พรรคเพื่อไทย จุดประเด็นขึ้นมาว่า อาจมีการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เพื่อทุกคนได้ใช้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย !!!
ข้อมูลและข้อควรพิจารณาสำหรับติดตามเรื่อง มีดังต่อไปนี้
1. เมื่อวานนี้ (22 ต.ค.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ชี้แจงเพิ่มเติมว่า รัฐบาลพยายามขยายไปให้มีรถไฟฟ้า 20 บาทในเส้นอื่นๆ และกำลังเร่งดำเนินการเรื่อง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม จะเริ่มได้กันยายนปี 2568
“..ต่อมา ก็มีการพูดถึงเรื่องของการตั้งกองทุนขึ้นมา เพื่อที่จะซื้อรถไฟฟ้าทุกสายซึ่งการที่จะซื้อรถไฟฟ้าทุกสายได้ การขนส่งทางรางก็ต้องมีแหล่งรายได้ด้วย เพื่อที่จะมีเงินไปซื้อรถไฟฟ้า และเมื่อดูการศึกษาในหลายประเทศ เรื่องแก้ปัญหาเรื่องรถติด ก็พบว่ามีการเก็บเงินหรือเรียกว่าภาษีรถติด
...ตุ๊กตาที่วางไว้ มันมีตั้งแต่ 40-50 บาทต่อวัน โดยเป้าหมายจะเก็บในเส้นทางที่มีรถไฟฟ้า เพราะเมื่อมีรถไฟฟ้าแล้ว ยังจะใช้รถส่วนตัว มันก็จะทำให้เกิดมลภาวะ เราก็อาจต้องเรียกเก็บ แต่เราก็จะมีทางเลือกให้กับรถยนต์ด้วย เช่น เราเก็บเส้นพารากอน ประชาชนที่จะผ่านเส้นพารากอน เพื่อไปพระโขนง เขาก็จะเปลี่ยนเส้นทางได้ ไปทางเพชรบุรี หรือพระราม 4 ก็ได้ เราต้องมีทางเลือกให้เขา
...ทางกระทรวงคมนาคมกำลังศึกษาว่าจะเก็บที่ไหนอย่างไร ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และเชื่อว่าหากประชาชนใช้รถไฟฟ้าในราคาถูกมากๆ ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อีกทั้งปัจจุบัน เราก็รู้ดีว่า การใช้รถยนต์ของตัวเอง มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และกว่าจะกลับถึงบ้านก็ใช้เวลานานมาก ความสุขในครอบครัวก็ไม่มี
อย่างไรก็แล้วแต่ เรื่องของการเก็บภาษีรถติด เราจะให้มีการศึกษาก่อน ว่าผลออกมาดีไม่ดีอย่างไร หลังจากนั้นก็จะอธิบายให้ประชาชนฟัง
...ผลการศึกษาดังกล่าวน่าจะใช้เวลาประมาณสัก 6 เดือน ถึง 1 ปี
แต่เรื่องของรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายต้องทำให้เสร็จก่อน โดยยืนยันว่า ปีหน้าได้แน่นอน” – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าว
2. สรุปตามลำดับเหตุและผล คือ
เหตุ อยากจะให้มีรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
แต่การจะมีเช่นนั้น จำเป็นต้องใช้เงินมหาศาล
เพราะจะต้องซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชน รัฐจึงจะกำหนดค่าโดยสารเองได้ทั้งหมด
เพราะเช่นนั้นเอง จึงจะเก็บเงินจากคนใช้รถยนต์ใน กทม.บางพื้นที่ เพื่อสมทบเข้ากองทุน
ทั้งหมด ตอกย้ำสิ่งที่เคยกล่าวไว้โดยตลอดว่า โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี นั่นเอง
3. ความจริง ถ้ารัฐบาลอยากจะให้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจริงๆ ก็สามารถทำได้เลย แม้จะยังไม่ได้ซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนมา
วิธีการ คือ เจรจากับเอกชน ขอให้ลดค่าโดยสารลงมาสู่อัตรา 20 บาทตลอดสาย แต่ก็คงต้องแลกกับการจ่ายเงินค่าชดเชยรายได้ที่หายไปให้แก่เอกชนเขา
วิธีการนี้ แม้ไม่ได้ซื้อคืน แต่เหมือนกับ “เหมารอบ”
แต่คำถามสำหรับฝ่ายนโยบายในรัฐบาล คือ การจะไปทำเช่นนี้ เกิดประโยชน์คุ้มค่า เหมาะสม เป็นธรรมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรส่วนรวมของประเทศชาติหรือไม่?
เพราะมันก็คือการเอาเงินของประเทศชาติส่วนรวม ไปอุดหนุนการเดินทางของคนในเมืองหลวง และปริมณฑล ก็ต้องมีข้อมูลมายืนยันเพื่อชี้แจงคนทั้งประเทศให้ได้
แต่ถ้ามีการบริหารจัดการเก็บค่ารถติด นำมาจ่ายชดเชย ก็ยังพออธิบายได้ว่าเอาเงินของคนเมืองกรุงนั่นเองมาบริหารจัดการ
4. กระทรวงคมนาคมเคยมีการคำนวณว่า อาจจะต้องชดเชยรายได้ให้เอกชนปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท
แจกแจงว่า มีเงินพอที่จะชดเชยเอกชนได้ 2 ปี เป็นเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท
โดยจะใช้เงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นเงินส่วนแบ่งรายได้จากการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยได้รับส่วนแบ่งมาจากเอกชนผู้รับสัมปทาน
ประเด็นนี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ได้ตรวจสอบส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวแล้ว พบว่าตั้งแต่ปีแรกที่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินคือปี 2547 รฟม.มีส่วนแบ่งรายได้ ดังนี้
(1) ถึงสิ้นปี 2566 มีส่วนแบ่งรายได้ 17,705 ล้านบาท
(2) ถึงสิ้นปี 2567 มีส่วนแบ่งรายได้ 21,517 ล้านบาท (ตัวเลขประมาณการ)
(3) ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2568 (ก่อนเริ่มเก็บ 20 บาท ทุกสายทุกสีในเดือนกันยายน 2568) มีส่วนแบ่งรายได้ 24,860 ล้านบาท (ตัวเลขประมาณการ)
“ด้วยเหตุนี้ หากจะต้องชดเชยให้เอกชนปีละ 8 พันล้านบาทจริง ก็มีเงินใช้พอประมาณ 3 ปี
แต่ผมคาดว่าจะต้องชดเชยให้เอกชนมากกว่าปีละ 8 พันล้านบาท และคาดว่าจะสามารถชดเชยให้เอกชนได้ปีเศษถึง 2 ปีเท่านั้น
หลังจากนั้น กระทรวงคมนาคมจะหาเงินมาจากไหน
เพราะเมื่อเริ่มใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสายกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแล้ว รฟม.จะไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากเอกชนอีกต่อไป มีแต่จะต้องชดเชยรายได้ให้เขาเท่านั้น
อีกทั้ง หากกระทรวงคมนาคมต้องการจะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน จะต้องใช้เงินอีกก้อนใหญ่
ดูไปแล้วกระทรวงคมนาคมจะต้องแบกภาระทางการเงินหนักจริงๆ
จะหาเงินจากการเก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจซึ่งมีรถติด ที่เรียกกันว่าค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge หรือ Congestion Pricing) ตามที่กระทรวงคมนาคมคิดไว้ก็ยากที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้...” – ดร.สามารถ กล่าว
5. เก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจ หาเงินซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน?
ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิเคราะห์ถึงแนวคิดที่จะหาเงินจากการเก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นรายได้ส่วนหนึ่งที่จะนำไปซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน ทำให้สามารถลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายทุกสีเหลือ 20 บาทตลอดสาย ได้ตลอดไป
ระบุว่า แนวคิดนี้มีมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่ก็ต้องพับเก็บไว้ เพราะเป็นแนวคิดที่ส่งผลกระทบต่อผู้เดินทางจำนวนมาก ครั้งนี้จะทำได้สำเร็จได้หรือไม่?
“1. ค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge หรือ Congestion Pricing)
การเก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจหรือที่เรียกกันว่า ค่าธรรมเนียมรถติดนั้นมีบางเมืองในต่างประเทศที่ทำสำเร็จ แต่ก็มีบางเมืองที่ล้มเหลว
ค่าธรรมเนียมรถติดยึดถือหลักการว่าคนขับรถทุกคนมีส่วนทำให้รถติดก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่าถ้ารัฐให้บริการระบบขนส่งมวลชนและรถโดยสารสาธารณะได้ดีพอ ก็ไม่อยากใช้รถส่วนตัว
จึงเกิดเป็นคำถามว่า เวลานี้ในพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เช่น ถนนสุขุมวิท และถนนสีลม เป็นต้น มีรถไฟฟ้า และ/หรือ รถเมล์ รถโดยสารสาธารณะอื่นที่ดีและเพียงพอแล้วหรือยัง?
2. กรุงเทพฯ พร้อมที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติด?
มีการศึกษาการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในกรุงเทพฯ มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้
เนื่องจากแนวคิดนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก ทำให้นักการเมืองไม่กล้านำมาใช้ เพราะจะทำให้คะแนนนิยมทางการเมืองลดน้อยลง
มาถึงรัฐบาลนี้กลับมีความกล้าขึ้นมา อาจเป็นเพราะว่าต้องการทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสายทุกสีเป็นจริงและยั่งยืนตามที่ได้หาเสียงไว้
หากไม่ซื้อสัมปทานคืนจากเอกชน นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ซึ่งต้องชดเชยเงินให้เอกชนผู้รับสัมปทานคงทำได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง
แต่ถ้าซื้อสัมปทานคืนได้ ก็ไม่ต้องชดเชยเงินให้เอกชน
เป็นผลให้รัฐต้องการซื้อสัมปทานคืนด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเป็นรายได้แหล่งหนึ่งที่จะนำไปซื้อสัมปทานคืน
แต่การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดจะส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากแม้ในพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้าแล้วก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติด รัฐจะต้องเตรียมความพร้อมทุกด้านอย่างรอบคอบเพื่อลดผลกระทบต่อผู้คนที่จำเป็นต้องเดินทางเข้า-ออกย่านธุรกิจที่เป็นเป้าหมาย รวมทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในย่านธุรกิจ
3. การเตรียมความพร้อมในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
เนื่องจากการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในกรุงเทพฯ จะส่งผลกระทบหลายด้านดังนั้น รัฐจะต้องเตรียมความพร้อมตอบสนองต่อหลากหลายคำถาม เช่น
(1) นักเรียนที่มีผู้ปกครองขับรถไปรับ-ส่งที่โรงเรียน หากผู้ปกครองมีฐานะดีก็คงยินดีจ่ายค่าผ่านทาง คงไม่ยอมให้ลูกนั่งรถไฟฟ้า และ/หรือ รถโดยสารสาธารณะไปโรงเรียน แต่หากผู้ปกครองที่พยายามขวนขวายหารถส่วนตัวมาใช้ก็คงคิดหนักว่าจะจอดรถก่อนเข้าพื้นที่เป้าหมายดีหรือไม่? มีที่จอดรถมั้ย? อัตราค่าจอดรถเท่าไหร่? จอดรถแล้วลูกจะเดินทางไปโรงเรียนอย่างไร? มีรถไฟฟ้าหรือไม่? รถไฟฟ้าไปถึงโรงเรียนหรือไม่? ถ้าไม่ถึง มีรถโดยสารสาธารณะอื่นหรือไม่?
(2) ที่จอดรถนอกพื้นที่เป้าหมายมีเพียงพอหรือไม่? อัตราค่าจอดรถเท่าใด?
(3) ในพื้นที่เป้าหมายนอกจากมีรถไฟฟ้าแล้ว มีรถโดยสารสาธารณะอื่นเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างสถานีรถไฟฟ้าไปโรงเรียน หรือที่ทำงานหรือไม่?
(4) ผู้ที่อยู่อาศัยในย่านธุรกิจที่เป็นเป้าหมายในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด จะต้องจ่ายค่าผ่านทางเข้า-ออกพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ด้วยหรือไม่?
(5) รถที่มีคนนั่งหลายคน เช่น ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป (รวมทั้งคนขับ) จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรถติดหรือไม่?
(6) รถที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรถติดมีรถประเภทใดบ้าง?
(7) ช่วงเวลาการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน? หรือตลอดทั้งวัน? อัตราค่าธรรมเนียมรถติดเท่าใด? เท่ากันตลอดทั้งวัน? หรือเปลี่ยนตามช่วงเวลา?
(9) กรุงเทพฯ มีตรอกซอกซอยมาก จะป้องกันไม่ให้ผู้ใช้รถใช้เป็นเส้นทางหลบเลี่ยงการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดได้อย่างไร?
(10) จะนำเทคโนโลยีใดมาใช้เก็บค่าธรรมเนียมรถติด?
4. สรุป
โดยสรุป หากรัฐเตรียมความพร้อมทุกด้านไว้อย่างดี การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดคงทำให้รัฐได้เงินไม่น้อยที่จะเป็นรายได้แหล่งหนึ่งในการนำไปซื้อสัมปทานคืนจากเอกชน
แต่ถ้ารัฐไม่สามารถเตรียมความพร้อมทุกด้านได้ดีพอ การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดก็จะล้มเหลวอีกเช่นเคย”
สุดท้าย พิจารณาจากข้อมูลข้างต้นแล้ว ท่านผู้อ่านคิดว่าอย่างไร?
รัฐบาลจะทำจริง หรือแค่เอามาหาเสียง ขายฝันไปเรื่อยๆ เพราะอีกไม่นานก็พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว?!?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี