เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในยุครัตนโกสินทร์ซึ่งคนไทยที่รักชาติทุกคนต้องจดจำ และจะต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก คือเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ซึ่งในที่สุดได้ลุกลามต่อเนื่อง จนทำให้ชาติเราต้องเสียดินแดนไปเป็นจำนวนไม่น้อย
ร.ศ.๑๑๒ ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ อยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช ซึ่งในช่วงเวลานั้นต้องกล่าวว่าเป็นยุคของการล่าอาณานิคมของประเทศที่คิดว่าตัวเองเป็นมหาอำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทะเล จึงนิยมที่จะนำกองเรือรบมารุกรานประเทศในโพ้นมหาสมุทรทางทิศตะวันออกโดยประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายได้แก่ทุกประเทศในทวีปอินเดีย พม่า มลายู อินโดนีเซีย และประเทศในแถบอินโดจีน คือ เวียดนาม เขมร และลาว โดยไม่ได้ละเว้นที่จะรุกรานอาณาจักรสยามหรือประเทศไทยเช่นกัน
ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น เป็นภัยคุกคามที่เกิดจากประเทศฝรั่งเศส ที่ในอดีตสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้เคยมีสัมพันธไมตรีที่ดี แต่ในที่สุด พระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมาคือพระเพทราชา ทรงเห็นว่าประเทศฝรั่งเศสอาจจะเป็นภัยคุกคามต่อชาติไทย จึงขับไล่ชาวฝรั่งเศสทั้งหมดออกจากประเทศ ยุติการค้าขายและไมตรีที่มีต่อกันมาทั้งหมด
ดังนั้น เมื่อมีโอกาสที่จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฝรั่งเศสจึงได้กระทำการล่าอาณานิคม โดยใช้กองทัพเรือเช่นเดิม และสามารถจะยึดเวียดนามและเขมรที่อยู่ในอินโดจีนไปได้ ก่อนที่จะพยายามในการที่จะรุกรานประเทศลาว ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของลาวทั้งฝั่งขวาและฝั่งซ้ายนั้นชาติไทยของเราครอบครองอยู่ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอนุวงศ์ที่พ่ายแพ้ต่อกองทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกษัตริย์ไทยองค์ต่อๆ มา
ฝรั่งเศสอ้างว่า เมื่อเวียดนามตกเป็นของฝรั่งเศส และส่วนหนึ่งของลาวอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม ซึ่งพระเจ้าอนุวงศ์เคยมีข้อตกลงยกให้ ฉะนั้น ประเทศลาวทั้งหมดก็ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน
ฝรั่งเศสได้เริ่มต้นจากการรุกรานเมืองควนในแคว้นสิบสองจุไท ที่ฮ่อเข้ายึดไว้และไทยส่งกองทัพไปปราบจนสำเร็จ แต่ฝรั่งเศสก็กลับมาเรียกร้องขอคืน มีความพยายามเจรจากับฝ่ายไทยแต่ไม่สำเร็จ ฝรั่งเศสจึงส่งทหารเข้ายึดเมืองลาว ยึดเมืองสตริงแตรง ดอนสาคร อัตตะปือ และเมืองแสนปางไทยส่งทัพออกไปปกป้อง ก็เกิดการสู้รบ และทำให้นายทหารฝรั่งเศสชื่อโกรกูแรงเสียชีวิต ฝรั่งเศสจึงเรียกร้องให้ฝ่ายไทยลงโทษพระยอดเมืองขวาง ซึ่งเป็นแม่ทัพในครั้งนั้นเมื่อฝ่ายไทยไม่ยอมจึงเกิดสถานการณ์ตึงเครียด
ฝรั่งเศสเริ่มคุกคามโดยนำเรือรบชื่อเลอลูแตง เข้ามาจอดที่หน้ากงสุลฝรั่งเศส ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ และต่อมาก็ส่งเรือแองกองสตองต์และเรือนำร่องฝ่าสันดอนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เกิดการสู้รบกับเรือหลวงของไทย อันได้แก่เรือมกุฎราชกุมารและอื่นๆ บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า ทำให้เกิดความเสียหายของทั้งสองฝ่าย แต่กองเรือของฝรั่งเศสก็เข้ามาถึงกรุงเทพฯได้ และเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
สิ่งที่ฝรั่งเศสเรียกร้องคือสิทธิเหนือดินแดนลาว พระตะบอง และดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมเกาะต่างๆ ทางภาคเหนือของลาวไปถึงพรมแดนเขมร ให้ลงโทษข้าราชการไทยที่ต่อสู้ และที่สำคัญคือให้ไทยจ่ายค่าทำขวัญ ๒ ล้านฟรังก์โดยวางเงินประกัน ๓ ล้านฟรังก์ไว้ด้วยภายใน ๔๘ ชั่วโมง ถ้าไม่เช่นนั้นจะโจมตีและทำลายกองทัพเรือไทยและป้อมปราการต่างๆ และยังประกาศว่าจะปิดปากน้ำและยึดจันทบุรีไว้เป็นประกันอีกด้วย ทำให้ไทยซึ่งมีกำลังน้อยกว่าและอาวุธไม่สามารถจะต่อสู้ได้ต้องจำยอมปฏิบัติตามบันทึกปารีสทุกประการ
ถึงกระนั้น ฝรั่งเศสยังยกทัพเรือมาตั้งที่ศรีราชา ปิดอ่าวไทย และเข้ายึดจังหวัดจันทบุรี แล้วเรียกร้องเอาดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงคืออาณาจักรลาวเกือบทั้งหมด ซึ่งไทยต้องจำยอม แต่ก็ได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสให้ถอนทหารจากจันทบุรี โดยไทยต้องเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงเพิ่มเติมด้วย แต่เมื่อฝรั่งเศสถอนทหารจากจันทบุรีแล้วกลับไปยึดตราดและเกาะกงเป็นตัวประกันอีก
ได้มีการเจรจาเพิ่มเติม ซึ่งทำให้ในที่สุดไทยต้องเสียเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ให้กับฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสยินยอมที่จะคืนตราด พร้อมทั้งดินแดนด่านซ้าย และทุกเกาะที่ตั้งอยู่ทางใต้ของแหลมสิง จนถึงเกาะกูด ให้กับไทย ซึ่งทำให้เหตุการณ์รุกรานชาติสยามโดยฝรั่งเศสยุติลงเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ รวมระยะเวลาของเหตุการณ์ร.ศ. ๑๑๒ ทั้งหมดเกือบ ๑๔ ปี
เหตุการณ์ดังกล่าวทั้งหมดทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชทรงโทมนัสเป็นที่ยิ่ง จนถึงกับทรงพระอาการประชวรเป็นระยะเวลานาน แต่ในที่สุดพระองค์ก็ตัดพระทัยได้ โดยได้รับสั่งเป็นทำนองว่า จำต้องยอมเสียแผ่นดิน บางส่วนไปเพื่อรักษาแผ่นดินไทยผืนใหญ่และอธิปไตยของชาติไว้ เปรียบเสมือนการที่ต้องยอมเสียแขนหรือขาเพื่อรักษาชีวิตของตัวเองไว้ให้ได้
ตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกฯหญิงที่ขาดประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมืองอย่างสิ้นเชิงเป็นระยะเวลาประมาณ ๓ เดือน ก็เกิดเหตุการณ์ทั้งภัยคุกคามประเทศชาติ และภัยคุกคามทางสังคมหลายเรื่องด้วยกัน
ภัยคุกคามทางสังคม นอกจากเรื่องเศรษฐกิจที่ยังไม่เห็นภาพว่าจะดีขึ้นตามที่ได้หาเสียงไว้ แม้จะมีการแจกเงิน ๑๕,๐๐๐ บาทให้กับกลุ่มเปราะบาง ก็ยังเกิดปัญหาประชาชนจำนวนหนึ่งถูกหลอกลวงจากกระบวนการขายทองคำปลอม และล่าสุดก็คือกระบวนการที่อาจจะกล่าวได้ว่าคล้ายกับแชร์ลูกโซ่ที่เกิดขึ้นในอดีต ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ต้องตกเป็นเหยื่อ เป็นหนี้เป็นสินหมดตัวและบางรายก็ถึงกับทำลายชีวิตตัวเอง ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการจับกุมผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นแกนหลักได้ คดีก็ยังไม่คืบหน้าไปมากนัก
ส่วนภัยที่คุกคามประเทศก็คือเรื่องของน้ำท่วมใหญ่ทางภาคเหนือตลอดจนถึงภาคกลางบางส่วนซึ่งเกิดความเสียหายอย่างมากมาย ถึงแม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่กระบวนการเยียวยาและฟื้นฟูน่าจะต้องให้ดีกว่านี้ อีกเรื่องหนึ่งความพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญของบางพรรคการเมือง ที่จะยกเลิกกฎหมายที่จะคุ้มครองพระมหากษัตริย์และสถาบัน ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลไม่น่าจะยอม แต่ก็ยังมีที่เกี่ยวโยงคือการนิรโทษกรรมนักโทษในคดีที่เกิดจากความขัดแย้งทางความคิดของประชาชนจนเกิดความไม่สงบในบ้านเมือง และพยายามจะพ่วงให้เกิดการนิรโทษกรรมนักโทษในคดีมาตรา ๑๑๒ ด้วย
ภัยคุกคามอีกเรื่องหนึ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ อาจจะไม่ตระหนักนักคือปัญหาเรื่องเกาะกูด อันเป็นบริเวณที่ใต้พื้นทะเลมีแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่มหาศาล ซึ่งตามหลักฐานบ่งชี้ว่าเกาะกูดเป็นของไทย แต่ประเทศกัมพูชาก็พยายามอ้างสิทธิ์โดยกล่าวว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน
เป็นเรื่องน่าแปลกที่รัฐบาลสมัยที่อดีตนายกฯซึ่งเป็นพี่ชายของนายกฯหญิงคนแรกได้ร่วมอยู่ในคณะบริหารได้มีความพยายาม และก็ต่อเนื่องกันมาที่จะให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ไทยและเขมรได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำมันร่วมกัน แต่เกิดการปฏิวัติเสียก่อนเรื่องดังกล่าวจึงยุติไป
เชื่อกันว่ารัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกฯหญิงขณะนี้ ที่น่าจะบริหารบ้านเมืองภายใต้อิทธิพลไม่มากก็น้อยของบิดาที่เป็นอดีตนายกฯที่ศาลได้ตัดสินว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต ได้มีการรื้อเรื่องเกาะกูดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จากการเริ่มต้นพบปะและเจรจากับผู้นำระดับสูงสุดของกัมพูชาตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศใหม่
ในเมื่อเกาะกูดเป็นผืนแผ่นดินของไทย ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่ควรจะเจรจากับกัมพูชาเพื่อจะให้มาร่วมดำเนินการใดๆ เพื่อแบ่งผลประโยชน์ของชาติไป แต่หากยังมีความพยายาม ก็แปลเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลยนอกจากบอกว่าการเจรจานั้นจะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนแก่ผู้บริหารบ้านเมือง วงศ์ตระกูลและเครือข่ายนั่นเอง
คนไทยทุกคนต้องจับตามองเรื่องนี้ ชาติไทยจะต้องไม่เสียเกาะกูด ไม่ว่าจะในรูปแบบใดเป็นอันขาด พระมหากษัตริย์ไทยและบรรพบุรุษในอดีตได้เอาเลือดเนื้อเข้าแลกเพื่อปกปักรักษาแผ่นดินมาโดยตลอด เพื่อให้ลูกหลานมีแผ่นดินอยู่ จึงหวังว่ารัฐบาลชุดนี้ก็จะต้องพยายามรักษาแผ่นดินและอธิปไตยไว้ให้ได้ทุกกระเบียดนิ้ว เพื่อยืนยันว่าได้เข้ามาบริหารบ้านเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้ประเทศชาติยังคงอยู่และมีความเจริญก้าวหน้าสืบไป
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี