มีความกังวลระแวง ว่ารัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร จะสานต่อความสัมพันธ์ของคนรุ่นพ่อ คือ ทักษิณ ชินวัตรกับฮุนเซน อดีตผู้นำกัมพูชา ที่ปัจจุบัน ทั้งไทยและกัมพูชา มี “คนรุ่นลูก” ขึ้นมาเป็นายกรัฐมนตรี คือ“ฮุน มาเนต-แพทองธาร”MOU 2544 กลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง ว่าด้วยสิทธิทับซ้อนและเขตแดนทับซ้อน ที่เป็นที่กังวลว่า จะนำพาไปการสูญเสีย “เกาะกูด” เหมือนที่เราเคยเสีย “เขาพระวิหาร” ให้แก่กัมพูชามาแล้ว
1) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “อย่าปล่อยให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนเพิ่มด้วยข้ออ้างเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน” ระบุว่า ข้ออ้างรัฐบาลเจรจาพื้นที่อ้างว่าทับซ้อนกันทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน เป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่มโหฬารถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร ไม่มีประเทศไหนที่จะมีพื้นที่อ้างว่าทับซ้อนกัน ที่มีขนาดใหญ่ได้ถึง 26,000 ตารางกิโลเมตรอย่างกรณีนี้เลย
ขอให้ดูแหล่ง JDA พื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย มาเลเซียมีขนาดพื้นที่เพียง 7,250 ตารางกิโลเมตรเท่านั้นหากจะมีพื้นที่ที่ทับซ้อนกันจริงระหว่างไทยกับกัมพูชา ก็ไม่ควรมีพื้นที่ใหญ่เกินกว่าแหล่ง JDA ที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่าง ไทย กับ มาเลเซีย
รัฐบาลที่อ้างว่าสนิทชิดเชื้อกับผู้นำฝ่ายกัมพูชาควรเกลี้ยกล่อมให้กัมพูชายอมรับการเจรจาแบ่งเขตแดน ตามกฎหมายทะเลให้เสร็จสิ้นเสียก่อน การจัดการผลประโยชน์ทางทะเล
การเจรจาแบ่งเขตแดน และแบ่งผลประโยชน์ตาม MOU 2544 ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายทะเล ย่อมมีข้อน่าสงสัยในเจตนาและความโปร่งใสของรัฐบาลว่าเป็นเจตนาดีต่อประเทศจริงหรือไม่ หรือสนใจเพียงผลประโยชน์ของนักการเมืองและกลุ่มทุนเท่านั้น ใช่หรือไม่
ใน MOU 2544 มีข้อตกลงว่าพื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่11 องศาเหนือ ให้เจรจาแบ่งเขตแดน ส่วนใต้เส้นละติจูด11 องศาเหนือ เป็นการแบ่งผลประโยชน์กัน โดยมีการกำหนดสัดส่วนแบ่งผลประโยชน์ไว้แล้ว คือส่วนที่ติดฝั่งไทยไทยได้ 90% กัมพูชาได้ 10% ตรงกลางแบ่งกัน 50:50 ส่วนที่ติดฝั่งกัมพูชา ไทยได้ 10% กัมพูชาได้ 90% (ดูรูป 1))
การกำหนดสัดส่วนแบ่งผลประโยชน์เช่นนี้ ย่อมกระทบต่อดินแดนในอธิปไตยของไทยทั้งดินแดนส่วนที่อยู่เหนือ และอยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนืออย่างแน่นอน ใช่หรือไม่
การแบ่งเขตแดนและแบ่งผลประโยชน์แบบในข้อตกลง MOU 2544 ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายทะเล ที่เส้นเขตแดนทางทะเลต้องลากเส้นกึ่งกลางจากเกาะกูดของไทย และเกาะกงของกัมพูชา (ดูรูป 2)
การแบ่งผลประโยชน์ตามรูปที่1 กัมพูชาจะสามารถอ้างสิทธิเป็นเจ้าของดินแดนเพิ่มขึ้นในภายหลังได้ ดินแดนที่เคยเป็นของไทยตามกฎหมายทะเล จะกลายเป็นดินแดนของกัมพูชา เพราะการมีผลประโยชน์แม้เพียง 10% ก็ย่อมสามารถอ้างสิทธิในดินแดนตรงจุดนั้นได้ ใช่หรือไม่
ข้ออ้างว่าต้องรีบเร่งแบ่งผลประโยชน์กันเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน แท้ที่จริงแล้วเป็นความมั่นคงทางพลังงานของใครกันแน่ ?!?
ต่อให้ได้ก๊าซและน้ำมันจากพื้นที่นี้ คนไทยก็ไม่มีหวังจะได้ค่าไฟที่ถูกลง ค่าน้ำมันที่ถูกลง และค่าก๊าซหุงต้มที่ถูกลง มีแต่นักการเมืองและกลุ่มทุนพลังงานจะรวยขึ้น แต่ประเทศต้องเสี่ยงในการเสียดินแดนเพิ่มขึ้น ใช่หรือไม่
2) เว็บไซต์ ไทยพับบลิก้า ระบุว่า ที่มาของการอ้างสิทธิ์เหนือไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยและกัมพูชาเกิดจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 2 ฉบับคือ อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลค.ศ. 1982 ที่ได้บัญญัติเขตอำนาจของรัฐชายฝั่งเหนือไหล่ทวีป โดยกำหนดให้รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยเหนือทรัพยากรธรรมชาติบนและใต้ไหล่ทวีป ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม สิทธิเช่นว่านั้นรัฐชายฝั่งจะใช้เองหรือให้สัมปทานแก่บุคคลใดเข้าไปสำรวจหรือแสวงหาประโยชน์ได้
กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปของตนเอง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1970 (พ.ศ. 2513) และอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1972 โดยอาศัยหลักเขตแดนทางบก
หลักที่ 73 เป็นจุดตั้งต้น จากนั้นลากเส้นตรงไปทางตะวันตกค่อนลงไปทางใต้เล็กน้อยผ่านเกาะกูดถึงประมาณกลางอ่าวไทย แล้วหักลงใต้เกือบสุดอ่าวไทย แล้วหักขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ โอบล้อมเกาะภูกว๊อก แล้วไปบรรจบเส้นเขตแดนกัมพูชา-เวียดนาม
ประเด็นเรื่องเกาะกูดยังมีความคลุมเครืออยู่ ในเอกสารการประกาศไหล่ทวีปปรากฏว่า มีการลากเส้นผ่านกลางเกาะกูด เป็นการแสดงเจตนาอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือบางส่วนของเกาะกูด เจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชาเคยอ้างระหว่างการเจรจากับฝ่ายไทยเนืองๆ ว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชาครึ่งหนึ่ง แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดตามแผนที่แนบท้ายแล้วจะพบว่า เส้นที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตไหล่ทวีปนั้นได้เว้นเกาะกูดเอาไว้ และในแผนผังแนบท้ายบันทึกความเข้าใจปี 2544 ได้มีการเว้นเส้นที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตแดนทางทะเลในลักษณะที่เป็นตัว U เว้าอ้อมเกาะกูด ทำให้ฝ่ายไทยตีความว่า กัมพูชาไม่ได้อ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด
ข้อโต้แย้งอีกประการหนึ่งของฝ่ายไทยคือ เกาะกูดนี้ถูกระบุเอาไว้สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1907 ชัดเจนแล้วว่าอยู่ในเขตไทย เนื่องจากถ้อยคำในสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งฝ่ายกัมพูชาใช้อ้างอิงในการกำหนดเขตทางทะเลระบุว่า “เขตแดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลที่ตรงข้ามยอดเขาที่สูงที่สุดของเกาะกูดเป็นหลักแล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไปทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือถึงสันเขาพนมกระวานแล”
อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี 1907 นั้นให้ใช้เกาะกูดเป็นจุดเล็งเพื่อกำหนดเส้นเขตแดนทางบก ไม่ใช่สนธิสัญญาที่กำหนดเขตแดนทางทะเลแต่อย่างใด ฝ่ายไทยใช้ประโยชน์จากข้อความนี้เพื่ออ้างอิงอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด ไม่ใช่การกำหนดเขตไหล่ทวีป
ประเทศไทยประกาศเขตไหล่ทวีปของตัวเองหลังกัมพูชาเกือบ 1 ปี คือประกาศเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1973โดยอาศัยหลักเขตทางบกหลักที่ 73 เป็นจุดตั้งต้นเช่นกันโดยลากเส้นจากจุดที่ 1 ที่ละติจูด 11 องศา 39 ลิปดาเหนือและลองจิจูดที่ 102 องศา 55 ลิปดาตะวันออก ไปยังจุดที่สองละติจูด 9 องศา 48.5 ลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ 101 องศา 46.5 ลิปดาตะวันออก ถ้าพิจารณาตามภูมิประเทศแล้วจะพบว่า เส้นของไทยเริ่มจากบริเวณระหว่างเกาะกูดและเกาะกงลากเป็นเส้นตรงไปทางตะวันตกเฉียงใต้แล้วหักลงใต้ค่อนไปทางตะวันออกเล็กน้อยตามแนวเส้นเขตแดนระหว่างกัมพูชากับเวียดนามแล้วเฉียงใต้ไปบรรจบเส้นเขตแดนไทย-มาเลเซีย
นักกฎหมายไทยส่วนใหญ่มักอ้างว่าฝ่ายกัมพูชากำหนดเขตไหล่ทวีปฝ่ายเดียวโดยไม่ได้อ้างอิงหลักกฎหมายระหว่างประเทศใดๆ เลย ในขณะที่ไทยอ้างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ซึ่งแม้ว่าจะสร้างขึ้นภายหลังจากการประกาศเขตไหล่ทวีปของทั้งสองประเทศแล้วก็ตามแต่ก็อาศัยพื้นฐานของอนุสัญญาเจนีวาปี ค.ศ. 1958 (ซึ่งไทยเป็นภาคีอยู่ก่อนและยังคงมีผลบังคับใช้อยู่)
แต่หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์นั้นอ่าวไทยมีความกว้างมากที่สุดเพียง 206 ไมล์ทะเล อนุสัญญาสหประชาชาติอนุญาตให้ประเทศชายฝั่งอ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีปไปได้ถึง 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน ดังนั้นไม่ว่าประเทศชายฝั่งอ่าวไทยทั้งหลายจะประกาศตามหลักการใดหรือไม่มีหลักการใดเลย ก็จะเกิดพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันอยู่นั่นเอง ป่วยการที่จะมานั่งเถียงกันว่า เส้นของฝ่ายไหนถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศมากกว่ากัน เพราะอย่างไรเสียอีกฝ่ายก็ไม่ยอมรับการกำหนดของอีกฝ่ายอยู่แล้ว
เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเกิดเป็นพื้นที่ซึ่งอ้างสิทธิทับซ้อนกันในอ่าวไทยคิดเป็นพื้นที่กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าใต้พื้นพิภพใต้บาดาลนั้นจะมีก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณ 11 ล้านล้านคิวบิกฟุตหรือคิดเป็นมูลค่าในราคาปัจจุบัน 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมันอีก 500 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท รอคอยให้ขุดขึ้นมาใช้กันอยู่ถ้ามัวแต่ทะเลาะเบาะแว้งโต้แย้งสิทธิกันไปมาอยู่อย่างนั้นคงไม่มีโอกาสจะได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรล้ำค่า
อาศัยตามภูมิปัญญาของมนุษยชาติในยุคปัจจุบันแล้ว ประเทศชายฝั่งที่พิพาทกันในเรื่องเขตแดนทางทะเลหรือไหล่ทวีป สามารถเลือกวิถีทางที่ระงับข้อพิพาทได้ 2 ทางใหญ่ๆ คือ
ทางแรก ใช้กลไกตามกฎหมายและระบบยุติธรรมระหว่างประเทศ เช่น ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลอนุญาโตตุลาการ ตามภาคผนวกที่ 7 ของอนุสัญญาสหประชาชาติปี 1982 และ อนุญาโตตุลาการพิเศษตามภาคผนวก 8 ของอนุสัญญาสหประชาชาติฉบับเดียวกัน วิธีการนี้เลือกใช้กันหลายประเทศเช่นกัน แต่อุทาหรณ์และประสบการณ์จากคดีปราสาทเขาพระวิหารนั้นบอกให้รู้ว่า ต่อให้มั่นใจในพยานหลักฐานและหลักกฎหมายเพียงใดก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะเป็นฝ่ายชนะคดี และฝ่ายที่แพ้คดีมักจะไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลหรืออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ เกิดการตีความคำพิพากษานั้น และขัดแย้งกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถจัดการพื้นที่พิพาทในบริเวณปราสาทเขาพระวิหารนั้นได้เลย
ทางที่สอง ซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาเลือกใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ เจรจากันจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่สามารถยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย แนวทางนี้อาจจะใช้เวลานานชั่วลูกชั่วหลาน ระหว่างนั้นอาจจะมีข้อขัดแย้งกันไม่น้อยแต่ถ้าสามารถบรรลุข้อสรุปที่พอใจกันทุกฝ่ายแล้ว จะทำให้มีโอกาสยุติปัญหาข้อพิพาทได้โดยสันติ อีกทั้งมิตรภาพและความรอมชอมอันนั้นนั่นเอง ที่จะเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่าย เช่น กรณีไทยและมาเลเซีย สามารถขุดค้นทรัพยากรในพื้นที่พิพาทขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ก่อนทันกับความต้องการ
3) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรือ อาจารย์อุ๋ยนักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานครเขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่ากรณีพื้นที่พิพาททางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา บริเวณเกาะกูด เป็นของไทยนับแต่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 กับฝรั่งเศสทำสนธิสัญญากันเมื่อปี พ.ศ. 2450 หรือ ร.ศ.125
ซึ่งฝรั่งเศสตกลงคืนจันทบุรี ตราด และเกาะกูดให้แก่สยาม แลกกับดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้แก่ จังหวัดเสียมราฐพระตะบอง ศรีโสภณ ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวมีความสมบูรณ์ในตัวเองตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
และในปี พ.ศ. 2516 รัฐบาลไทยสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ลากเส้นเขตแดนไทยโดยวัดจากจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง โดยประกาศพิกัดภูมิศาสตร์ของไหล่ทวีปในอ่าวไทยทั้งสิ้น 18 จุด ลากเส้นผ่านอ่าวไทยจากบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่จังหวัดตราด ไปจนถึงชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่จังหวัดนราธิวาส ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ณ กรุงเจวีนา ค.ศ. 1958
ส่วนเส้นเขตแดนที่กัมพูชากำหนดเองในปีพ.ศ. 2515 ซึ่งลากผ่ากลางเกาะกูดนั้น เป็นการขีดเส้นโดยไม่มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ กัมพูชาจึงไม่มีสิทธิใดๆ ในพื้นที่ และการลากเส้นตามอำเภอใจโดยไม่มีกฎหมายรองรับเช่นนี้จึงถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยอย่างชัดแจ้ง
ส่วน MOU 44 ที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายไปตกลงแบ่งพื้นที่กันเองก็ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีการรับรองโดยรัฐสภา ทั้งที่ถือเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจ
ของรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา จึงตกเป็นโมฆะ ไม่จำต้องนำมาพิจารณาบนโต๊ะเจรจาอีก
เมื่อยึดตามหลักการข้างต้นแล้ว จึงมิพักต้องพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็น “พื้นที่ทับซ้อน” อีกต่อไป แต่ถือเป็นพื้นที่ที่รัฐไทยมีอธิปไตยโดยสมบูรณ์ นับแต่ในหลวง
รัชกาลที่ 5 ทรงทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2450ประเทศไทยจึงมีสิทธิโดยสมบูรณ์ในการส่งกองกำลังเข้ายึดตรึงพื้นที่เกาะกูด และพื้นที่ทางทะเลที่เกี่ยวเนื่อง โดยไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะถือเป็นพื้นที่ของประเทศไทยเอง หาใช่เป็นการรุกรานประเทศอื่นไม่ และหลังจากประเทศไทยส่งกองกำลังเข้าตรึงพื้นที่แล้ว หากกัมพูชาจะขอเปิดการเจรจา ก็สามารถร้องขอมาได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายไทยว่าจะยอมเจรจาหรือไม่ หรือหากคิดว่าฝ่ายไทยสามารถบริหารแหล่งพลังงานแต่ฝ่ายเดียวได้ ก็ทำไปเลย เพราะเป็นพื้นที่ของไทย
“ผมเชื่อว่าหากมีการเจรจาก็จะต้องดำเนินไปโดยที่ประเทศไทยถือไพ่เหนือกว่าทุกประตู เพราะประเทศไทยเหนือกว่ากัมพูชาในทุกด้าน ทั้งด้านกำลังทหารและด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งอำนาจต่อรองของประเทศไทยบนเวทีโลกและความสำคัญของประเทศไทยที่มีต่อประเทศมหาอำนาจก็มากกว่ากัมพูชาไม่รู้กี่เท่า ซึ่งผมมั่นใจว่าหากถึงเวลาที่ต้องเลือก สุดท้ายแล้วประเทศมหาอำนาจจะเลือกข้างประเทศไทย”
สุดท้ายนี้ขอฝากไปยังผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ให้ทำหน้าที่รักษาอธิปไตยของประเทศอย่างเต็มที่ มิเช่นนั้นท่านจะตกเป็นคนขายชาติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119 ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต ด้วยความปรารถนาดี
สรุป : ต้องติดตามเรื่องนี้ และถามจุดยืนจากนายกรัฐมนตรีให้ชัดเจน เพราะดูเหมือนว่า อีกไม่นานหลังจากนี้ นายกรัฐมนตรีไทย มีความตั้งใจจะไปเยือนกัมพูชา ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ว่า เธอจะไปเจรจาเรื่องใด (แล้วแต่บทที่เขียนไว้ในไอแพดของเธอ) !!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี