ถึงแม้ว่าการเมืองแบบ “บ้านใหญ่” หรือ ที่เรียกว่า ราชวงศ์การเมือง การเมืองแบบในครอบครัว จะได้จืดจางหายไปที่สิงคโปร์ บังคลาเทศ หรือต้องถอยร่นไปเช่นที่ศรีลังกา แต่ก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่ในประเทศไทย กัมพูชา และปากีสถาน โดยปากีสถานนั้น บ้านใหญ่ยังถูกค้ำบัลลังก์ด้วยฝ่ายกองทัพ ส่วนที่เกาหลีเหนือซึ่งมิได้อยู่ในกรอบสังคมประชาธิปไตยเหมือนประเทศอื่นๆดังกล่าว (อยู่ในกรอบของพรรคเดียวเป็นเผด็จการ) ซึ่งก็ปรากฏว่าผู้นำประเทศสืบทอดอำนาจกันมา 3 ชั่วคนแล้ว คือจากรุ่นปู่ สู่รุ่นพ่อ และสู่รุ่นหลานในปัจจุบันนี้ และกำลังมีการเตรียมการที่จะให้รุ่นเหลนขึ้นมาสืบทอดอำนาจต่อไปด้วย
ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นแม้มิได้มีระบบบ้านใหญ่ แต่กลับมีระบบบ้านกลางบ้านเล็ก มากมาย ดังจะเห็นว่า ประมาณร้อยละ 40 ของบรรดาสมาชิกรัฐสภา ทั้งสภาสูงและสภาล่าง รวมไปถึงคณะรัฐมนตรี ต่างก็มาจากครอบครัวการเมืองกันทั้งนั้น โดยในละแวกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็คงจะมีไต้หวัน เกาหลีใต้ มองโกเลีย เนปาล และภูฏาน ที่เป็นสังคมประชาธิปไตยที่การเมืองแบบบ้านใหญ่ยังมิได้คืบเข้ามาสู่สนามการเมือง ขณะที่จีนคอมมิวนิสต์ซึ่งครองอำนาจมาร่วม 70 กว่าปีก็ไม่ปรากฏการเมืองแบบการสืบทอดอำนาจในครอบครัวแต่อย่างใด
ในการนี้ก็สามารถจะสรุปได้ว่า ไม่ว่ารูปแบบโครงสร้างการเมืองจะเป็นอย่างใดการแทรกซึมของการเมืองแบบบ้านใหญ่ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แล้วก็ไม่เป็นสิ่งที่ดีแต่อย่างใดต่อสังคมนั้นๆ เพราะการรวบอำนาจอยู่ในมือของกลุ่มคนน้อยนิด เป็นการปิดกั้นการร่วมคิดร่วมทำ และมีนัยของการใช้อำนาจแต่เพียงอย่างเดียว
ล่าสุดที่ประเทศอินโดนีเซียก็เริ่มเห็นการเข้ามาครอบงำของการเมืองแบบบ้านใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 2 บ้านใหญ่ร่วมมือกัน คือของประธานาธิบดี ปราโบโว สุเบียนโต กับอดีตประธานาธิบดี โจโค วิโดโด โดยประธานาธิบดี ปราโบโว ได้แต่งตั้งหลานสาว 2 คนเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี ส่วนอดีตประธานาธิบดี โจโกวี นั้นก็ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนกฎเกณฑ์กติกาว่าด้วยอายุขั้นต่ำของผู้จะเข้าดำรงตำแหน่งในระดับสูงทางการเมือง และบัดนี้ก็ได้เห็นลูกชายของตนเองดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ทั้งนี้ แนวความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของอินโดนีเซีย เขาใช้หลักคอนเซนซี่ ซึ่งหมายถึงการตกลงออมชอมกัน หรือนัยหนึ่งไม่ยึดมั่นในเรื่องการเมืองแบบแบ่งแยกออกเป็นฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านซึ่งก็มีนัยในเชิงลบของการกระจายผลประโยชน์ให้ทั่วถึง และการที่ฝ่ายรัฐบาลมีอำนาจอย่างมากมาย และทั้งหมดนี้ประชาชนพลเมืองก็จะตกอยู่ในลักษณะของการต้องโอนอ่อนคล้อยตาม และไม่มีองค์กรการเมืองใดที่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและความซื่อสัตย์สุจริตของผู้ปกครองเท่านั้น
ในสังคมเผด็จการประชาชนพลเมืองก็ต้องรับสภาพไม่ว่าผู้นำจะมาจากบ้านใหญ่หรือไม่ แต่ในสังคมประชาธิปไตย หรือที่อ้างว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยนั้น การมีอยู่ของบ้านใหญ่เป็นการจำกัดและบั่นทอนความเป็นสังคมประชาธิปไตย
ส่วนกรณีสังคมไทย เราได้มีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบสังคมประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่ปวงชนชาวไทยเป็นใหญ่ แต่อำนาจอธิปไตยของประชาชนก็ถูกบิดเบือนไปเพราะการเข้ามากุมอำนาจการเมืองแบบบ้านใหญ่ หรือการกระจุกตัวของอำนาจ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขเพื่อให้สังคมประชาธิปไตยมีความแท้จริง และสมบูรณ์แบบ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมเสียที
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี