กรณีไม่สามารถจับตัวผู้ต้องหาคดีตากใบมาขึ้นศาล จนคดีขาดอายุความ ทำให้สูญเสียความยุติธรรม
นับเป็นบาดแผลตากใบ เพิ่มเติมจากเหตุการณ์ที่มีประชาชนเสียชีวิตกว่า 80 คน เมื่อปี 2547 ยุครัฐบาลทักษิณ
ภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเปลี่ยนบาดแผลตากใบนั้น เป็นบทเรียนร่วมกัน
1. รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ได้ประมวลข้อมูล และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกรณีตากใบ
นับว่าเป็นมุมมองที่รอบด้าน ทำให้เห็นที่มาที่ไปของเหตุการณ์ ในบริบทขณะนั้น และชวนให้คิดต่อไปในอนาคตว่าควรทำอะไร? อย่างไร? เนื้อหาบางส่วนบางตอน สรุป ดังนี้
“..แลไปข้างหน้า – คดีตากใบในอนาคต
...คนทั่วไปสงสัยคาใจว่า ทั้งผู้กล่าวหาหรือครอบครัวญาติผู้เสียชีวิตที่ต้องยื่นฟ้องคดีเองเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมในปีนี้ (ผู้ถูกกล่าวหา 7 คน) ทั้งอัยการที่เพิ่งยื่นฟ้องอีกคดี (มีผู้ถูกกล่าวหา 8 คนที่เคยมีคำสั่งไม่ฟ้องก่อนหน้านี้หลายปี) ในเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น
สุดท้ายแล้ว ทั้งหมดจะได้รับความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมที่แท้จริงกันหรือไม่
ที่สำคัญที่สุด หากว่าไม่มีข้อยุติที่น่าพอใจสำหรับทุกฝ่าย มีความหวั่นใจกันว่าโศกนาฏกรรมหรือความรุนแรงจะปะทุขึ้นมาอีกในจชต.หรือในที่อื่นๆ อีกหรือไม่
เหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น.
มีการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวสมาชิกชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คนที่ถูกจับข้อหาแจ้งความเท็จและยักยอกอาวุธปืนของทางราชการ (ในปัจจุบันแทบไม่มีการกล่าวถึงผลของคดีดังกล่าวที่เป็นต้นเหตุ) มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากในวันนั้นและเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ผู้ชุมนุมบางส่วนมีอาวุธปืน (ตามข้อสรุปของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ)
ในเวลาประมาณ 10.00 น. มีเสียงปืนดังขึ้นและสถานการณ์ก็ตึงเครียดขึ้น
ในเวลาประมาณ 15.00 น. มีการประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม
เมื่อไม่ได้ผล ก็มีการยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุม เกิดความชุลมุนวุ่นวาย มีการทุบต่อยและใช้กำลังกับผู้ชุมนุม ฯลฯ (ในส่วนนี้มีการเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางในรูปแบบที่รู้จักกันว่า “CD ตากใบ”)
เมื่อไม่ได้ผลอีก เจ้าหน้าที่จึงใช้อาวุธปืนยิงไปที่กลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ส่วนเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 14 นาย
หลังจากนั้น ผู้ชุมนุมจำนวน 1,370 คนก็ถูกควบคุมตัวและถูกเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารที่จังหวัดปัตตานีด้วยรถบรรทุกจำนวน 28 คัน เป็นระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง
โดยให้ผู้ถูกควบคุมตัวนอนคว่ำหน้าทับซ้อนกัน (เฉลี่ยคันละกว่า 50 คน) ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวบาดเจ็บ ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้ายอีก 77 คน (อ้างอิงรายงานของคณะกรรมการอิสระฯ)
เกือบยี่สิบปีผ่านไป หลายคนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องราวของเหตุการณ์ตากใบ ส่วนใหญ่จะคิดว่าไม่ได้มีความเคลื่อนไหวอะไรที่สำคัญ อีกหลายคนก็อาจจะไม่มีความหวังอะไรอีกแล้ว
แต่ในความเป็นจริงก็คล้ายๆ กับกรณีของ Kent State (กรณีในสหรัฐ) หลายประการ (ยกเว้นเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในกรณีตากใบที่สูงมากกว่า) เช่น มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยรัฐบาล (หลังเหตุการณ์ตากใบเพียงหนึ่งสัปดาห์) มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง 4 คดี (แต่ศาลยกฟ้อง) ฝ่ายรัฐถอนฟ้องผู้ชุมนม 58 คน (แตกต่างจากคดีกราดยิงที่มหาวิทยาลัย Kent State ที่ผู้ชุมนุมถูกฟ้องและศาลตัดสินว่าผู้ชุมนุมมีความผิด)
ตลอดจนมีการถอดบทเรียนและมีความพยายามป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีกในจชต. มีการขอโทษขออภัยจากนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งขณะเกิดเหตุ (ในรายการพูดคุยออนไลน์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 อ้างอิง BBC News ไทย) และนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ อีกด้วย
รวมทั้งมีการช่วยเหลือเยียวยาในกรณีต่าง ๆ เช่น ให้กับผู้เสียชีวิต 85 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท ผู้บาดเจ็บและพิการ 52 ราย ตั้งแต่รายละ 2.2 แสน (บาดเจ็บเล็กน้อย) ถึง 7.5 ล้านบาท (ทุพพลภาพ) ให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดี 58 ราย รายละ 30,000 บาทบวกกับจำนวนวันที่ถูกควบคุมตัววันละ 400 บาท และให้กับผู้ถูกควบคุมตัว (แต่ไม่ถูกดำเนินคดี) อีก 905 ราย รายละ 15,000 บาท เพื่อเยียวยาจิตใจ รวมผู้ได้รับการเยียวยาและช่วยเหลือทั้งหมด 1,098 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 646,461,200 บาท หรือเกือบหกร้อยห้าสิบล้านบาทจากงบประมาณแผ่นดิน
ล่าสุด ในเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมา มีการรื้อฟื้นคดีและฟ้องเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ตากใบขึ้นมาใหม่อีก 2 คดี มีผู้ต้องหารวม 14 คน ซึ่งเมื่อมีการดำเนินคดีใหม่ตามที่หลายคนต้องการแล้วไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ในอนาคตจะต้องมีการรื้อฟื้นคดีหรือดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่วางแผน ผู้ที่สั่งการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมายต่างๆ ในเหตุการณ์ตากใบในรูปแบบอื่นๆ หลังคดีขาดอายุความ ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญที่ยังเปิดช่องไว้ โดยเฉพาะตามมาตรา 95 ให้ครบถ้วนด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนและทุกฝ่ายได้รับความยุติธรรม ความเป็นธรรม โดยเท่าเทียมกันไม่เลือกปฏิบัติ และตามกติกาสากล และจะทำอย่างไรกับเงินช่วยเหลือที่รัฐได้ดำเนินการแจกจ่ายไปแล้ว ซึ่งเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากที่มาจากภาษีประชาชน และอาจจะมีเงื่อนไขบางประการแนบท้ายข้อตกลงเดิมกำกับอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีบางฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องของคดีแพ่งที่สิ้นสุดลงแล้วและไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้บริหารประเทศในปัจจุบันต้องตัดสินใจและรับผิดชอบในอนาคตทั้งสิ้น
ส่วน 2 คดีที่กำลังจะหมดอายุความลงไปภายในเวลาไม่กี่วันนี้ หากมีหลักฐานใหม่ปรากฏขึ้นในอนาคต ก็มีคำถามว่าทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้เสียหาย รวมทั้งผู้สนับสนุนทุกฝ่าย ยังจะมีความพยายามอย่างจริงจังในการรื้อฟื้นคดีอย่างเช่นในกรณี Kent State อีกหรือไม่ ซึ่งก็คงจะยากลำบากมากขึ้นเช่นเดียวกัน
...สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ควรจะต้องทำกันมาตั้งแต่แรกก็คือ การเรียนรู้หรือถอดบทเรียนกันอย่างจริงจังตั้งแต่แรกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นอีก และหาทางแก้ไขในสิ่งที่ผิดหรือไม่เหมาะสม
บทเรียนที่สำคัญที่สุดจากกรณีของ Kent State ก็คือวัฒนธรรมที่ไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลและการแก้ไขในสิ่งผิดโดยการแสวงหาความยุติธรรมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินคดีตามกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่มุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจ การสร้างภูมิคุ้มกันและการป้องกันการใช้กำลังและความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุในสถานการณ์เช่นนั้น ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลายาวนานแค่ไหนหรือยากลำบากเพียงไรก็ตาม
ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมเกิดเสถียรภาพและประชาชนที่อาศัยอยู่ในสังคมนั้นมั่นใจได้ว่าจะได้รับความยุติธรรมในระบบ ซึ่งจะนำไปสู่ความสงบและสันติของสังคมนั้นๆ ในที่สุด
ซึ่งหากจะนำบทเรียนหรือวัฒนธรรมดังกล่าวมาปลูกฝังหรือดัดแปลงใช้ในจชต.หรือในประเทศไทยให้เหมาะสมแล้ว ก็ต้องเริ่มต้นกับทุกฝ่ายนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะกับฝ่ายที่นิยมความรุนแรงหรือยังสนับสนุนความรุนแรงอยู่ ทั้งทางตรงและทางอ้อมในปัจจุบัน ซึ่งผิดทั้งกฎหมายผิดทั้งศีลธรรม และขัดกับหลักคำสอนที่ดีของทุกศาสนา
คือ จะต้องละเลิกวัฒนธรรมตาต่อตาฟันต่อฟันเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ที่จะปลุกเร้าให้คนลุกขึ้นมาต่อสู้กันเพื่อแก้แค้นและเอาคืน “อย่างทรงพลัง” ดังที่นักวิเคราะห์บางคนได้คาดการณ์ไว้หากคดีตากใบในครั้งนี้ขาดอายุความไป
ที่สำคัญ ควรนำวัฒนธรรมที่ดีดังกล่าว มาใช้กับฝ่ายบริหารประเทศ ซึ่งมีอำนาจจากประชาชน ให้แก้ไขในสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง โดยไม่ควรจะต้องหวั่นเกรงอะไรหรือเกรงกลัวใคร”
2. ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวนายทักษิณ ชินวัตร ได้แถลงขออภัย ขอแสดงความเสียใจ และให้คำมั่นว่าจะไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนี้อีก
ภาครัฐ จะต้องเร่งดำเนินการทำให้เกิดผลรูปธรรมมากกว่านี้
ขณะเดียวกัน กลุ่มการเมืองบางกลุ่มได้พยายามเข้าไปเคลื่อนไหว ยุยงส่งเสริมให้มีการแบ่งแยกดินแดน เช่น ทดลองทำประชามติแบ่งแยกดินแดน, อภิปรายหนุนการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1, ปราศรัยยุยงส่งเสริมความขัดแย้ง เลือกนายกจังหวัด ให้ความเท็จว่าส่วนกลางดูดกินเงินภาษีจากท้องถิ่นทั้งๆ ที่ ความจริง รัฐโอนเงินอุดหนุนการพัฒนามากกว่าภาษีที่จัดเก็บได้จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยซ้ำ ฯลฯ
คนพวกนี้ ไม่ได้มีความจริงใจ ทั้งกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และกับประเทศไทย แต่มันหวังเพียงจะฉวยโอกาสสร้างคะแนนนิยมแก่ตนเอง โดยไม่สนใจผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนรวมอย่างแท้จริง
หวังว่า เราจะร่วมกันสรุปบทเรียนตากใบ และไม่ปล่อยให้พวกอัปรีย์จัญไรไปยุแหย่สร้างความแตกแยกบนแผ่นดิน ขัดขวางการพัฒนา การสร้างโอกาสในชีวิตของพี่น้องประชาชนอีกต่อไป
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี