“คำว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็หยิบยืมมาจากกฎหมาย Dietary Supplement ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแต่เดิมเรารู้จักกันแต่อาหารเสริม และคำว่าอาหารเสริมบางทีเราก็ใช้เป็นลักษณะที่เป็นอาหารปกติ ที่บางทีเราเสริมให้กับเด็กทารก เช่น กล้วย ไข่ มะละกอ เราบดๆ ผสม เรียกสิ่งเหล่านั้นว่าอาหารเสริม เพราะเราคิดว่ามันจะช่วยให้สุขภาพของลูกหลานเราดีขึ้น แต่สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งคำในภาษาอังกฤษคือ Dietary Supplement มันหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากอาหารปกติ
มันอยู่ในรูปแคปซูล ในรูปผง ในรูปเกล็ดของเหลว ซึ่งไม่ใช่รูปแบบอาหารตามปกติ ฉะนั้นคำว่าอาหารเสริมจึงโยงไปหาอาหารปกติที่เรากิน แต่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเรานึกถึง อย. ต้องนึกถึงผลิตภัณฑ์ที่เดิมมันเคยอยู่ในรูปอาหารปกติ แต่คราวนี้มันมาอยู่ในรูปของเม็ดหรือแคปซูล มันไม่ได้อยู่ในรูปของ Conventional Food (อาหารแบบดั้งเดิม) อีกต่อไปแล้ว แต่เราก็หวังว่าจะได้ประโยชน์ทางสุขภาพจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้”
ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในวงเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง “ชวนคุยชวนคิด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” จัดโดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ช่วงกลางเดือนต.ค. 2567 อธิบายความแตกต่างระหว่างคำว่า“อาหารเสริม” กับ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ซึ่งย้อนไปในปี 2537 สหรัฐอเมริกา ผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplement Act) ด้วยขณะนั้นเห็นตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ ที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะมีคุณค่าอาหารมาก-น้อยเพียงใดก็ตาม
ดังนั้นให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า “มุมมองโดยทั่วไปของประเทศต่างๆ ในโลกว่าด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คือมุ่งประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจเป็นหลัก แต่อาศัยว่า(น่าจะ) มีประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพอยู่บ้าง” ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่สหรัฐฯ มีกฎหมาย Dietary SupplementAct ทางองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ก็ไม่ค่อยสบายใจ เพราะคุ้นชินกับหลักคิดที่ว่า สิ่งใดที่จะได้รับการรับรองต้องมีผลวิจัย มีสรรพคุณและความเข้มข้นของสารอาหารที่ชัดเจน และกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้ให้อำนาจ FDA กำกับดูแล
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ทุกคนมีความเชื่อเรื่องการอยากได้ผลิตภัณฑ์มาทำให้สุขภาพดี หรือต้องการหาอะไรบางอย่างมาเติมเต็มส่วนที่ขาด จากความเชื่อนี้ทำให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเหล่านี้ขึ้นมา ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยจะแตกต่างกับสหรัฐฯ ตรงที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอยู่ในการกำกับดูแลของ อย. ซึ่งต้องมีเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ส่วนการอ้างประสิทธิภาพก็ต้องมีหลักฐานมายืนยันคำกล่าวอ้างนั้นด้วย
“อย่างน้อยๆ คุณจะใส่อะไรก็บอกสักนิด เราก็ไปดูว่าโรงงานดูแลน่าจะได้คุณภาพ เราเป็นเหมือนตัวแทนผู้บริโภคไปช่วยดู แต่แน่นอนว่าเราก็ดูได้ระดับหนึ่ง กฎหมายเขียนไว้ระดับหนึ่งเพราะถ้าเขียนเข้มเกินไป แน่นอนอาหารเป็นปัจจัย 1 ใน 4 ปัจจัยที่เราใช้ ดังนั้น การเขียนให้เข้มงวดมากก็ทำให้อาหารบางประเภทจะถูกกฎหมายดังกล่าวไปครอบคลุมเสียมากกว่า ดังนั้นเราก็เน้นคุณภาพ เน้นเรื่องความปลอดภัย ยกตัวอย่าง เช่น เรากำหนดว่าต้องไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีสารที่เป็นอันตราย” เลขาธิการ อย. กล่าว
นพ.สุรโชค กล่าวต่อไปว่า การใช้อาหารเสริม (หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) แบ่งได้ 2 กลุ่ม 1.กลุ่มที่ต้องการสารอาหารบางประเภทมากกว่าปกติ เช่น หญิงตั้งครรภ์ ต้องการธาตุเหล็ก โฟลิก แคลเซียม อาหารที่บริโภคตามปกติอาจให้สารอาหารเหล่านี้ได้ไม่เพียงพอ หรือคนรับประทานอาหารมังสวิรัติก็อาจขาดธาตุบางอย่างและเสริมด้วยอาหารที่เสริมที่ปรุงแต่งมา แต่กลุ่มที่ต้องเสริมแนะนำให้บอกแพทย์เพื่อให้มีการเตรียมข้อมูล เพราะหากเสริมไม่ถูกก็ไม่เกิดประโยชน์ ส่วนคนปกติทั่วไปที่ไม่มีโรคก็อาจไม่ต้องเสริม รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ก็พอ
กับ 2.กลุ่มที่สร้างความเชื่อ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ความเชื่อคือไม่มีข้อมูลจึงไม่สามารถให้อวดอ้างสรรพคุณได้ แม้ทางผู้ผลิตจะอ้างว่าสารที่ใช้สามารถช่วยเรื่องโรคนั้นโรคนี้ หากไม่มีหลักฐานยืนยันก็ถือว่าไม่เป็นความจริง สิ่งที่ต้องคุ้มครองคือข้อมูลที่ประชาชนได้รับในการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต้องเหมาะสมกับผู้ที่ต้องใช้จริงๆ ไม่ควรอวดอ้างเกินทั้งในส่วนสรรพคุณที่มีอยู่และในส่วนของเป้าหมายที่หวังผล ซึ่งกลุ่มหวังผลทางการตลาดนี่คือกลุ่มใหญ่ และเป็นหน้าที่ของ อย. ในการกำกับดูแลไม่ให้อวดอ้างสรรพคุณเกินกว่าที่มีอยู่
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อผู้บริโภคจะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สิ่งแรกที่ต้องการอย่างแน่นอนคือความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม “สิ่งที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือเรื่องการโฆษณาเกินจริง” เนื่องจากช่องว่างที่แคบระหว่างอาหารกับยา โดยมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอยู่ในจุดนั้น ทำให้มีการไปอ้างว่ามีสรรพคุณในการรักษาโรคซึ่งการอ้างนี้ถือว่าผิดกฎหมาย
และที่เป็นปัญหามากคือ “การขายผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) โดยใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง (ดารา อินฟลูเอนเซอร์ บุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ) มาร่วมโฆษณา” ซึ่งสิ่งที่บรรดาคนรับงานโฆษณาทั้งหลายพึงตระหนัก คือ “ต้องไม่โฆษณาเกินจริงหรือมีลักษณะอันเป็นเท็จ” อันเป็นหลักพื้นฐานตามกฎหมาย พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังนั้น การที่ผลิตภัณฑ์นั้นได้รับอนุญาตในฐานะอาหาร แม้จะมีเลขทะเบียน อย. กำกับ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะโฆษณาอย่างไรก็ได้
“ต้องยอมรับว่าบ้านเรายังไม่มีกติกากำกับคนที่เป็นดารา อินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้ประกอบวิชาชีพ ที่จะต้องอยู่ภายใต้กติกา แน่นอนผู้ประกอบวิชาชีพอาจมีสภาวิชาชีพกำกับอยู่บ้าง แต่ก็ดำเนินการในเชิงของการจัดการผู้ประกอบวิชาชีพได้น้อยมาก ส่วนดาราแทบไม่มีใครกำกับเลยยกเว้นว่ามีผู้เสียหายไปร้องเรียน หรือผลิตภัณฑ์นั้นเกิดมีสารเคมีที่เป็นอันตรายก็เป็นเรื่องเป็นราว” สารี ระบุ
เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวต่อไปว่า บรรดาคนดังที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค อาจโฆษณาไปโดยไม่ทราบว่าสิ่งนั้นได้รับอนุญาตโฆษณาหรือไม่ “ต้องเข้าใจว่าการอนุญาตตามกฎหมายมี 2 ส่วนแยกกัน คือการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับการโฆษณาผลิตภัณฑ์” ทั้งนี้ เมื่อดูตัวอย่างจากต่างประเทศจะมีหลักปฏิบัติ 1.ความโปร่งใส ต้องบอกชัดเจนว่าเป็นการโฆษณา 2.ไม่อวดอ้างเกินจริง เช่น โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่บอกว่ารักษาโรคได้ 3.ต้องเคยใช้ผลิตภัณฑ์นั้นจริง อย่างน้อย 6 เดือน เป็นต้น
ซึ่งจากคดีใหญ่ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย อยากให้บรรดาคนดังยึดหลักนี้ ถือเป็นการยกระดับเป็นบรรทัดฐานจริยธรรม แม้จะยังไม่มีกฎกติกาออกมากำกับดูแลก็ตาม!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี