ในสังคมไทยก็มีคำพังเพยที่ว่า สตรีเป็นช้างเท้าหลัง บ่งบอกว่าฝ่ายเพศชายเป็นผู้นำ หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งมีนัยว่า ผู้ชายมีความเหนือกว่าผู้หญิง ทั้งทางด้านมันสมองและร่างกาย แต่ในโลกยุคปัจจุบันนั้น การเสริมสร้างความทัดเทียมระหว่างเพศชายและเพศหญิง หรือการลดความเหลื่อมล้ำ และการเลือกปฏิบัติ ก็ได้มีวิวัฒนาการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับในโลกกว้าง และก็ยังจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป เพื่อในที่สุด ชายและหญิงจะมีความทัดเทียมกันอย่างสมบูรณ์แบบ
ในสังคมไทยเราก็มิได้มีการหยุดยั้งการเสริมสร้างความทัดเทียมเสมอภาคระหว่างเพศหญิงและชายซึ่งก็พัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ เช่นในอดีตก็เคยมีความคิดอ่านและประเพณีปฏิบัติว่า สตรีเพศไม่ต้องร่ำเรียนอะไรมาก แค่อ่านออกเขียนได้ก็เพียงพอแล้ว เพราะภาระหน้าที่ของเพศหญิงก็คือ การเป็นภรรยาและเป็นมารดา มีความรับผิดชอบเพียงเรื่องการงานในบ้านเรือนเป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันนี้สังคมไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องการยอมรับและเสริมสร้างความเท่าเทียมของเพศสตรี ดังจะเห็นได้เช่น เมื่อสตรีแต่งงานก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้นามสกุลของสามีเสมอไป และบุตรที่เกิดขึ้นที่ฝ่ายสามีเป็นคนต่างชาติ เดิมก็ไม่สามารถถือสัญชาติไทยได้ แต่บัดนี้เมื่อมารดาเป็นคนไทยและมีบิดาเป็นคนต่างชาติ บุตรที่เกิดขึ้นก็เลือกเป็นพลเมืองไทยได้ เป็นการยอมรับความทัดเทียมของเพศหญิง
ในมุมกว้างสังคมไทยนั้นไม่ได้น้อยหน้าสังคมอื่นใดต่อการที่ฝ่ายสตรีเพศมีตำแหน่งสูงๆ เท่าเทียมกับฝ่ายเพศชายในสาขาอาชีพต่างๆ และเป็นที่ยอมรับกันในเรื่องสติปัญญาและขีดความสามารถ และสาขาหนึ่งที่โดดเด่นมากไม่เป็นรองประเทศใดๆ ในกระทรวงการต่างประเทศที่เห็นสตรีเพศของไทยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต อธิบดี หรือเทียบเท่า เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว จัดได้ว่าก้าวหน้ากว่าประเทศใดๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีก 2 เรื่องใหญ่ที่เรื่องความทัดเทียมยังมีความค้างคาอยู่ อันได้แก่ การลาบวช หรือการลาไปปฏิบัติธรรม และการเป็นภิกษุณีในพุทธศาสนา กล่าวคือข้าราชการชายสามารถลาไปบวชในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 1 เดือนได้ แต่ยังไม่มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการที่จะเปิดโอกาสให้ข้าราชการหญิงลาไปบวชเป็นแม่ชีนุ่งขาวห่มขาว หรือลาไปปฏิบัติธรรม ซึ่งถือเป็นการสะท้อนความลักหลั่น หรือการเลือกปฏิบัติ แต่ก็อยู่ในวิสัยที่ฝ่ายการเมืองจะมีนโยบายออกมาเพื่อนำไปสู่การออกกฎเกณฑ์
ที่เหมาะสมในระดับข้าราชการประจำได้
ส่วนเรื่องสังคมไทยมีแต่ภิกษุสงฆ์ แต่ไม่มีภิกษุณีนั้น ก็ยังถือได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างสำคัญยิ่ง และการชี้แจงโดยฝ่ายคณะสงฆ์ และผู้ชำนาญการเป็นเกจิอาจารย์ ก็ดูจะไม่ค่อยชัดเจนหรือไม่สมเหตุสมผลต่อเรื่องสิทธิที่ทัดเทียม และเป็นการปิดกั้นเพศสตรีที่จะดำรงธรรม เพื่อเป็นหนทางสู่การหลุดพ้นจากสภาวะโลกแห่งทุกข์กรรมได้ เป็นการปิดโอกาสด้วยคำชี้แจงว่า ในปัจจุบันนี้การบวชภิกษุณีกระทำไม่ได้ เพราะขาดตอนหมดสิ้นไปแล้ว แต่การใดที่เป็นเรื่องที่ดีและส่งเสริมความเสมอภาคทัดเทียม ก็น่าจะอยู่ในวิสัยที่จะคิดอ่านหาทางออก เพื่อนำเอาการบวชภิกษุณีกลับคืนสู่สังคมพุทธไทยได้ เหมือนกับสังคมพุทธที่ศรีลังกา หรือที่ทิเบต และที่แหล่งมหายานอื่นๆ ได้
การจะให้เพศสตรีบวชเป็นภิกษุณีได้ ก็จะต้องเริ่มที่ความเห็นพ้องต้องกันเสียก่อนว่า ทั้งสองเพศมีความทัดเทียมกัน และเป็นสิทธิของเพศสตรีที่จะเป็นภิกษุณีได้ เราก็มาร่วมกันคิดหาฉันทามติในเรื่องการกำหนดระบบการบวชสตรีเพศให้เป็นภิกษุณีให้เหมาะสม ไม่ใช่เป็นการมาคิดอ่านและพูดจาเชิงขัดขวางว่า ขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติแต่ดั้งเดิมได้สูญหายและหมดสิ้นไปแล้ว จึงบวชสตรีเพศเป็นภิกษุณีไม่ได้อีก ก็เท่ากับว่าไม่อยากจะทำการอะไรให้ดีขึ้น และเป็นการปิดโอกาสให้สตรีเพศเป็นภิกษุณี และปิดโอกาสอีกเส้นทางหนึ่งของการหลุดพ้นจากการจองจำของโลกแห่งโลภะ โมหะ โทสะ
ก็หวังว่าองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและประชาชนทางพุทธศาสนาจะได้เปิดกว้างทางจิตใจและเปิดเวทีเพื่อร่วมกันคิดอ่านดำเนินการหาข้อยุติ
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี