อิรวดีสื่อของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ารายงานว่าจีนเตือนชาติพันธุ์ตะอ่าง ให้ยุติสร้างความวุ่นวายในพื้นที่ทางเหนือรัฐฉาน ใกล้ชายแดนจีน มิฉะนั้น จะถูกยับยั้งและลงโทษทางวินัย สำนักเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยเมืองรุ่ยลี่ ส่งหนังสือถึง กองกำลังชาติพันธุ์ตะอ่างกู้ชาติ (Ta’ang National LiberationArmy=TNLA) ให้#หยุดทำการสู้รบทันที และให้ความร่วมมือกับทางการจีนในการรักษาความสงบและเสถียรภาพทางเหนือรัฐฉาน ติดชายแดนจีน มิฉะนั้น จะถูกยับยั้งและดำเนินการทางวินัย
ตะอ่าง เป็นหนึ่งในกองกำลังพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยพม่า ประกอบด้วย โกก้าง ตะอ่างและอาระกัน เปิดปฏิบัติการ 2017 สงครามกับทหารพม่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีกลาย ในตอนต้นของปฏิบัติ 2017 กองกำลังแนวร่วมสามฝ่าย ได้รับการสนับสนุนจากปักกิ่ง ที่มีเป้าหมายให้ โกก้าง ตะอ่างและอาระกัน สนธิกำลังกันปราบโกก้างที่ร่วมมือกับพม่าทำให้เมืองเล่าก์ก่าย กลายเป็นแหล่งอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อปราบโกก้างในแหล่งอาชญากรรมได้แล้ว กองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยพม่า ย่ามใจยึดเมืองตอนเหนือรัฐฉานได้หลายเมือง จีนซึ่งลงทุนไว้มากมายมหาศาลในสหภาพพม่า เมื่อเห็นว่าฝ่ายต่อต้านย่ามใจ ปล่อยไว้อาจเป็นภัยต่อผลประโยชน์จีนในพม่า เดือนมกราคมที่ผ่านมา จีนเป็นตัวกลางเจรจาให้ฝ่ายต่อต้านกับทหารพม่าหยุดยิง แต่สามเดือนหลังจากนั้นแนวร่วม โกก้าง ตะอ่าง อาระกัน ก็เปิดฉากทำสงครามกับพม่าอีกครั้ง โดยคู่สงครามกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าอีกฝ่ายละเมิดข้อตกลงหยุดยิงก่อน จีนเป็นเพื่อนบ้านผู้ใหญ่ที่ทั้งสองฝ่ายเชื่อถือจึงต้องเป็นท้าวมาลีวราชจัดการให้ชายแดนจีน-พม่าสงบลงให้ได้
วันที่ 14 กรกฎาคม หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศและกรรมการกลางพรรคอมมิวนิสต์จีน เดินทางเยือนพม่า และได้ปรึกษาหารือกับ พลเอกมิน อ่อง หล่ายถึงความร่วมมือครอบคลุมหลายด้าน รวมทั้งความมั่นคงและวิกฤตการเมืองพม่า นายหวัง อี้ ส่งสัญญาณว่าพม่า ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยหลายพรรคที่ครอบคลุมผู้สมัครทุกฝ่าย โดยจีนจะให้การสนับสนุนทุกด้าน เพื่อให้มีการเลือกตั้งปีหน้า (2025) หลังจากหารือกับพลเอกมิน อ่อง หล่าย นายหวัง อี้ มาร่วมประชุมความร่วมมือกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย นายหวัง อี้ ได้ประชุมนอกรอบอย่างไม่เป็นทางการกับรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า ลาวและไทย ที่นายหวัง อี้ เสนอให้สามประเทศเพื่อนบ้านร่วมมือกันแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองในพม่า ระหว่างการหารือนายหวัง อี้ ได้ตั้งเงื่อนไขไว้ 3 ข้อ คือ 1.ยุติความวุ่นวายไม่ให้เกิดสงครามกลางเมืองในพม่า 2.พม่าต้องไม่ไขว้เขวออกนอกกรอบอาเซียน 3.ห้ามไม่ให้ภายนอกแทรกแซงพม่าโดยพลการ ข้อ 3 เชื่อว่าจีนหมายถึงอเมริกา
หลังจากนายหวังอี้กลับถึงบ้าน มีรายงานว่าชายแดนจีน-พม่ายังมีความวุ่นวาย ทหารพม่ายังสู้รบกับฝ่ายต่อต้าน และเพื่อปราบปราม ไม่ให้การสู้รบขยายวงออกไป กองทัพประชาชนจีนทางตอนใต้ ในเมืองรุ่ยลี่จัดการซ้อมรบครั้งใหญ่ โดยใช้กระสุนจริง...และทันทีที่เสร็จสิ้นการซ้อมรบ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม กรรมาธิการความมั่นคงเมืองรุ่ยลี่ ส่งหนังสือเตือน ไปยัง TNLA ให้หยุดยิงทันที
โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวระหว่างแถลงข่าวในปักกิ่งว่า...“จีนติดตามสถานการณ์ในพม่าและสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างใกล้ชิด จีนสนับสนุนการเจรจาสันติภาพและหยุดยิง ..จีนเดินหน้าส่งเสริมสันติภาพอย่างสร้างสรรค์และกระบวนการปรองดองพร้อมกับถอดชนวนความรุนแรงทางภาคเหนือของพม่า”
เมื่อสถานทูตจีนในพม่า แชร์คำพูดโฆษกกระทรวงต่างประเทศ บนเฟซบุ๊ก นักเลงคีย์บอร์ดพม่านับพันๆ รายโจมตีปักกิ่ง ว่า แทรกแซงกิจการภายในพม่า และแสดงการสนับสนุน TNLA ชาวเนตพม่ากล่าวว่า พวกเขาเข้าใจในความกังวลของจีน เรื่อง เสถียรภาพชายแดน และผลประโยชน์ของจีนในพม่า แต่จีนไม่ควรกดดันการปฏิวัติประชาชนผู้ต่อต้านรัฐบาลทหาร ถึงเที่ยงวันจันทร์ที่1 สิงหาคม ชาวเนตพม่าคอมเมนต์กว่า 1 พันคน ส่วนใหญ่ตำหนิจีน ที่ข่มขู่ TNLA
เครือข่ายหมึกยักษ์ กลุ่มกองโจรต่อต้านทหารในเมืองย่างกุ้ง คอมเมนต์ใต้โพสต์ว่า “เราเป็นนักปฏิวัติ เราฟังเสียงประชาชนเท่านั้น คอมเมนต์ที่คุณเห็น คือ คำยืนยัน..ถ้าคุณฟังเสียงประชาชน ฟังรัฐบาลประชาชน ฟังกองกำลังชาติพันธุ์และเข้าใจในความจริงคุณจะได้รับผลประโยชน์มหาศาลในฐานะเพื่อนบ้านที่ดี” และนักเลงคีย์บอร์ดบางส่วนเรียกร้องให้จีนสนับสนุนกองกำลังปฏิวัติประชาชนและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือ NUG รัฐบาลเงาฝ่ายนางซู จี แทนการสนับสนุน “ฟาสซิสต์” ทหาร หากจีนต้องการเห็นสันติภาพและเสถียรภาพในพม่าจริง”
ชาวเนตบางคนกล่าวว่าคำขู่ TNLA เป็นหลักฐานว่าจีนแทรกแซงกิจการภายในพม่า และหลายคนบอกว่าในอนาคตจีน จะต้องถูกคนพม่าทั้งประเทศลงโทษ รัฐบาลเงา หรือเอ็นยูจี ออกแถลงการณ์ประณามจีนว่า “เป็นการโอหังข่มขู่และดูแคลน TNLA และการปฏิวัติประชาชน” อดีตผู้นำนักศึกษารุ่นปฏิวัติ 888 (วันที่ 8 เดือน8 ปี 1988) นายมิงโก กล่าวผ่านทีวีต่อต้านทหาร PVTV ว่า “ผู้ที่ข่มขู่ต้องรับความจริงว่า การปฏิวัติประชาชนพร้อมเผชิญหน้ากับทุกสิ่งทุกอย่าง พวกเราไม่สยบให้กับการรังแกของมหาอำนาจ พวกเราไม่ปล่อยให้การข่มขู่มาทำลายการปฏิวัติ”
ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านในเมืองใหญ่หันมาใช้คีย์บอร์ด แทนปืนทำสงครามน้ำลาย ด้านรัฐบาลทหารพม่าก็ประกาศจะเริ่มสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะสถานในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเตรียมพร้อมให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า โดยใช้เทคโนโลยีที่ได้รับความช่วยเหลือจากจีน เก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและครัวเรือน ระหว่างวันที่ 1 ถึง 15 ตุลาคม สื่อทางการพม่ารายงานเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ว่า พลเอกมิน อ่อง หล่าย กล่าวเรื่องนี้ระหว่างที่ประชุมเตรียมการเลือกตั้ง..“การทำสำมะโนประชากรมาใช้เพื่อความถูกต้องแม่นยำในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งมีความจำเป็นเบื้องต้นเพื่อการเลือกตั้งเสรี และยุติธรรมในการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยหลายพรรค” พลเอกมิน อ่อง หล่าย กล่าวผ่านทีวีรัฐ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม
การสำมะโนประชากรของพม่ายังล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก มีรายงานว่า การเลือกตั้งพฤศจิกายน 2564มีบัตรเลือกตั้งคลาดเคลื่อนมากถึง 11 ล้านใบ ข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย กับข้อมูลในหน่วยเลือกตั้งไม่ตรงกันเนื่องจากบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งกับบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งของกระทรวงมหาดไทยคนละชุดกัน ดังนั้น หากพม่าได้รับการช่วยเหลือจากจีนทางด้านเทคโนโลยีและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทันสมัย เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปในพม่า จะมีข้อครหาน้อยกว่าที่แล้วมามาก
การเลือกตั้งในประเทศพม่า ที่ประเทศตะวันตกซึ่งมีอคติประณามตั้งแต่เตรียมการว่า “น่าละอายและไม่ยุติธรรมคิดว่า ผลการเลือกตั้งจะรู้ล่วงหน้าเมื่อหลายพรรค รวมทั้งพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซู จี และ 17 พรรคที่เป็นแนวร่วมของนางถูกแบนฐานเป็นผู้ก่อการร้ายต่อต้านรัฐบาล”
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพพม่ามีประชากร 55 ล้านคน ตกอยู่ในความวุ่นวายตั้งแต่ทหารยึดอำนาจจากพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ในข้อหาโกงการเลือกตั้ง แต่ผู้เชี่ยวชาญกิจการพม่า และอาเซียน กล่าวว่านางออง ซาน ซู จี เจ้าเล่ห์เพทุบายคล้ายอดีตนายกรัฐมนตรีบางคนของประเทศไทย ที่มีพฤติกรรมนอกกฎหมายจนได้อำนาจ
“...รัฐธรรมนูญพม่า ห้ามผู้ที่มีคู่สมรสหรือบุตรธิดาต่างชาติเป็นประธานาธิบดี แต่นางซู จี ตั้งตัวเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่มีอำนาจเหนือประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกโดยรัฐสภา”...นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญพม่า และอาเซียน กล่าวด้วยว่า “รัฐธรรมนูญพม่า แบ่งอำนาจให้การเมือง 75% และให้กองทัพ 25%เมื่อการเมืองเอา 100% ก็ถูกยึดอำนาจ ตะวันตกและอเมริกาไม่สามารถช่วยได้ เพราะฝรั่งไม่เข้าใจบริบทการเมือง สังคม และทหารพม่า” ผู้เชี่ยวชาญพม่ากล่าว
เขากล่าวว่า พม่าไม่มีสถาบันสูงสุดเหมือนประเทศไทย ดังนั้นกองทัพจึงเป็นสถาบันของพม่าที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ซึ่งจีนเข้าใจบริบทสังคม การเมืองและกองทัพพม่าดี จีนจึงสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญพม่า “เมื่อมังกรคำรามออกมา นักปฏิวัติชานม ต้องก้มหน้าทำสงครามน้ำลายในโซเชียลต่อไป” ผู้เชี่ยวชาญพม่าและอาเซียนกล่าวสรุป
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี