หลังวัน ที่สภาฯ มีมติเลือกประธานสภาและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เรียบร้อยในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ในวันนั้น นายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯได้กล่าวกับสภาฯว่า “ข้าพเจ้าจะได้นำขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งประธานและรองประธาน…” จากนั้น ในวันรุ่งขึ้น 16 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ ตั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีประธานสภาฯ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และในวันเดียวกันนั้นก็ได้มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีจำนวน 18 ตำแหน่ง ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และรัฐมนตรีที่ไม่ว่าการกระทรวง ดังนี้
1. นายพลตรี พระยาประเสริฐสงคราม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 2. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 3. พระยาอภิบาลราชไมตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 4. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ 5. พระสารสาสน์ประพันธ์เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงธรรมการ6. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 7. พระยานิติศาสตร์ไพศาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 8. เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง 9. พระยาโกมารกุลมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ
ส่วนรัฐมนตรีที่มิได้ประจำกระทรวงอีกจำนวน 10 นาย คือ พระดุลยธารณปรีชาไวท์ นายเรือเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ หลวงนฤเบศร์มานิต นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม พระยามานวราชเสวี นายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ นายพันเอก พระสิทธิเรืองเดช พลนายนาวาโท หลวงสินธุสงครามชัย พระยาสุริยานุวัตร
น่าสังเกตว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง 2 กระทรวง คือกระทรวงธรรมการและกระทรวงมหาดไทย ที่เหลืออีก 7 กระทรวง ได้เอาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรมาดำรงตำแหน่ง โดยเลือกตามความถนัดของแต่ละคน หรือเลือกเอาเทคโนแครทมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ในรัฐบาลชุดเก่าของท่านนั้นมีรัฐมนตรีออกไป 2 ท่าน คือพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ จากกระทรวงมหาดไทย ที่ไม่ทราบสาเหตุว่าเจ้าตัวขอออกไปเอง หรือทางนายกฯต้องการเปลี่ยนตัว กับเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีที่ออกจากกระทรวงธรรมการ เพราะท่านได้กลับไปเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เข้ามาใหม่ก็มีพระสารสาสน์ประพันธ์ ที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงธรรมการ กับพระยาอภิบาลราชไมตรีที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง ที่เป็นกระทรวงใหม่
ส่วนรัฐมนตรีไม่ประจำกระทรวงที่เข้ามาใหม่มี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ พระดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ พระยามานวราชเสวี และพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ที่น่าสนใจคือเอาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 2 นาย เข้ามาร่วมรัฐบาล ได้แก่พระดุลยธารณปรีชาไวท์ ผู้แทนจากเมืองเหนือ จังหวัดเชียงราย อีกท่านหนึ่งคือพระยาสมันตรัฐฯ ผู้แทนจากภาคใต้ จังหวัดสตูล
จากนั้นในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภา โดยยืนยันว่า“… จะดำเนินนโยบายตามหลักหกประการ ต่อจากรัฐบาลที่แล้วมา เพื่อให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าสืบไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคนชาติ”
ในวันที่แถลงนโยบายซึ่งครอบคลุมในงานของรัฐบาลทุก ทุกด้านและทุกกระทรวงแล้วได้มีสมาชิกลุกขึ้นอภิปรายซักถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งเช่นขุนสมาหารฯ นายเขียน กาญจนพันธ์ นายสนิทเจริญรัตน์ ขุนวรสิษฐ์ ดรุณเวทย์ นายดาบเทียมศรีพิสิฐ รัฐมนตรีที่ถูกซักถามมากคือพระยาโกมารกุลฯ กระทรวงเศรษฐการ และในวันเดียวกันนั้น สภาฯได้ลงมติไว้วางใจรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียงกัน
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี