ช้าง “พลายดอกแก้ว” ได้ย้ายออกจากปางช้าง ENP ไปใช้ชีวิตใหม่แล้ว
ได้เริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนและกับช้างด้วยกัน กำลังอยู่ในช่วงปรับตัว ภาพรวมเป็นไปด้วยดี
ส่วนช้างอีกเชือก “ขุนเดช” ยังอยู่ที่ Elephant Nature Park
ล่าสุด สถาบันคชบาลฯ ได้เข้าไปตรวจสุขภาพแล้ว
พบความจริงที่น่าตกใจ
1. เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 สัตวแพทย์หญิง รัตนา สาริวงศ์จันทร์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้รายงานถึงผลการตรวจสุขภาพช้างพลายขุนเดช ที่ Elephant Nature Park
โดยทีมสัตวแพทย์จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ร่วมกับสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
การตรวจครั้งนี้ ทีมสัตวแพทย์ต้องประสานงานกับ Elephant Nature Park ให้งดอาหารช้าง 12 ชั่วโมง และงดน้ำ 6 ชั่วโมง เพื่อการวางยาซึมระดับอ่อน (mild sedation) นาน 60-90 นาที เนื่องจากไม่สามารถเข้าใกล้ช้างเพื่อเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ มูล และตรวจบาดแผลได้โดยตรง
1.1 ผลการตรวจพบความผิดปกติที่รุนแรง
โดยเฉพาะที่ขาหน้าซ้าย ซึ่งเคยติดบ่วงแร้ว มีความยาวมากกว่าขาขวาที่ปกติ เพราะช้างไม่ได้ใช้ขาข้างนี้รับน้ำหนัก ส่งผลให้ขาหลังต้องรับน้ำหนักชดเชย
ขาหลังขวาที่มีการลอกหลุดและงอกของฝ่าเท้าผิดธรรมชาติ เล็บเท้าผิดปกติเล็กน้อย
นอกจากนี้ ยังพบว่ากระดูกสันหลังผิดรูปเป็นรูปตัว S จากการชดเชยน้ำหนักขณะเดิน
ส่วนบาดแผลที่เท้าหน้าซ้าย แม้ไม่พบการติดเชื้อ แต่มีเนื้อเยื่อส่วนเกิน (granulation tissue) ที่ไวต่อความรู้สึกและเสี่ยงต่อการเกิดแผลเปิดได้ง่าย
1.2 ด้านพฤติกรรม พบว่า ผู้ดูแลสามารถควบคุมช้างได้เพียงระดับ 5/10
ต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมสำหรับการรักษา (7-8/10)
1.3 จากการประเมิน ทีมสัตวแพทย์ระบุว่า ความผิดปกติทางโครงสร้างที่เกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปีนี้ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและเครื่องมือพิเศษในการรักษา
จึงวางแผนดำเนินการหลังย้ายช้างไปยังสถานที่ใหม่
โดยระหว่างนี้ จะย้ายช้างจากโรงเรือนเดิมที่ติดชุมชนและมีดินโคลนทับถม ไปยังโรงเรือนใหม่ใกล้จุดเคลื่อนย้าย
ทำความสะอาดบาดแผล พันผ้าพันแผล และสวมถุงเท้าป้องกันสิ่งสกปรก (wound dressing) ทุกวัน เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกทุกวัน
1.4 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ยืนยันว่า ในการดำเนินทุกขั้นตอน ทีมสัตวแพทย์ ควาญ และเจ้าหน้าที่จะคำนึงถึงสภาพร่างกายของช้างเป็นสำคัญ
โดยหากพบภาวะวิกฤต จะเร่งดำเนินการเคลื่อนย้ายภายใน 24 ชั่วโมงตามเงื่อนไขการเคลื่อนย้ายช้างป่วยหนัก เพื่อให้ช้างได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนและเหมาะสมที่สุด
รวมถึงเพื่อป้องกันไม่ให้อาการบาดเจ็บลุกลาม จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของช้าง
2. ข้อมูลที่พบ ตอกย้ำว่า การดูแลช้างด้วยวิธีการที่ไม่มีการฝึกควบคุมช้าง ควบคุมพฤติกรรมช้างให้ทำตามคำสั่ง อยู่ร่วมกับคนและกับช้างเชือกอื่นๆ อย่างปลอดภัย
ตามแนวทางที่ปางโลกสวย และเอ็นจีโอตะวันตกนำมาอ้างโจมตีด้อยค่าวิถีคนอยู่กับช้างในบ้านเรานั้น คือ จุดอ่อนสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถรักษาช้างขุนเดชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดเวลา 10 ปี ที่อยู่ที่ปางช้าง ENP
หากสามารถควบคุมสั่งการช้างได้ดีกว่านี้ (แค่ 5/10) ย่อมจะสามารถดำเนินการให้หมอได้รักษาและกายภาพบำบัดช้างได้ดีกว่านี้อย่างแน่นอน
โดยพลายขุนเดชนั้น เป็นช้างป่า ติดบ่วงแร้ว หลังรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้ว ถูกส่งตัวไปอยู่ในการดูแลของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม (ปางช้าง ENP) ในปี 2557
3. ยิ่งกว่านั้น จากเหตุการณ์น้ำท่วม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีช้างล้มจำนวน 2 เชือก คือ พังฟ้าใส และ พลายทอง เป็นช้างจากมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม หรือ Elephant Nature Park
ปรากฏว่า เครือข่ายคนรักช้าง ได้รณรงค์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบการทำงานของ Elephant Nature Park ดังนี้
ข้อ 1 เหตุผลของการไม่อพยพช้างในเวลาเหมาะสม เนื่องจากมีการเตือนจากทางราชการตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2567 แต่ทาง Elephant Nature Park ยังคงดำเนินกิจการปกติ และหลังเกิดเหตุได้นางแสงเดือน ชัยเลิศ ได้โพสต์ข้อความใน facebook ว่าตนได้อพยพช้างไปหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2567 แต่กลับพบช้างจำนวน 16 เชือกอยู่ในปาง และมีการสูญเสียตามที่กล่าวมา
ข้อ 2 การดูแลสัตว์ภายใต้การ พ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพ ความปลอดภัยเนื่องจากช้างที่ได้รับการช่วยเหลือในเหตุการณ์น้ำท่วมของวันที่ 4 ตุลาคม พบว่ามีการกั้นคอกกำแพงสูง (ทำให้ช้างไม่สามารถหนีน้ำได้) และพบว่าบางตัวถูกล่ามโซ่
ข้อ 3 กรณีการเป็นเจ้าของช้างของ Elephant Nature Park เนื่องจาก
พบว่าจากจำนวนช้าง 119 เชือก มีช้างจำนวน 51 เชือก เป็นของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม แต่อีก 56 เชือกเป็นชื่อของนางแสงเดือน ชัยเลิศ
ข้อ 4 พนักงานของ Elephant Nature Park ได้ทำการถูกกฎหมายหรือไม่ และได้รับสวัสดิภาพ กฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างไร เนื่องจากคนงานส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงและต่างชาติ
ข้อ 5 ตรวจสอบเงินบริจาคของทางมูลนิธิ
ข้อ 6 การให้ข้อมูลเท็จของผู้บริหารผ่านสื่อเป็นข้อความใน Facebook แสงเดือน ชัยเลิศ-Saengduean Chailert ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
ตามช่องทาง Change.org ด้านล่าง
4. สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวแทนสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง
เพื่อขอให้ตรวจสอบ มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เชียงใหม่(Elephant Nature Park : ENP) ในประเด็นเหล่านั้นด้วย
นายกรวีร์เปิดเผยว่า กมธ.การปกครองฯ ได้ติดตามเรื่องนี้มาสักระยะ ตั้งแต่น้ำท่วมที่ จ.เชียงใหม่ คาดว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมในวันพุธ30 ต.ค.2567 (วันนี้)
ทาง กมธ.จะออกหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องขอความร่วมมือผู้บริหารมูลนิธิฯ มาชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริง
“กมธ.จะตรวจสอบมูลนิธิฯ กรณีช้าง 2 เชือกล้ม รวมถึงการขออนุญาตการจัดตั้งและการดำเนินการของมูลนิธิฯ โดยจะเชิญจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ มาสอบถามถึงการดำเนินงานมูลนิธิดังกล่าว
นอกจากนี้ ทราบว่าจะมีการเสนอร่างพ.ร.บ.ช้าง ซึ่งตนก็ยังไม่เห็น แต่ก็ยินดีโดยฝ่ายนิติบัญญัติพร้อมสนับสนุนหากจะมีกฎหมายกำกับดูแลมาตรฐานการเลี้ยงช้าง อนุรักษ์ช้าง” – นายกรวีร์กล่าว
เรื่องนี้ สมควรที่จะต้องตรวจสอบ และเปิดเผยผลการตรวจสอบ รวมถึงนำไปสู่การดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
ช้างตายทั้งตัว จะเอาใบบัวมาปิดได้อย่างไร?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี