ขณะนี้ปัญหาเรื่องที่นักการเมืองต้องการจะทำให้เกาะกูดเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชาเพื่อจะร่วมกันขุดเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งแก๊สและน้ำมันเอามาแบ่งปันกันคนละครึ่ง กำลังเป็นเรื่องใหญ่ชนิดฟ้าถล่มแผ่นดินทลาย และเป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้โดยเด็ดขาด
จะอ้างแบบอย่างของพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซียไม่ได้ เพราะพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่ทับซ้อนจริงๆ และต่างฝ่ายต่างก็ถือสิทธิ์ในอธิปไตยมาเป็นเวลายาวนาน จึงเป็นพื้นที่ทับซ้อนโดยกฎหมายและโดยทางกายภาพ
เมื่อเป็นพื้นที่ทับซ้อนอย่างนี้ รัฐบาลของทั้งสองประเทศจึงตกลงกันร่วมกันแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนและสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งสองประเทศด้วยความยินยอมพร้อมใจและถูกต้องเป็นธรรมตลอดมาตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้
เป็นคนละเรื่องกับพื้นที่เกาะกูดซึ่งเป็นดินแดนของประเทศไทย เป็นอธิปไตยของประเทศไทยมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ คือนับตั้งแต่มีประเทศไทยเกิดขึ้น เกาะกูดก็เป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศไทยตลอดมา ไม่เคยเป็นของชาติอื่น แม้ในยามที่เขมรเป็นประเทศราชของไทยเกาะกูดก็ยังคงเป็นดินแดนของประเทศไทยอยู่นั่นเอง
ต่อมาถึงยุคล่าอาณานิคมในสมัยรัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสได้ประพฤติตัวเป็นโจรสลัดล่าอาณานิคม เข้าปล้นชิงทรัพย์สินและดินแดนของประเทศต่างๆ ตั้งแต่ทวีปแอฟริกา เอเชีย ไปจนถึงในแปซิฟิก โดยใช้แสนยานุภาพทางทหารข่มเหงบังคับ
ได้ส่งกองทัพเข้ายึดดินแดนของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจันทบุรี ตราด เกาะกูด และเกาะต่างๆในย่านนั้น มิหนำซ้ำยังบังอาจเอาเรือรบเข้ามาข่มขู่ข่มเหงพระเจ้าอยู่หัวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นเหตุให้มีการเจรจากันเพื่อสงบศึก โดยฝรั่งเศสต้องการดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงทั้งหมด
เพื่อรักษาพระบรมเดชานุภาพและอธิปไตยของชาติ รัฐบาลสยามกับรัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้ทำสนธิสัญญาสงบศึกกัน โดยรัฐบาลสยามตกลงยกเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ สามมณฑลใหญ่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส โดยระบุไว้ในสนธิสัญญาข้อแรกและฝรั่งเศสยอมคืนพื้นที่จันทบุรี ตราด และเกาะแก่งทั้งหลายในย่านนั้นรวมทั้งเกาะกูดด้วย โดยระบุไว้ชัดเจนในสนธิสัญญาข้อที่สอง
หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ได้ทำพิธีส่งมอบดินแดนให้แก่กันและกัน เกาะกูดจึงกลับมาเป็นของไทยอีกครั้งหนึ่งโดยผลของสนธิสัญญานี้ และประเทศไทยก็ได้ถือครองเป็นดินแดนและอธิปไตยของประเทศไทยมานับตั้งแต่บัดนั้น
และฝรั่งเศสก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอีกเลย จนกระทั่งหมดยุคล่าอาณานิคม ครั้นเขมรได้เอกราชจากฝรั่งเศสก็ได้รับผลจากสนธิสัญญาดังกล่าวไปด้วย นั่นคือเขมรได้เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณไปเป็นของเขมรจนถึงทุกวันนี้ และเขมรก็ไม่เคยเกี่ยวข้องกล่าวอ้างว่าเกาะกูดเป็นของเขมรเลย
ต่อมาเมื่อประเทศไทยมีนักการเมืองทรยศชาติ ขายชาติ บังเกิดขึ้น ก็แอบตกลงกับเขมรให้เขมรอ้างว่าเกาะกูดเป็นของเขมร เพราะทราบดีว่าพื้นที่บริเวณเกาะกูดนั้นอุดมไปด้วยทรัพยากรพลังงานและน้ำมัน จึงคิดจะฉกฉวยเอามาแบ่งปันผลประโยชน์กันตามอำเภอใจ จากนั้นเขมรก็เริ่มอ้างว่าเป็นเจ้าของเกาะกูด
พอเขมรเอ่ยปากอ้างว่าเป็นเจ้าของเกาะกูด นักการเมืองผู้มีอำนาจของไทยก็ประสานเสียงรับว่าเกาะกูดเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับเขมรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาพิพาท สมควรร่วมกันแบ่งปันผลประโยชน์โดยขุดเจาะพลังงานเอามาแบ่งปันกัน หลังจากนั้นก็มีการเจรจาทั้งทางลับ ทางเปิดหลายครั้งเพื่อยืนยันถึงความเป็นพื้นที่ทับซ้อนและการแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งแน่นอนว่านักการเมืองผู้มีอำนาจของทั้งสองฝ่ายจะได้ใช้โอกาสนี้ปล้นสะดมเอาทรัพยากรและประโยชน์นั้นไป
ครั้นพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ก็แสดงท่าทีที่สำคัญเด่นชัดที่จะร่วมกับเขมรขุดเจาะพลังงานเอาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน โดยยอมรับว่าเกาะกูดเป็นพื้นที่ทับซ้อน จึงทำให้บรรดาผู้รักชาติทั้งหลายพากันต่อต้านคัดค้านอย่างกว้างขวาง รวมทั้งเหล่าทหารทุกเหล่าทัพก็ไม่สามารถทนเห็นสภาพอย่างนี้ต่อไปได้ จึงเกิดการเคลื่อนไหวเชิงลึก เชิงเปิด อย่างกว้างขวางทั่วทั้งกองทัพทุกเหล่าทัพ ในลักษณะไม่ยินยอมพร้อมใจให้ใครแย่งยึดเอาเกาะกูดไป
และนับวันการต่อต้านเรื่องการยอมรับเกาะกูดเป็นพื้นที่ทับซ้อนก็ขยายวงหนักหน่วงรุนแรงมากขึ้น จนถึงขั้นถูกคาดหมายว่าจะเป็นจุดเป็นจุดตายของรัฐบาลเพื่อไทยก็ได้
แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ควรจะทราบถึงผลทางกฎหมายว่าการกระทำเช่นนี้มีผลอย่างไรบ้าง
ประการแรก เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติว่าประเทศไทยจะแบ่งแยกมิได้การแบ่งแยกดินแดนเกาะกูดให้เป็นพื้นที่ทับซ้อนของเขมรจึงเป็นการผิดรัฐธรรมนูญ และกระทบต่อผลประโยชน์ยิ่งใหญ่ของชาติ เป็นการทำลายพระบรมเดชานุภาพและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย เป็นความผิดถึงขั้นต้องยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต และเป็นหน้าที่ของผู้ที่ทราบเช่นนี้ต้องไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนนักการเมืองออกจากตำแหน่ง มิให้เป็นอันตรายต่อบ้านเมืองสืบไป ซึ่งคาดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะเร่งรีบพิจารณาฉุกเฉิน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของชาติ แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินละเลยเพิกเฉยไม่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 60 วันผู้ร้องก็สามารถไปร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้และศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีด้วย
ประการที่สอง เป็นความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักร เพราะเป็นการแบ่งแยกดินแดนอันเป็นอธิปไตยของชาติส่วนใดส่วนหนึ่ง มีความผิดอาญาโทษถึงขั้นประหารชีวิต ซึ่งตำรวจสามารถดำเนินคดีเองก็ได้ ป.ป.ช. สามารถตั้งต้นเรื่องดำเนินคดีเองก็ได้ และเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนด้วยเพื่อให้มีการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดอย่างฉุกเฉิน รวดเร็ว เด็ดขาด
ประการที่สาม นายทะเบียนพรรคการเมืองอาจตั้งเรื่องตรวจสอบไต่สวนพรรคการเมืองที่คิดคดกบฏต่อชาติแบ่งแยกดินแดนให้กับชาติอื่น และยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้เพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดด้วย
เรื่องนี้นอกจากจะเป็นจุดแตกหักในการดำรงอยู่ของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นจุดชี้ขาดอนาคตของพรรคเพื่อไทยที่จะมีการดำเนินการอย่างฉุกเฉิน รวดเร็ว เพราะไม่อาจปล่อยให้อธิปไตยของชาติตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างนี้ต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี