ประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการพูดคุยกับกัมพูชา การจะใช้ MOU 2544 ระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งมีขึ้นในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นำมาเป็นเครื่องมือในการแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล
นำมาสู่การตอบโต้เผ็ดร้อน
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้จริงๆ คือ อะไร?
มองแบบไม่คลั่งชาติ และไม่ขายชาติ ควรพิจารณาอะไร อย่างไร?
1.นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวยืนยันว่า เกาะกูด เป็นของไทยมาโดยตลอด และไม่เคยมีปัญหาว่ากัมพูชาอยากจะเอา ส่วนที่เกิด MOU 2544 ไม่ใช่ MOU จะให้ทำ แต่เป็น MOU จะให้ไม่ทำ
“...ขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเขตแดน แต่ทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะทุกประเทศมีหลักการที่ใช้คือวัดจากไหล่ทวีปมา 200 ไมล์ทะเล และอ่าวไทยแคบ เมื่อมีการประกาศ 200 ไมล์ทะเล เราก็ 200 ไมล์ทะเลตาม ทำให้ต่างฝ่ายมีพื้นที่ทับซ้อนกัน ซึ่งในโลกนี้มีหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ก็ใช้วิธีการพูดคุยกันเพื่อตกลงผลประโยชน์ แต่ไม่ได้หมายถึงเรื่องดินแดน ซึ่งเรื่องดินแดนของเราในเรื่องเกาะกูด ชัดเจนมาตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสว่าเกาะกูดเป็นของไทย ตรงนี้ไม่ต้องห่วงว่าจะเสียเกาะกูดหรือไม่ ขออย่าหลงประเด็น
สิ่งสำคัญคือข้างล่างใต้ทะเลที่มีประโยชน์ น้ำมันใช้ได้ ซึ่งอีก 10 ปีจะลดความสำคัญลง และตรงนี้กว่าจะตกลงกันได้ หากเอาผลประโยชน์ขึ้นมาก็ปา 5 ปี หากไม่ทำอะไรภายใน 10 ปี ก็ไม่มีความหมาย เพราะปัจจุบันมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่น่าเสียดายที่ประเทศชาติจะต้องสูญเสียทรัพยากรตรงนี้ไป การที่รัฐบาลจะนำเรื่องนี้มาพูดคุย ซึ่งเข้าใจว่าผมน่าจะเป็นผู้รับผิดชอบ...
ที่สำคัญ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน อย่าขยายเป็นเรื่องการยึดดินแดน เสียดินแดน เพราะเป็นการปลุกความคลั่งชาติขึ้นมา ทำร้ายผลประโยชน์ที่ประเทศควรจะได้รับ...” – รมว.กลาโหมกล่าว
2.ปัญหา OCA ไทย-กัมพูชา
ข้อมูลและมุมมองที่น่าสนใจ เข้าถึงแก่นของเรื่องอย่างแม่นยำตรงไปตรงมา
ไม่มีอะไรคลั่งชาติ
ไม่เป็นการขายชาติ
ขอหยิบยกข้อเขียนล่าสุดของพลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา
ว่าด้วย “กรณีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับ OCA ไทย-กัมพูชา และแนวทางแก้ไข”
โดยให้อรรถาธิบายประกอบภาพได้เข้าใจชัดเจน ระบุว่า
“OCA ไทย-กัมพูชามีพื้นที่ 26,400 ตร.กม. เกิดจากการประกาศอ้างสิทธิพื้นที่ไหล่ทวีป ตามกฎหมายทะเลทั้งของไทย (ปี 2516) และกัมพูชา(ปี 2515) ในลักษณะอ้างสิทธิฝ่ายเดียว (Unilateral claim) จึงเกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน (Overlappine Claims Area : OCA) ขึ้น ถือว่ามีขนาดกว้างใหญ่มาก
โดยมีสาเหตุ มาจากการที่กัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปด้านเหนือ ผ่ากลางเกาะกูด เปรียบเสมือนลากเส้นเขตแดนของประเทศหนึ่ง ผ่ากลางเกาะของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเกินกว่าสิทธิตามกฎหมายทะเล และละเมิดอธิปไตยของไทย
ผลจากการที่กัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปผ่ากลางเกาะกูดในลักษณะ“เกินสิทธิ”เช่นนี้ ทำให้เกิดพื้นที่อ้างเกินสิทธิขึ้นใน OCA
ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้ควรเป็นของไทย 100% กัมพูชาไม่มีสิทธิ์ในพื้นที่ส่วนนี้เลย
มีขนาด 12,331 ตร.กม. (พื้นที่ส่วนสีแดง) หรือกว่า 46.7% ของพื้นที่ OCA ทั้งหมด
ที่เหลืออีก 14.069 ตร.กม. หรือ 53.3% (พื้นที่ส่วนสีเขียว) จึงเป็นพื้นที่ที่แต่ละฝ่ายสามารถอ้างตามสิทธิ์ตามกฎหมายทะเลว่าเป็นเขตไหล่ทวีปของตน
หากไทยยอมให้นำทรัพยากรใน OCA (พื้นที่อ้างตามสิทธิ + พื้นที่อ้างเกินสิทธิ์) มาแบ่งปันกับกัมพูชา ย่อมไม่ยุติธรรมกับไทย เพราะกัมพูชาย่อมไม่มีสิทธิ์ใดๆ เลย ในทรัพยากรในพื้นที่อ้างเกินสิทธิกว่า 46.7% ของ OCA (พื้นที่ส่วนสีแดง)
แต่ที่สำคัญ หากไทยยอมให้นำทรัพยากรใน OCA มาแบ่งปันกับกัมพูชา ซึ่งเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของ MOU44 เท่ากับไทยยอมรับความมีอยู่จริงของเส้นไหล่ทวีปที่ลากผ่านเกาะกูดนี้
ซึ่งจะสร้างความชอบธรรมให้กับกัมพูชา หากมีการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลในอนาคต ให้สามารถใช้เป็นหลักฐาน หรือข้อพิสูจน์ในศาลระหว่างประเทศ โดยอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ (Historic Title) ตามกฎหมายทะเล เพื่อให้เส้นไหล่ทวีปที่ลากผ่านเกาะกูดนี้ เป็นเส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ถูกต้องสมบูรณ์ และอาจนำไปสู่การเสียดินแดนของไทยต่อไป
สถานการณ์ขณะนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ทั้ง OCA และ MOU44 เปรียบเสมือนกับดักไปสู่การเสียดินแดนของไทย...”
3. แนวทางแก้ไข เพื่อไม่ติดกับดักไปสู่การเสียดินแดน
พลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์ เสนอแนะแนวทางแก้ไข ระบุว่า
เมื่อสถานการณ์ขณะนี้ ทั้ง OCA และ MOU44 เปรียบเสมือนกับดักไปสู่การเสียดินแดนของไทย แนวทางแก้ไข คือ
“1. ในทุกกรณี ไทยต้องไม่ยอมตกลงแบ่งปันทรัพยากรใดๆ กับกัมพูชาในพื้นที่ OCA 26,400 ตร.กม.นี้ แต่จะต้องเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลระหว่างกันให้แล้วเสร็จเสียก่อน
หากไทยยอมตกลงแบ่งปันทรัพยากร ในพื้นที่ OCA ก่อนการเจรจาแบ่งเขตแดนแล้วเสร็จ เท่ากับว่าไทยกำลังเดินเข้าสู่กับดักการเสียดินแดน
2. ไทยควรประกาศยกเลิก MOU44 โดยเร็วที่สุด
เพราะยิ่งเนิ่นนานไปไทยจะยิ่งเสียเปรียบ เนื่องจากบทบัญญัติของ MOU44 นั้น สื่อความหมายว่าไทยยอมรับการประกาศเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเมื่อปี 2515 ซึ่งหมายถึงยอมรับความมีอยู่จริงและสร้างความชอบธรรมให้กับเส้นไหล่ทวีปกัมพูชาที่ลากผ่านเกาะกูดนี้ จะทำให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลและอาจนำไปสู่การเสียดินแดนต่อไปในอนาคต
3. ไทยควรประกาศยืนยัน ไม่ยอมรับเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ประกาศเมื่อปี 2515 และเสนอให้มีการเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาต่อไป โดยสามารถใช้กฎหมายทะเลตามปกติเป็นกรอบการเจรจาได้เช่นเดียวกับที่ไทยดำเนินการกับประเทศอื่นๆ สำเร็จลุล่วงมาแล้ว เช่น มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น”
4. จะเห็นว่า ข้อมูลและข้อเสนอแนะแนวทางข้างต้นนั้น ไม่ใช่เรื่องคลั่งชาติแต่อย่างใด
ตรงกันข้าม เป็นสิ่งที่รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์พึงรับฟัง และชี้แจงต่อสังคมไทยอย่างเป็นระบบ
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องอธิปไตยแห่งเขตแดนของราชอาณาจักรไทย
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี