได้ อันอาจจะนำมาซึ่งความไม่สงบของบ้านเมือง รัฐบาลจึงต้องตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก โดยยึดเอาประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และต้องเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดไป
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี