บ้านเมืองไทยมีปัญหามากมายหลายร้อยหลายพันเรื่อง ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนั้นมีทั้งปัญหาเก่าๆ ที่หมักหมมมายาวนาน และปัญหาใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ต้องบอกว่าต้นเหตุของปัญหาใหญ่ๆ จำนวนไม่น้อยในสังคมไทยมีรากเหง้าต้นตอของปัญหามาจากรัฐบาล นักการเมือง และข้าราชการ แต่ก็มีอีกหลายปัญหาเกิดมาจากภาคเอกชน และบางปัญหาก็เกิดมาจากภาคประชาชน สรุปรวมว่าปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยล้วนมีมูลเหตุมาจากสมาชิกของสังคม แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นตัวสร้างปัญหามากหรือน้อย
คำถามคือเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ใครต้องแก้ปัญหา จะให้รัฐบาลแก้ หรือให้ประชาชน ให้เอกชนแก้ ตอบว่าก็ต้องร่วมต้องช่วยกันแก้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางปัญหานั้นรัฐบาลก็ไม่พยายามแก้ ไม่ตั้งใจแก้ แต่กลับปล่อยให้เรื้อรังคาราคาซังกินเวลายาวนานหลายทศวรรษ ทั้งๆ ที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาให้ได้ เพราะรัฐบาลมีอำนาจรัฐ แต่ก็เข้าใจได้ว่าบางปัญหาที่ยังคงดำรงอยู่นั้น เป็นเพราะรัฐบาลไม่ต้องการแก้ ไม่จริงใจแก้ปัญหา เพราะหากแก้ปัญหาเหล่านั้น ก็จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปถึงตัวของรัฐบาลเอง เพราะว่ารัฐบาลเป็นผู้ก่อปัญหาเหล่านั้นขึ้นมา
ตัวอย่างล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้คือปัญหาโศกนาฏกรรมตากใบ นราธิวาส เรื่องนี้เกิดระเบิดและปะทุขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปจวบจนบัดนี้ ก็ยังไม่มีรัฐบาลใดแก้ปัญหา แต่กลับปล่อยให้คดีหมดอายุความลงอย่างน่าสงสัย จนทำให้เกิดคำวิจารณ์ว่ารัฐบาลจงใจปล่อยให้คดีหมดอายุความโดยไม่พยายามติดตามหาตัวผู้ต้องหาไปสู้คดีบนศาล
ย้ำว่าคดีตากใบ หรือโศกนาฏกรรมตากใบเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนเป็นเหตุให้มีคนตาย 85 คน และมีผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน โดยบางคนบาดเจ็บสาหัส แต่บางคนบาดเจ็บเล็กน้อย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คนที่ประสบเหตุโศกนาฏกรรมนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องของคนตาย และคนบาดเจ็บ และญาติของผู้บาดเจ็บต่างก็มีบาดแผลในใจด้วยกันทุกคน ส่วนคนที่ก่อเหตุก็หนีไม่พ้นการเกิดบาดแผลในใจของตนเช่นกัน เพราะฉะนั้นต่อให้ผู้ต้องหาจะจงใจหนีคดีจนคดีขาดอายุความ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหนีความผิดที่รู้อยู่แก่ใจไปได้
หลายคนที่ติดตามเหตุโศกนาฏกรรมตากใบยังจำได้ดีว่า ในเวลาประมาณ 20 ปีที่ผ่านมานั้น ได้มีการแพร่ภาพในสื่อ social media ที่มีอยู่ยังไม่มากนักในขณะนั้น แต่ที่แพร่หลายกันมากๆ คือการแจกจ่ายภาพเหตุการณ์ที่แสนโหดร้ายผ่านแผ่นซีดี โดยซีดีบันทึกเหตุการณ์ตากใบมีทั้งที่เกินความจริง และมีทั้งที่เป็นความจริง และหลายคนยังจำได้ดีว่ารัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้นถึงกับประกาศว่าใครมี หรือครอบครองแผ่นซีดีที่บันทึกเหตุการณ์ตากใบจะมีความผิด รัฐบาลทักษิณจะฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ครอบครอง โดยรัฐบาลอ้างว่าเนื้อหาในซีดีเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ และมุ่งโจมตีรัฐบาล แต่คำถามคือ แล้วเหตุใดรัฐบาลไม่ทำความจริงของคดีให้ปรากฏ
คนที่ติดตามเหตุการณ์ตากใบจำได้ดีว่ามีการอ้างว่าคนเสียชีวิตในระหว่างลำเลียงจากตากใบ นราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานีห่างกันประมาณ 150 กิโลเมตร เพราะว่าอ่อนแอ เนื่องจากอดอาหารในระหว่างช่วงรอมฎอน หลายคนจำได้ดีว่าทางการอ้างว่าตายเพราะขาดอากาศ ซึ่งหลายคนหัวเราะด้วยความสมเพช และขมขื่นมาก กับคำอ้างว่าตายเพราะขาดอากาศ แต่มันก็คือคำอ้างจากฝั่งผู้มีอำนาจรัฐ และจากหน่วยงานของรัฐจนทำให้หลายคนถามประชดว่า แล้วมันมีใครบ้างที่ตายเพราะมีอากาศหายใจมากเกินไป
เหตุการณ์หรือโศกนาฏกรรมตากใบไม่ได้ถูกนำไปสู่กระบวนการแสวงหาความจริงแต่อย่างใดในยุคที่ทักษิณ ชินวัตร มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้จนกระทั่งเปลี่ยนรัฐบาลไปตั้งหลายชุด ก็ยังคงดูเสมือนว่าไม่มีความจริงใจที่จะสร้างความกระจ่างในคดีดังกล่าว จนมาถึงยุครัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากการรัฐประหาร ได้ออกมากล่าวคำว่าขอโทษกับการที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมตากใบ ส่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ใช้การแก้ปัญหาด้วยการจ่ายเงินให้กับญาติคนตาย และคนที่บาดเจ็บจากโศกนาฏกรรมตากใบ โดยให้เงินกับญาติคนตายรายละ 7.5 ล้านบาท และคนบาดเจ็บรายละ 5 แสนบาท แต่ก็ไม่ได้ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้น หรือหมดสิ้นไป
ส่วนภาคประชาสังคมที่มีตามตั้งใจจริงที่จะหาความจริงจากเหตุโศกนาฏกรรมตากใบก็พยายามค้นหาความจริง แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มพยายามใช้โศกนาฏกรรมตากใบเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความรุนแรงในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะไม่ต้องการให้เกิดความสงบ และความสันติในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนทหารและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของดินแดนก็ถูกกล่าวหาและถูกมองว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ทำงานไม่ได้ผล แต่ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณมากกว่า เพราะในขณะที่งบประมาณถูกใช้ไปจำนวนมหาศาล แต่ก็ยังคงเกิดเหตุลอบฆ่า ลอบทำร้ายร่างกายคนกลุ่มต่าง รวมถึงทหาร ตำรวจ และภิกษุสงฆ์เป็นประจำ พร้อมๆ กับการลอบวางระเบิดเพื่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย และหวังทำลายทรัพย์สินประชาชน และทรัพย์สินสาธารณะเป็นประจำ
แม้จะมีความพยายามให้เห็นว่ารัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ตั้งใจจะให้ความจริงของโศกนาฏกรรมตากใบปรากฏ แต่ก็ไม่มีผลสัมฤทธิ์ใดๆ บังเกิดขึ้นแม้จะตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงกรณีตากใบ แต่ก็ไม่มีผลลัพธ์ใดๆ ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
หลายคนจำได้ดีว่ามีคณะกรรมการอิสระสอบหาข้อเท็จจริงตากใบ ประกอบด้วย วิทุร แสงสิงแก้ว เรวัต ฉ่ำเฉลิม ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ ขวัญชัย วศวงศ์ ดรุณ โสตถิพันธุ์ อิสมาแอ อาลี จรัญ มะลูลีม อาคิส พิทักษ์คุมพลวีระยุค พันธุเพชร และนิพนธ์ ฮะกีมี โดยคณะกรรมการฯ รายงานสิ่งที่ได้กับรัฐบาล เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 แต่ทว่าข้อค้นพบที่อ้างว่าได้ก็ไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนนำเสนอว่าคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้สรุปว่าวิธีการสลายการชุมนุมตากใบนั้น มีการใช้กำลังติดอาวุธและใช้กระสุนจริง และระบุว่าใช้กำลังทหารเกณฑ์ และทหารพราน ซึ่งมีวุฒิภาวะไม่มากพอในการควบคุมสถานการณ์ และสลายการชุมนุม จนถึงกับระบุว่าเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามแบบแผนการควบคุมและสลายฝูงชน และไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสากล
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังพบว่าผู้บังคับบัญชาที่ควบคุมสถานการณ์ตากใบ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเหตุการณ์ มีพฤติกรรมละเลยไม่ควบคุมดูแลการลำเลียงผู้ที่ถูกควบคุมตัว และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมประท้วงที่ถูกควบคุมตัวให้แล้วเสร็จ แต่กลับปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทหารชั้นผู้น้อย ที่มีข้อจำกัดด้านประสบการณ์การควบคุมและสลายฝูงชน และมีข้อบ่งชี้โดยผลสอบจากคณะกรรมการฯ ดังนี้ (พล.ท. ยศในขณะนั้น) พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา (พล.ต.) สินชัย นุตสถิตย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4ผู้ได้รับคำสั่งจากแม่ทัพภาคที่ 4 ให้จัดเตรียมน้ำ อาหาร และพื้นที่รองรับผู้ถูกควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ปฏิบัติงานไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา จากกรณีพบว่าในรถบรรทุกมีคนตาย แต่กลับมิได้มีคำสั่งหรือดำเนินการใดๆ กับผู้ควบคุมรถบรรทุก หรือผู้ถูกควบคุมที่จอดรออยู่ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้น (พล.ต.) เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ผู้ควบคุมกำลังและเป็นหน่วยภาคยุทธวิธีในการสลายการชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ปฏิบัติงานไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา จากกรณีไม่อยู่ควบคุมดูแลภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วง แต่ได้ออกจากพื้นที่ไปพบนายกรัฐมนตรี ที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่าคดีตากใบดำเนินมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร พ.ศ. 2547 จนมาถึงล่าสุด 25 ตุลาคม 2567 เป็นวันที่คดีขาดอายุความ โดยคดีนี้ผ่านรัฐบาลมาแล้วดังนี้ ทักษิณ ชินวัตร สุรยุทธ์ จุลานนท์สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประยุทธ์ จันทร์โอชา เศรษฐา ทวีสิน และแพทองธาร ชินวัตร
หากจะย้อนกลับไปดูการฟ้องร้องคดีนี้ ตั้งแต่ปี 2547 ก็จะพบว่ามีการฟ้องร้องคดีนี้ ดังนี้ คดีการชุมนุม โดยแกนนำการชุมนุม 59 คน ในข้อหาปลุกปั่นยุยงให้เกิดความวุ่นวาย แต่คดีนี้ถูกถอนฟ้องในยุครัฐบาลสุรยุทธ์ เพราะมีเหตุผลด้านความมั่นคง โดยบอกว่าการยุติคดีนี้จะช่วยให้เกิดประโยชน์กับสามจังหวัดชายแดนใต้ และเมื่อถอนคดีแล้วจะให้ประโยชน์สาธารณะ ช่วยให้เกิดความปลอดภัยและมั่นคงของชาติมากขึ้น
คดีต่อมาคือคดีแพ่งที่ฟ้องร้องโดยญาติผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บจนเป็นเหตุให้ทุพพลภาพ ได้รวมตัวยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการเสียชีวิตและการบาดเจ็บในการขนย้ายผู้ที่ถูกจับกุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ แบ่งเป็น 7 สำนวนช่วงปี พ.ศ. 2548 ถึง 2549 จากนั้นได้มีการเจรจาและประนีประนอมกันในชั้นศาล จนผู้เสียหายได้รับการเยียวยาทางแพ่ง จึงถือว่าเป็นอันสิ้นสุดในส่วนของคดี
คดีผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุม ในช่วงเวลาการสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชุมนุม 7 คน โดยเจ้าหน้าที่เองไม่สามารถระบุผู้ที่ทำให้บุคคลทั้ง 7 เสียชีวิตได้ เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม ทำให้พนักงานอัยการสั่งให้ยุติการสอบสวน เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต
คดีมีผู้เสียชีวิตจากการขนย้าย ในการฟ้องร้องคดีที่เกิดผู้เสียชีวิตจากการขนย้ายจากหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จำนวน 78 คน พนักงานอัยการได้ยื่นขอเปิดการไต่สวนการเสียชีวิตโดยศาล อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของผู้ที่ถูกควบคุมตัวจำนวนมากภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐได้อ้างว่าตนได้ปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา 150 การไต่สวนกินระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 โดยศาลสรุปสำนวนในคดีดังกล่าวว่า สาเหตุของการเสียชีวิตของทั้ง 78 คนนั้นเกิดจาก การขาดอากาศหายใจ ไม่ได้มีหลักฐานปรากฏว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานทำตามหน้าที่ ซึ่งในคดีดังกล่าวมี (พลเอก) พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นจำเลย พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้กับอัยการ ซึ่งในเวลานั้นอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่มีปรากฏพยานหลักฐาน ว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต ซึ่งในเวลานั้นผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นเช่นเดียวกับอัยการ จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีดังกล่าวสิ้นสุดลง
สรุปคือ จากเหตุการณ์เมื่อมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือเป็นการตายผิดธรรมชาติที่ต้องชันสูตรพลิกศพ และต้องทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้ศาลไต่สวน โดยผู้เสียชีวิตจากการถูกยิง 7 คน ไม่มีการไต่สวนผลชันสูตรพลิกศพ โดยพบว่าปลายปี พ.ศ. 2549 มีหนังสือของอัยการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น ลงความเห็นว่าไม่พบผู้กระทำความผิด ให้งดการสอบสวน ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 78 คน ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งผลการไต่สวนสำนวนชันสูตรพลิกศพ ในปี พ.ศ. 2552 ว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ผลการไต่สวนสำนวนการชันสูตรพลิกศพของศาล จะต้องถูกส่งไปให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาด ซึ่งปรากฏว่าสำนวนดังกล่าวไม่เคยถูกส่งถึงอัยการสูงสุด
ครั้นในยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สั่งจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีตากใบ จำนวน 987 ราย วงเงินรวมกว่า 641 ล้านบาท โดยครอบคลุมกรณีการเสียชีวิต จำนวน 85 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท
การทุพพลภาพ จำนวน 1 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท
การบาดเจ็บ จำนวน 49 ราย รายละระหว่าง 2.25 แสนบาทจนถึง 4.5 ล้านบาท
การถูกดำเนินคดี จำนวน 30 ราย รายละ 3 หมื่นบาท
การถูกควบคุมตัวแต่มิได้ถูกดำเนินคดี จำนวน 794 รายรายละ 1.5 หมื่นบาท
การเยียวยาดังกล่าวกระทำผ่าน ระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2555 ซึ่งดำเนินการโดย ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในเวลานั้น
เมื่อเรื่องนี้ไม่จบแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงเกิดการรื้อฟื้นคดีความใน พ.ศ. 2567 โดยเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 คดีนี้ได้กลับสู่กระบวนการแสวงหาความเป็นธรรมอีกครั้ง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งสำนวนคดีอาญาของสถานีตำรวจภูธรหนองจิก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พร้อมสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพไปยังอัยการสูงสุด พร้อมมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจนถึงขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของอัยการสูงสุด โดยผู้เสียหายจำนวน 48 ครอบครัว เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ รวม 9 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวต่อศาลจังหวัดนราธิวาส
กระทั่งวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งรับฟ้องคดีจำเลยรวม 7 คนในข้อหาฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว และยกฟ้องจำเลยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำนวน 2 คน ได้แก่ (พล.ท.) สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และ (พ.ต.อ.) ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรตากใบ ซึ่งครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 48 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง โดยศาลเห็นว่าคดีมีมูลตามที่โจทก์ยื่นพยานหลักฐานและมีเหตุการณ์สลายการชุมนุม และการเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นจริง โดยจำเลย 7 คน ที่ศาลรับฟ้อง ประกอบด้วย พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และอดีตสมาชิกวุฒิสภา มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และอดีตสมาชิกวุฒิสภา ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรตากใบ ศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
แต่สุดท้ายแล้ว คดีนี้ก็หมดอายุความลง โดยที่ยังทิ้งปมคาใจให้กับผู้ที่แสวงหาความยุติธรรมในสังคมไทย และที่สำคัญคือทิ้งปมคาใจให้กับญาติคนตายจากโศกนาฏกรรมตากใบ และคนที่บาดเจ็บ รวมถึงคนที่สนใจเหตุการณ์ครั้งนั้น เมื่อคดีความตากใบจบลงแบบขาดอายุความก็หมายความว่าไม่มีความกระจ่างในเรื่องนี้ เมื่อไม่มีความกระจ่างใดๆก็หมายความว่ายังจะเกิดความคลางแคลงใจต่อไปในสังคมไทย
สรุปว่า เมื่อความจริงไม่บังเกิด ความยุติธรรมยังไม่ปรากฏ ก็ไม่ต้องคาดหวังว่าจะเกิดความสงบสุข ความสมานฉันท์ และความสันติสุข
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี