การสรรหาประธานคณะกรรมการ ธปท. ยังไม่มีมติเลือกใคร
รายงานข่าวระบุว่า จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาลงมติคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ในวันที่ 4 พ.ย.2567
1. คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
บุคคลที่ปรากฏชื่อว่าจะได้รับการคัดเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท. คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ และอดีตที่ปรึกษาของนายกฯ ในยุครัฐบาลเศรษฐา
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท. ได้มีการเลื่อนการประชุมลงมติเลือกประธานบอร์ด ธปท. ไปเป็นวันที่ 4 พ.ย. เนื่องจากเลขานุการคณะกรรมการสรรหาฯ ต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม
2. เมื่อวานนี้ (30 ตุลาคม 2567) นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งหนังสือให้พรรค พท. ให้ชี้แจงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง
โดย พรรค พท. ได้ทำหนังสือถึง ธปท. เพื่อชี้แจงสถานะของนายกิตติรัตน์ ว่าไม่มีตำแหน่งทางการเมืองในพรรค พท.แล้ว และไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพรรค พท.
นายสรวงศ์ให้ข้อมูลว่า สถานะปัจจุบันของนายกิตติรัตน์ไม่มีตำแหน่งอะไรในพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เป็นกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค พท. ส่วนตำแหน่งในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ที่พรรค พท. เคยออกคำสั่งแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ สมัยที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหัวหน้าพรรค พท. ไม่ใช่ตำแหน่งในพรรค พท. หรือตำแหน่งคณะทำงานในพรรค เป็นตำแหน่งลอย ไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะตำแหน่งในพรรคการเมือง คือ ตำแหน่งของ กก.บห.พรรค ซึ่งมีผลทางกฎหมาย
ทั้งนี้ ตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธปท. มาตรา 18 (5) ระบุว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
3. นายกิตติรัตน์ เป็นจำเลยในคดีข้าวบูล็อค
ป.ป.ช. ส่งหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
พิพากษายกฟ้องนายกิตติรัตน์ คดีข้าวบูล็อค
ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ อสส. ว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่?
นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ก่อนหน้านี้ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) ได้มีคำสั่งไม่อุทธรณ์ในคดีดังกล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นว่า ควรอุทธรณ์คดีดังกล่าว นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ต้องนำความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาพิจารณาประกอบ
“ความเห็นของ อสส. คนที่แล้ว จึงยังไม่ยุติ ซึ่งอัยการที่มีอำนาจหน้าที่ในคดีนี้ จะต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนกว่า อสส. คนปัจจุบันจะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง” นายศักดิ์เกษมกล่าว
4. พฤติการณ์ ท่าที จุดยืนต่อบทบาทหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์มักจะแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำงานของ ธปท. อย่างเปิดเผยทาง ผ่านสื่อและ social media ต่างๆ รวมถึง FB ส่วนตัว
ย้อนไปตั้งแต่สมัยปี 2556 ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าต้องการปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เนื่องจากไม่ยอมลดดอกเบี้ยตามความต้องการของรัฐบาล
เคยมีการแสดงออกเปิดเผยว่า ต้องการปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติในขณะนั้น
5. คาดได้ว่า หากประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เป็นคนที่มีทัศนะ ท่าที จดยืนต่อการทำหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในเชิงปฏิปักษ์ หรือในเชิงต้องการให้ผู้ว่าการแบงก์ชาติทำหน้าที่สนองตอบฝ่ายการเมือง
ย่อมจะมีผลกระทบต่อบทความการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติ
คาดได้ว่า จะเกิดการกดดันแบงก์ชาติในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การกดดันผ่านการประชุมบอร์ดเอง หรือและกดดันผ่านสื่อต่างๆ
ในประเด็นที่ฝ่ายการเมืองอยากให้แบงก์ชาติทำมาตรการที่จะสร้าง moral hazard อันอาจกระทบเสถียรภาพการเงินและการคลังในระยะยาว เช่น การพักหนี้วงกว้าง การให้ soft loan
หรือแม้แต่การล้วงลูกในเรื่องการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายการเมืองเคยพูดถึงอยู่เป็นระยะๆ
สมัยที่คุณกิตติรัตน์เป็นรัฐมนตรีคลัง เคยมีหนังสือถึงประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ระบุให้กรรมการทุกท่านจะต้องร่วมรับผิดชอบต่อผลกระทบใดๆ ที่อาจเกิดกับระบบเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงการขู่ที่จะปลดคุณประสาร
แม้ภายใต้ พ.ร.บ. ธปท. ปัจจุบัน การปลดผู้ว่าการฯจะทำได้เพียงกรณีที่มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือบกพร่องต่อหน้าที่อย่าง
ร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ แต่ก็ถือเป็นการสร้างแรงกดดันในการทำงาน เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้แบงก์ชาติถูกกดดันแทรกแซงความเป็นอิสระ ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล
ที่ดี (good governance)
จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินไทยในหลายด้าน อาทิ การดูแลเงินเฟ้อทำได้ยากขึ้น การถูกเสี่ยงปรับลด credit rating กระทบต้นทุนการกู้ยืมของทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัย ด้านลบหรือต้นทุนเพิ่มเติมให้แก่เศรษฐกิจไทย
หรือถูกกดดันให้ทำนโยบาย/ มาตรการที่ไม่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง เช่น การพักหนี้วงกว้าง การให้ soft loan ในเวลาที่ไม่ใช่ช่วงวิกฤต จะสร้าง moral hazard กระทบเสถียรภาพการเงินและการคลังในระยะยาวได้
หรือถูกกดดันให้ทำนโยบาย/ มาตรการที่ไม่เหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ เช่น การนำทุนสำรองเงินตราออกมาใช้ โดยไม่มีกลไกที่เหมาะสม
อย่าลืมว่า มาตรา 25 พ.ร.บ. ธปท. คณะกรรมการมีอำนาจควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการและการดำเนินการ รวมทั้งการบริหารงานของ ธปท. ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุน สำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท.
ประเด็นทุนสำรองระหว่างประเทศนี้ เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงตลอด จึงอาจเกิดความเสี่ยงที่จะมีการนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
6. ตัวอย่างของประเทศตุรกี
รัฐบาลเข้าแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางตั้งแต่ปี 2557 และรุนแรงขึ้นในช่วงที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการเงินเฟ้อ โดยไล่ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ออก 4 คน ภายใน 5 ปี
เริ่มตั้งแต่กลางปี 2562 ส่งผลให้ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงกว่า 442% จาก 5.6 USDTRY (ก.ค. 2562) เป็น 30.36 USDTRY ณ (ม.ค. 2566)
โดยปรับลด credit rating อย่างต่อเนื่อง จาก Baa3 (ก.ค. 2562) เป็น B3(มิ.ย. 2566)
เงินเฟ้อ ม.ค. 2024 อยู่ที่ 65% และ ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 45%
7. ตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. จึงถือว่ามีบทบาทหน้าที่สำคัญ
จะกำกับให้ ธปท.ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระตามกฎหมาย เพื่อดูแลเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของระบบเศรษฐกิจ
หรือจะ “ตีเมืองขึ้นแบงก์ชาติ” ?
หากบุคคลที่มีทัศนคติชักนำการเมืองชี้นำนโยบายการทำงานแบงก์ชาติ ได้เข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจกำกับแบงก์ชาติ ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์แบบ “ม้าไม้เมืองทรอย” ก็ได้
8. ขณะเดียวกัน ประธานกรรมการสรรหาฯ ก็มีปม กรณีเมื่อปี 2563 ในคดีแก้ไขสัมปทาน (ครั้งที่ 6) เพื่อลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้เอไอเอส โดยมิชอบ
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกา 3483/2563 ลงโทษจำคุกนายสุธรรม มลิลาอดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เป็นเวลา 6 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายด้วย
ปรากฏว่า ศาลฎีกาฯ ชี้ว่า กรรมการ ทศท. จำนวน 7 คน ที่เข้าร่วมประชุมในคดีแก้ไขสัมปทาน (ครั้งที่ 6) จะต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่ ทศท. ต้องสูญเสีย
รายได้จากการที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย อนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ AIS ดังกล่าว เป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาทด้วย
รายชื่อคณะกรรมการ ทศท. ในช่วงที่เวลาที่มีการอนุมัติให้แก้ไขสัมปทาน (ครั้งที่ 6) ดังกล่าวนั้น ปรากฏว่า มีชื่อนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ผู้แทนกระทรวงการคลังขณะนั้น เป็นกรรมการด้วย
และปัจจุบัน นายสถิตย์ มีชื่อเป็นประธานกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท.ด้วย
อย่างไรก็ตาม นายสถิตย์ไม่ได้ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และไม่ได้ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด
แต่เมื่อประธานคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท.ในวันนี้ คือ หนึ่งใน 7 กรรมการ ทศท.ในวันนั้น จึงมีคำถามเกี่ยวกับความสง่างาม ความเหมาะสม
ในการทำหน้าที่สำคัญในปัจจุบันด้วยนั่นเอง
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี