ภาพช้างสานสัมพันธ์กันนี้ คือ บ้านใหม่ของ “พลายดอกแก้ว”
หลังทำการย้ายออกจากปางช้าง ENP มาใช้ชีวิตใหม่ที่ภัทรฟาร์ม
โดย “พลายดอกแก้ว” และ “ขุนเดช” คือช้าง 2 เชือก ที่คุณแสงเดือนผู้บริหารปางช้าง ENP ประกาศให้คุณหนูนา กัญจนา ศิลปอาชา ไปรับคืนจากปางช้าง ENP เพื่อไปรับการดูแลที่ดีกว่า
ขณะนี้ ได้ย้าย “พลายดอกแก้ว” ออกมาสำเร็จแล้ว ยังเหลือ “ขุนเดช” กำลังเตรียมดำเนินการ
1. นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย (เจ้าของภัทรฟาร์ม Patara Elephant Conservation ที่รับดูแลพลายดอกแก้ว) ชี้แจงว่า ช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา พลายดอกแก้วอยู่ในพื้นที่จำกัด โดดเดี่ยวมาโดยตลอด หลังนำมาอยู่ที่แห่งใหม่จึงต้องทำการปรับสภาพใหม่ โดยนำช้างรุ่นพี่ช่วยดูแลประคับประคอง เนื่องจากช้างจะสื่อภาษากันได้ดี
ให้ควาญกว่าสิบคน สับเปลี่ยนหมุนเวียนคอยดูแล เพื่อให้ช้างคุ้นเคยกับคน
แต่ระยะนี้ ก็ต้องมีการล่ามโซ่แบบยาว เพื่อป้องกันการวิ่งหนี และในความไม่ประมาท
“จากการเฝ้าดูในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า พลายดอกแก้ว กินอาหารและปรับตัวเข้ากับช้างพี่เลี้ยงได้ดี
คาดว่า จะใช้เวลาอีก 1-2 เดือน ก็จะสามารถปลดโซ่ปล่อยให้อาศัยในพื้นที่ที่มีกว่า 200 ไร่ ได้เหมือนเชือกอื่นๆ” – คุณธีรภัทรกล่าว
2. การเลี้ยงแบบมีควาญดูแล จะทำให้ได้รับการดูแลด้านสุขภาพดีขึ้น และไม่โดดเดี่ยว
นายสุรัตน์ชัย อินทร์วิเศษ ผู้อำนวยการสำนักสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ และ น.สพ.ดร. ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง พร้อมสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ร่วมติดตามสุขภาพและแนะนำแนวทางการดูแลพลายดอกแก้วณ Patara Elephant Conservation จังหวัดเชียงใหม่
นายสุรัตน์ชัย ระบุว่า จากที่ทีมสัตวแพทย์ประเมินสุขภาพเบื้องต้น ภายหลังจากการขนย้าย โดยรวมปกติ สดชื่น ไม่มีอาการซึม กินได้ และขับถ่ายปกติ ซึ่งจะต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพอย่างละเอียดอีกครั้ง
“..ได้แนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้พลายดอกแก้วมีปฏิสัมพันธ์กับช้างด้วยกัน ซึ่งคุณภัทร-ธีรภัทร ดำเนินการอยู่
โดยนำลูกช้างวัยไล่เลี่ยกัน ตลอดจนช้างที่โตกว่า มาสร้างความคุ้นเคย ซึ่งมั่นใจว่าพลายดอกแก้วจะปรับตัวได้อย่างแน่นอน
ที่สำคัญ เห็นว่า การเลี้ยงแบบมีควาญดูแลและอยู่ในสังคมช้าง จะทำให้พลายดอกแก้วไม่โดดเดี่ยว เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงในคอกเพียงลำพัง
ตลอดจนจะทำให้ช้างได้รับการดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น เพราะควาญสามารถสังเกตเบื้องต้นได้ เมื่อช้างได้รับการฝึกรับฟังคำสั่ง หากเจ็บป่วย สัตวแพทย์จะเข้าทำหัตการเพื่อตรวจรักษาได้ง่าย” – ผอ.สำนักสถาบันคชบาลฯ กล่าว
3. มีคนเข้าไปเยี่ยมพลายดอกแก้ว ที่ Patara Elephant Conservation เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 แล้วถ่ายทอดสิ่งที่เห็นออกมาอย่างน่าสนใจ ระบุว่า
“...ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมน้องดอกแก้วในบ้านหลังใหม่ที่ภัทรฟาร์ม
น้องมีความสดใส สนใจกับสิ่งรอบข้าง ไม่มีการต่อต้านอุปกรณ์ควบคุม(โซ่)ใดๆ เลย
และน้องให้ความสนใจกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวที่ชื่อจัมโบ้ อย่างชัดเจน
สัมผัสเพื่อนใหม่แบบกระตือรือร้น โดยแสดงพฤติกรรมใช้งวงสัมผัสเพื่อนที่อยู่ตรงหน้า จกปาก จกอวัยวะเพศ แทบตลอดเวลา
มีบางช่วง น้องดอกแก้วเอาศีรษะถูไถช่วงลำตัวของน้องจัมโบ้แบบอ้อนๆ เขาแสดงพฤติกรรมความไว้วางใจในตัวเพื่อนใหม่อย่างรวดเร็ว เป็นโมเม้นท์ที่น่าประทับใจมากในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของเหล่าช้าง
รูปในโพสต์นี้ (ภาพช้างหยอกเล่นกันด้านบน) โปรดสังเกตพื้นที่ในการกักโรค พืชพันธุ์ตามธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ น่าจะเป็นพืชที่น้องดอกแก้วไม่เคยได้กินหรือชิม
โดนน้องกวาดเรียบหมดภายใน 4 วัน
แต่กับหญ้าแห้ง ซึ่งเป็นอาหารที่ทางปางจัดให้ น้องกลับเอามาโปรยเล่น (สมฉายารูปหล่อแม่รวย)
กลายเป็นว่าจัมโบ้กลับกระตือรือร้นในการกินหญ้าแห้งเหล่านั้นแทน 555555
และอีกหนึ่งสิ่งที่เห็นด้วยตาตัวเอง จังหวะที่มีรถแบ๊กโฮ ขับผ่านไกลๆ
ทั้งจัมโบ้และดอกแก้วต่างตกใจ
จัมโบ้รีบวิ่งกลับมาหาควาญ
แต่น้องดอกแก้วกลับวิ่งขึ้นบนเนินเขา เอาหน้าไปซุกกับพื้นดินตรงนั้น
ช้างบ้านที่ได้รับการเอาใจใส่จากควาญที่ดูแล เวลาเขาหวาดกลัวหรือตกใจอะไร เขาจะพึ่งพิงคนดูแลแบบชัดเจน
แต่กับน้องดอกแก้วที่ไม่รู้จะรับมือกับความตกใจนั้นยังไง ได้แต่รับมือกับความหวาดกลัวนั้นด้วยตัวเขาเอง
เห็นช็อตนี้แล้วเศร้ามาก หวังว่าดอกแก้วจะปรับตัวได้โดยเร็ว จะได้สัมผัสกับความรักของมนุษย์ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ให้เขารับรู้ถึงความรักและความไว้วางใจ รวมถึงความปลอดภัยในอนาคตที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะไม่มีมนุษย์คนไหนปล่อยเขาเผชิญความหวาดกลัวโดยลำพังอีกต่อไป
ปล.คุณภัทรแจ้งว่ากำลังจะย้ายหลักมัด(จุดกักตัว) ของน้องดอกแก้วไปอยู่อีกจุดนึงที่ยังมีพืชพันธุ์อาหารตามธรรมชาติสมบูรณ์ ให้น้องดอกแก้วค่อยๆ เรียนรู้ว่าอะไรกินได้หรือกินไม่ได้...”- Jen Jenjen กล่าว
4. ย้ายขุนเดช
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเปิดเผยว่า ได้อนุมัติการขนย้ายช้างป่า “พลายขุนเดช” แล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2567
โดยทำหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้สัตวแพทย์ของสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ร่วมกับสัตวแพทย์ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) กรมอุทยานแห่งชาติฯ สัตวแพทย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสัตวแพทย์มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและ
สิ่งแวดล้อม เข้าตรวจประเมินสุขภาพของ “พลายขุนเดช” ในวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2567
ในวันที่ 30 ตุลาคม 2567 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะร่วมประชุมเพื่อวางแผนการขนย้ายช้างป่าพลายขุนเดชไปสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง
กรมอุทยานแห่งชาติฯ มอบหมายให้สัตวแพทย์หญิงรัตนา สาริวงศ์จันทร์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) เป็นผู้ประสานงาน
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาว่าจากการที่นำช้างป่า (พลายขุนเดช) ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณขาหน้าด้านซ้ายไปฝากดูแลรักษา ณ ศูนย์บริบาลช้างแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมสนับสนุน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2567 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้ศูนย์บริบาลช้างอำเภอแม่แตงมีความยากลำบากในการดูแลรักษาพลายขุนเดช ดังนั้น เพื่อให้ช้างป่าตัวนี้ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมที่สุด และเป็นการแบ่งเบาภาระของศูนย์บริบาลช้างแม่แตงที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูหลังเหตุอุทกภัย จึงขอความอนุเคราะห์องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ในการนำ “พลายขุนเดช” ไปดูแลรักษาที่สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง
สำหรับช้างขุนเดช มีแผลที่ข้อเท้าหน้าซ้าย เรื้อรัง และยังรักษาไม่หาย
ประกอบกับพฤติกรรมช้างที่ไม่ได้รับการฝึกสอนควบคุมพฤติกรรม ทำให้การรักษายิ่งลำบาก
ที่มาของช้างขุนเดช เริ่มจากเดือนกันยายน 2555 กรมอุทยานฯ พบลูกช้างป่า อายุประมาณ 2 ปี ถูกบ่วงแร้วรัดข้อขาด้านหน้าซ้าย บริเวณหมู่ที่ 4 ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ต่อมา ได้รับการนำตัวไปดูแลรักษาอย่างเร่งด่วนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี
เดือนพฤษภาคม 2556 เคลื่อนย้ายพลายขุนเดชไปรักษาที่คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
เดือนกันยายน 2557 โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน แจ้งว่า ช้างพลายขุนเดชมีอาการดีขึ้นตามลำดับ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มาก แต่เป็นช้างพิการไม่สามารถดำรงชีวิตในป่าธรรมชาติได้ จะต้องมีสถานที่พักฟื้นและมีสัตวแพทย์ดูแลสุขภาพ จึงขอส่งช้างป่าพลายขุนเดชคืนกรมอุทยานแห่งชาติฯ
วันที่ 15 กันยายน 2557 มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมแจ้งความประสงค์ว่าขอรับช้างป่าพลายขุนเดชไปดูแลที่ศูนย์บริบาลช้างแม่แตง ซึ่งเป็นสถานที่ดูแลช้างพิการ ช้างชราภาพ
วันที่ 3 ตุลาคม 2557 อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในขณะนั้นอนุญาตให้ดำเนินโครงการช่วยเหลือช้างป่า (พลายขุนเดช) โดยขนย้ายไปยังมูลนิธิอนุรักษ์ข้างและสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ปฏิบัติงานประจำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) เป็นผู้ศึกษาวิจัย ดูแลรักษา และฟื้นฟูสุขภาพพลายขุนเดช โดยขนย้ายพลายขุนเดชไปดูแลยังมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2557
5. จนถึงวันนี้ ช้าง “ขุนเดช” ยังมีอาการบาดเจ็บรุนแรงที่ขา
สมควรที่จะต้องเร่งรับตัวออกมาอย่างยิ่ง
คนรักช้างย่อมสงสัยว่า เหตุใด เมื่อไปอยู่ที่ปาง ENP เป็นเวลา 10 ปี จึงรักษา“ขุนเดช” ไม่หายเสียที ?
(ต่อพรุ่งนี้)
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี