พรรคร่วมรัฐบาลอย่างน้อย 2 พรรค ยังคงประกาศย้ำเรื่องท่าทีต่อการ “นิรโทษกรรม” ความผิด ที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ว่าต้องไม่นิรโทษกรรมให้แก่คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
1) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ที่เสนอโดยพรรค รทสช. ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเสนอไปตั้งแต่ก่อนมีการศึกษาแนวทางการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว จุดยืนของพรรค รทสช.ประกาศชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมจะต้องไม่รวมผู้กระทำความผิดมาตรา 112 เรื่องทุจริต และเรื่องฆ่าคนตาย คดีอาญาร้ายแรง
“3 ส่วนนี้ต้องไม่นำเข้าไปอยู่ในเงื่อนไขของการนิรโทษกรรม แต่ถ้าเป็นการนิรโทษกรรมทางการเมือง เราไม่มีปัญหา เท่าที่ฟังทุกพรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกัน
ขณะที่ทางพรรคเพื่อไทยเองได้ประกาศชัดว่าไม่แตะเรื่องมาตรา 112 ส่วนกรณีที่ทางพรรคเพื่อไทยจะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมประกบด้วยนั้น โดยปกติในการพิจารณากฎหมายของสภา ถ้ากฎหมายมีหลักการตรงกัน เป็นเรื่องคล้ายกัน ก็สามารถพิจารณาร่วมกันได้”
2) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนของพรรค เรื่องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ว่าเราชัดเจน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นฐานสำคัญของเรา ส่วนร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เป็นแนวทางที่เราคุยกันไว้ และแม้จะมีหลายฉบับ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืน คือไม่แตะ มาตรา 112 เหมือนเดิม
แต่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชน ที่มี “คนของตน” ทั้ง สส. และแกนนำม็อบต่างๆ ต้องคดีอาญามาตรา 112 เป็นจำนวนมาก ยังคงเรียกร้องต่อรัฐบาล ถึงการนิรโทษกรรมคดี 112 อยู่แบบ “เด็กงอแง”หนูอยากได้...หนูจะเอา...
ก) นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทยออกมายืนยัน พรรคเพื่อไทยจะไม่เห็นชอบกับการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ว่า พรรคเพื่อไทยเคยสัญญาว่าจะคลี่คลายปัญหาของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง จึงไม่ควรมองว่านิรโทษกรรมคดีใดบ้าง แต่ควรมองหลักการว่า หากเราต้องการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองไม่ว่าจะโดนด้วยข้อหาอะไร ก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า การดำเนินคดีการเมืองโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องยอมรับว่า บางครั้งก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง หรือเพราะสถานการณ์ที่บีบคั้นทำให้ผู้ชุมนุมพูดเกินเลยไป จึงต้องดูเจตนา แต่คำถามที่ต้องคิดคือประเทศเราได้อะไรจากการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ส่วนตัวมองว่าการนิรโทษกรรมสามารถทำได้ และรัฐบาลนี้ก็ถูกคาดหวังว่า ครั้งหนึ่งรัฐบาลเองก็ถูกจดจำในประวัติศาสตร์ว่าอยู่เคียงข้างประชาชน ต่อสู้เพื่อคนตัวเล็กตัวน้อย ต่อสู้กับชนชั้นนำ หรือผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ในสังคม ทำไมวันนี้เปลี่ยนไปขนาดนั้น
นายรังสิมันต์ กล่าวต่ออีกว่า แม้กระทั่งนายภูมิธรรมเอง แน่นอนตนเองทราบดีว่าคนเดือนตุลาฯ ก็มีอุดมการณ์ที่หลากหลาย สิ่งที่เคยต่อสู้ในวันนั้นอาจจบลงไปแล้วแต่คุณมองสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ การชุมนุมปี 2563 การต่อสู้ของภาคประชาชน ไม่เห็นตัวเองในนั้นบ้างเลยหรือ
“ถ้าสมมุติว่าผมเป็นคนแบบคุณอ้วน-ภูมิธรรม ผมคงรับตัวเองไม่ได้นะ อะไรทำให้การตัดสินใจของท่านในการคลี่คลายความขัดแย้ง ทั้งที่ตัวเองมีโอกาสแล้ว ความจริงคุณภูมิธรรมเคยเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในสังคม เคยถูกกล่าวหา วันนี้บ้านเมืองของเราต้องการโอกาสที่ 2 เราต้องการการนิรโทษกรรม” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า หลายคนที่มาเป็นนักการเมืองในวันนี้ ไม่สามารถมาเป็นได้ หากไม่ได้รับการนิรโทษกรรมก็ไม่สามารถมายืนตรงนี้ได้ ตนอยากให้เรามองเห็นประโยชน์ว่า นี่คือโอกาสที่ประเทศไทยจะได้เริ่มต้นกันใหม่ เชื่อว่านิรโทษกรรมเป็นวิธีการที่น่าจะพอคุยกันได้ และละมุนละม่อมที่สุด จะตั้งเงื่อนไขก็ตั้งกันว่าอะไรคือความเหมาะสม และการนิรโทษกรรมก็ไม่ใช่การยกเลิกกฎหมาย ไม่ใช่การแก้ไข มาตรา 112 และกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยออกมา
ก็ไม่ได้รวมไปถึงการนิรโทษกรรม ดังนั้น รัฐบาลสามารถทำได้และคิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคมวันนี้
เมื่อถามว่า นายภูมิธรรม อาจจะได้รับใบสั่งมาหรือไม่นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ไม่อยากไปสรุปว่ามีใบสั่งหรือไม่มี แต่อยากให้มองว่า นี่คือโอกาสที่สังคมไทยจะได้กลับมาเริ่มต้นกันใหม่ วันนี้ท่านได้อยู่ในอำนาจแล้ว อย่าปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไป มันจะเป็นบาดแผลครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่เฉพาะของสังคมไทย แต่จะเป็นบาดแผลของตัวท่านเองด้วย
วิเคราะห์และวิจารณ์ : รังสิมันต์ โรม เป็นเด็กเอาแต่ใจพูดเอาแต่ได้ ไม่ตั้งสติ และอ้างโน่นอ้างนี่ส่งๆ เดชๆ แบบคนไม่ใช้ “ความรู้”
รังสิมันต์ โรม บอกว่า “พรรคเพื่อไทยเคยสัญญาว่าจะคลี่คลายปัญหาของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง จึงไม่ควรมองว่านิรโทษกรรมคดีใดบ้าง แต่ควรมองหลักการว่า หากเราต้องการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะโดนด้วยข้อหาอะไร ก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม”
คงลืมไปว่า การเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ควร “ก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายตุลาการ” อย่างไม่มีขอบเขต
ก็ไม่ใช่พรรคก้าวไกล ก่อนหน้านี้หรือ ที่เอะอะโวยวายอยู่เป็นประจำ ว่า ฝ่ายตุลาการไม่ควรใช้อำนาจเกินขอบเขต แล้วนี่ยังไง จะให้ฝ่ายบริหารนิรโทษกรรมมั่วไปหมด ตัดอำนาจ ตัดการทำหน้าที่ของฝ่ายตุลาการไปเสียดื้อๆ
ทั้งๆ ที่คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์มิใช่นักการเมือง และต่อให้ใช่ ก็ไม่มีผู้ใดมีสิทธิที่จะดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายกันได้ หากรังสิมันต์ โรม มีสำนึกในการสร้างกติกาในการอยู่ร่วมกัน ต้องไม่มีใจยินดี ต้องไม่อนุญาต และไม่ให้ท้ายพฤติกรรม “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย” ผู้อื่น
รังสิมันต์ โรม ควรบอกต่อ สส. ในพรรค ที่โดนคดีนี้ แกนนำมวลชน และผู้สนับสนุนพรรค ที่ทำผิดกฎหมายข้อนี้ ว่า หากคุณขาดเจตนา ก็ไปแสดงสิ่งนั้นต่อศาล เนื่องจากการกระทำความผิดต้องพิสูจน์เจตนาด้วย ไม่ใช่ให้ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ วินิจฉัยแทนศาล แล้วตัดสินใจ“นิรโทษกรรม” ทว่า เป็นอำนาจ หน้าที่ ของศาล ที่จะพิพากษา วินิจฉัย ว่ากระทำไปโดยขาดเจตนา อันเป็นวิธีพิจารณาคดีของศาลอยู่แล้ว จะไปก้าวล่วงศาลท่านทำไม
อีกประการคือ หากทำผิดจริง และศาลตัดสินจำคุก มีสถานภาพเป็น “นักโทษ” ก็มีสิทธิในการ“ถวายฎีกา” ขอพระราชทานอภัยโทษอยู่แล้ว ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติจะไปก้าวล่วงขั้นตอนนี้ ที่เป็นพระราชอำนาจ และเป็นพระบรมราชวินิจฉัยทำไม ใหญ่โตมาจากไหน สำคัญขนาดไหน จึงจะตัดสินใจ “นิรโทษกรรม” แทนได้!!
ข) นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงการทำความเข้าใจร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม กับพรรคร่วมรัฐบาล เกี่ยวกับประมวลความผิดอาญามาตรา 112 ว่า ตนคิดว่าหลายเรื่องที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เคยพูดมาไม่ว่าจะเป็นในสมัยที่แล้วก่อนเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว ตนคิดว่าพรรค พท.เข้าใจดีเกี่ยวกับประมวลความผิดอาญามาตรา 112 แต่ตนก็ไม่แน่ใจว่าด้วยข้อจำกัดอะไรที่ทำให้วันนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากไปดูในรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สภาฯ โหวตคว่ำข้อสังเกตไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กมธ.ของพรรค พท.มี 8 คน มี 4 คนให้ความเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้ที่ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข 2 คนไม่เห็นด้วย และอีก 2 คน ไม่ได้ให้ความเห็น อาจเป็นเพราะเป็นประธาน กมธ.และเจ้าของญัตติ จึงใช้สิทธิงดออกเสียง
“ผมต้องตั้งคำถามกลับไปดังๆ ว่า ตกลงแล้วพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง หลังเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งตัวแทนของพรรคที่ส่งเข้าไปนั่งใน กมธ.ก็ยังมีความเห็นเกี่ยวกับคดี 112 เช่นนี้อยู่ ตกลงแล้วรายงานที่ทำมานั้น ทำมาด้วยดำริของพรรคเพื่อไทยเองที่เสนอญัตติแล้วตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษา ต้องการรับฟังความเห็นรอบด้าน แต่เมื่อทำมาแล้วตัวแทนของพรรคเพื่อไทยครึ่งหนึ่งมีความเห็นเช่นนี้ ตกลงแล้วพรรคเพื่อไทยจะส่งร่างเข้ามาประกบ กับพรรคประชาชนและพรรคอื่นๆ หรือไม่ แล้วหน้าตาและจุดยืนของพรรคเพื่อไทยต่อเรื่องนี้ ในการแก้ไขความขัดแย้ง
ทางการเมืองที่ต่อเนื่องมายาวนาน จะเป็นอย่างไร” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
เมื่อถามถึง กรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคมีท่าทีว่าจะคว่ำร่างของพรรค ปชน. นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า คงต้องมีการพูดคุยและสื่อสารกันทั้งในส่วนของพรรคการเมืองด้วยกันเอง รวมถึงในส่วนของสังคมว่าเจตนาที่แท้จริงของเราคืออะไร เราต้องทำงานทางความคิดกันไป แต่ก็เข้าใจว่าสุดท้ายเราต้องเคารพเสียงข้างมาก และต้องฝากว่าหากพรรค พท.จะนำเสนอเนื้อหาที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากพรรค ปชน.เสนอไปบ้าง แต่ยังเปิดโอกาสให้คนที่กระทำความผิดต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยฐานความผิดใด แต่แรงจูงใจมาจากทางการเมือง ได้รับการนิรโทษกรรมเพื่อนำไปสู่ความปรองดองของสังคม เราก็ยินดีที่จะเห็นชอบกับร่างที่มีหลักการที่เราเห็นด้วย
“อยากให้พรรคเพื่อไทยระลึกไว้ว่าทุกพรรคการเมือง แม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ทุกพรรคก็มีอุดมการณ์ มีความคิดเป็นของตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องกันไปทุกเรื่อง ไม่ว่าเราจะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือเป็นพรรคร่วมรัฐบาล หากเรายึดหลักการของพรรคการเมืองตัวเองให้มั่น เราก็ยินดีที่จะเห็นชอบกับร่างกฎหมายหรือญัตติใดๆ ที่สอดคล้องกับหลักการของพรรค ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นผู้เสนอ” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
วิเคราะห์และวิจารณ์ : สรุปว่าปกรณ์วุฒิก็แยกไม่ออก ระหว่างความเห็นของกรรมาธิการ กับมติของพรรค และมติของสภา ใครไปแสดงความเห็นอย่างไรในชั้นกรรมาธิการ ก็เป็นความเห็นและท่าทีของคนคนนั้น เมื่อตัดสินใจกันในระดับพรรค ระดับสภา ก็เป็นท่าทีที่ต้องออกมาจากพรรคและจากความเป็นรัฐบาล
ยังต้องเรียนรู้กันอีกมากนะเด็กๆ รีบๆ โต โดยเฉพาะ “โตด้วยสมองและสามัญสำนึก”
เธอมีปัญหาอะไรกับ ม.112 กันหรือ?
เธอ “กลัว” หรือเธอ “เกลียด” บอกกับคนไทยชัดๆ ซิ!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี