สมาคมการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton Election Consortium หรือ PEC) ก่อตั้งเมื่อปี 2004 โดย Samuel Wang ศาสตราจารย์ด้านชีวฟิสิกส์และประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันร่วมกับลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งที่ส่วนใหญ่มาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิทยาการข้อมูล (Data Science)
Samuel Wang หรือ แซม หวั่ง อพยพพร้อมกับพ่อแม่จากไต้หวัน มาตั้งรกรากอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนียตั้งแต่ยังเด็ก พออายุ 19 ก็จบปริญญาตรีทางฟิสิกส์ (เกียรตินิยม) จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) ขึ้นทำเนียบเป็นเด็กอายุน้อยสุดในรุ่นที่จบในปีนั้น จาก Cal-Tech แซม หวั่ง ไปเรียนต่อปริญญาเอกทางด้านประสาทวิทยา (Neuroscience) ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
หลังจากนั้น ดร.หวั่ง ก็ไปทำงานวิจัยหาประสบการณ์ที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) และ Bell Labs สถาบันวิจัยเอกชนที่ตั้งชื่อตาม อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบล ผู้คิดค้นประดิษฐ์โทรศัพท์เครื่องแรกของโลก ที่เน้นงานวิจัยด้านอิเล็กทรอนิกส์ สื่อสารคมนาคมและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ณ Bell Lab ดร.หวั่ง ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเกี่ยวกับการใช้สัญญาณแสงเลเซอร์และกล้องจุลทรรศ์ชนิดพิเศษเพื่อศึกษาเรื่องการทำงานของระบบการส่งสัญญาณไฟฟ้าในสมองมนุษย์
จาก Bell Lab ดร.หวั่ง ก็มาเป็นอาจารย์ที่พรินซ์ตันภาควิชาชีวโมเลกุลและประสาทวิทยา โดยทำวิจัย เขียนบทความและหนังสืออันเกี่ยวกับการทำงานของสมองมนุษย์ไว้มากมาย บางเล่มเป็นหนังสือขายดี เช่น “Welcome To Your Brain : Why You Lose Your Car Keys But Never Forget How To Drive”และ “Welcome To Child’s Brain : How The Mind Develops From Conception to College” ในแวดวงการศึกษาเรื่องสมองมนุษย์ เมื่อเอ่ยชื่อ แซม หวั่ง ทุกคนต่างคุ้นเคยกันดี
นักประสาทวิทยา ชีวฟิสิกส์-โมเลกุล อย่าง ดร.หวั่ง เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองเมื่อได้รับเลือกจากสมาคมวิทยาศาสตร์ชั้นสูงแห่งอเมริกา ให้เป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ประจำสภาคองเกรส และต่อมาเขาก็เข้าไปเป็นคณะทำงานในกรรมธิการด้านแรงงานและทรัยากรมนุษย์ของวุฒิสภา
หลังที่เข้ามาสัมผัสกับโลกของสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องทางการเมือง ดร.หวั่งก็เริ่มสนใจใน ศาสตร์ของการเลือกตั้ง หรือ“Psephology” ออกเสียงว่า ไซโพโลยี อันเป็นวิชาหรือการศึกษาว่าด้วยเรื่องของการเลือกตั้ง (the study of elections) ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือคำว่า “psephos” หรือ pebble ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า“ก้อนกรวด” เพราะในสมัยกรีกโบราณนั้น ชาวกรีกออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการหย่อนก้อนกรวดลงไปในไหเลือกตั้งขนาดใหญ่
Psephology เป็นวิชาที่เกิดใหม่เมื่อสักประมาณทศวรรษ 1950s หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติไม่นาน นักรัฐศาสตร์บางคนจัดให้วิชานี้เป็นแขนงหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์ แต่ก็เป็นรัฐศาสตร์เชิงปริมาณที่เน้นการศึกษาเรื่องของการเลือกตั้งด้วยวิธีและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เช่น การวิเคราะห์ทางสถิติ การใช้สูตรคณิตศาสตร์อันสลับซับซ้อนไปจนถึงการสร้างโมเดลหรือรูปแบบ พฤติกรรมการออกมาลงคะแนนเสียงของประชาชนด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อทำนายผลการเลือกตั้ง
เพราะด้วยการใช้วิธีวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาการเลือกตั้ง จึงทำให้บรรดานักอะไรต่างๆ อีกหลายนัก....ที่มีพื้นทางคณิตศาสตร์แข็งๆ สนใจที่จะนำวิทยายุทธหรือวิธีวิทยาจากศาสตร์ของตนมาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ว่าด้วยการเลือกตั้งหรือ Psephology และ ดร.หวั่ง ก็เป็นหนึ่งในบุคคลดังกล่าวข้างต้น
ปี 2004 ดร.หวั่งได้ลองใช้เครื่องมือทางสถิติไปคำนวณหาความน่าจะเป็นของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่าง จอร์จ บุช กับจอห์น เครี่ ด้วยการไปศึกษาโพลของสำนักต่างๆ อีกทีหนึ่งที่ออกมามากมายจากหลากหลายสำนักในช่วงระหว่างฤดูการเลือกตั้งปี 2004
ด้วยเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลขนาดมหึมาแบบ Big Data บวกกับความสามารถในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ที่รุดหน้าไปมากประกอบกับพื้นฐานคณิตศาสตร์อันแข็งโป๊กของ ดร.หวั่ง ที่ออกแบบชุดคำสั่งและขั้นตอนวิธี (Algorithm) ให้คอมพิวเตอร์ซึ่งทำนายผลการเลือกตั้งว่าบุชจะได้คะแนน electoral vote 286 และเครี่ได้ 252 ที่ผลออกมาถูกแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
ปี 2008 ดร.หวั่งและทีมงาน ทำนายผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2008 ในคะแนน electoral vote ระหว่าง บารัค โอบามา กับ จอห์น แม็คเคน ถูกถึง 49 รัฐ ผิดไปแค่รัฐเดียว เพียง 1 electoral voteในรัฐเนบราสกา (Nebraska) ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 2 รัฐ (และรัฐเมน)ที่คะแนน electoral vote ไม่ได้เป็นแบบ winner-take-allหรือใครชนะกวาดเรียบแต่สองรัฐนี้คะแนน electoral vote จะถูกแบ่งไปตามสัดส่วนคะแนน popular vote ที่ผู้สมัครแต่ละคนได้
ปี 2012 Princeton Election Consortium ที่นำโดย ดร.หวั่ง ก็ยังรักษามาตรฐานการทำนายผลคะแนน electoral vote ถูกถึง 49 ใน 50 รัฐเช่นเคย และยังทำนายว่าโอบามาจะได้คะแนน popular vote 51.1% โดย มิตต์ รอมนีย์ จะได้ 48.9% ซึ่งพอผลเลือกตั้งออกมา โอบามาก็ได้คะแนน popular vote ประมาณ 51.1% จริงๆ แต่ของรอมนีย์นั้นผิดพลาดไปเพียงเล็กน้อยเพราะได้ 47.2% พร้อมกับทำนายผลการเลือกตั้งวุฒิสภาใน 10 รัฐที่สูสีกันมากที่สุด ถูกหมดทั้งสิบรัฐ
ด้วยความมั่นใจในวิธีวิทยาที่นำมาใช้ในวิชา Psephology ดร.หวั่งประกาศทำนายผลการการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2016 ว่าฮิลลารีมีโอกาสถึง 93% และต่อมาเพิ่มเป็น 99% ที่จะชนะทรัมป์ ด้วยคะแนน electoral vote 323 ต่อ 215 คะแนน ซึ่งตัวเขาพร้อมที่จะไปกินแมลง...ถ้าผลการทำนายผิดพลาด
อย่างไรก็ตาม....ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2016 พลิกล็อกแบบวินาศสันตะโร ฉีกหน้าการทำนายของสำนักโพลชั้นนำหลายสิบแห่ง รวมทั้ง PEC ของดร.หวั่งด้วย ซึ่งเขาก็กล่าวยอมรับความผิดพลาดของตัวเองอย่างสุภาพบุรุษ พร้อมกับกินจิ้งหรีดจิ้มน้ำผึ้งต่อหน้าสาธารณชน ตามที่ประกาศไว้ในรายการของ CNN พร้อมกับกล่าวทิ้งท้ายฝากบรรดาเหล่านักการเมืองทั้งหลายว่า...
“...เมื่อผมผิด ผมก็พร้อมที่จะยอมรับผิดโดยไม่ลังเล และพร้อมที่จะรักษาคำพูดของผมไว้ตลอดเวลา...”
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้ง ปี 2020 อันเป็นปีที่โควิด-19 เริ่มระบาดตั้งแต่ช่วงต้นปี ดร.หวั่ง ได้เบนเข็มไปศึกษาเรื่องรูปแบบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดแทน ก็เลยไม่ได้มีการพยากรณ์อะไรที่พิเศษหรือโดดเด่นแตกต่างจากสำนักโพลอื่น ๆ มากนัก เพราะโพลส่วนใหญ่ทำนายว่าทรัมป์จะแพ้การเลือกตั้งปี 2020 จากการแก้ไขปัญหาโควิดที่ล่าช้า อันทำให้คนอเมริกันเสียชีวิตไปกว่า1.2 ล้านคน
สำหรับการเลือกตั้ง ปี 2024 ที่จะมีขึ้นวันอังคารที่ 5 พ.ย. นี้ ผลโพลสองครั้งล่าสุดของ สมาคมการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน นำทีมโดย ดร.หวั่ง พบว่า....
วันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา แฮร์ริสจะได้ electoral vote 279 คะแนน ส่วนทรัมป์ได้ 256 คะแนน (ผู้ชนะจะต้องได้ electoralvote อย่างน้อย 270 คะแนน)
และล่าสุด วันที่ 30 ตุลาคม หรือหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง electoral vote ของแฮร์ริสลดลงเหลือ 264 ขณะที่ทรัมป์เพิ่มขึ้นมาเป็น 271 คะแนน
ครับ สัปดาห์หน้าก็จะทราบว่าผลการศึกษาเรื่องการเลือกตั้งครั้งนี้ของดร.หวั่ง ว่าจะมีความแม่นยำมากน้อยแค่ไหน
สำหรับความเห็นผมนั้น คิดว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้ง เพราะจากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับคนอเมริกันมาอยู่บ้างนั้น พบว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่ลึกๆ แล้วยังรู้สึกตะขิดตะขวงใจในการที่จะยอมรับให้สุภาพสตรีเป็นผู้นำและยิ่งเป็นประธานาธิบดีหญิงผิวสีคนแรกด้วย และความคิดประเภทชาตินิยมที่เชื่อในความสูงสุดของคนขาว (เพศชาย) ก็ยังฝังอยู่ในหัวคนอเมริกันจำนวนมาก ในทุกระดับและทุกวงการอีกเช่นกัน แม้กระทั่งคนที่ปากบอกว่าตัวเองเป็นเสรีนิยม ยอมรับในความเท่าเทียมกันของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม...ถ้าแฮร์ริสชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าคนอเมริกันต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนจริงๆ ซึ่งก็ต้องฝากความหวังไว้ที่กลุ่มอเมริกันชนที่เป็นเสรีนิยมตัวจริงเพราะอย่าลืมว่าที่นั้นก็มีพวกเสรีนิยมจอมปลอมจำนวนไม่น้อย และอีกกลุ่มก็คือพวกชนชาติต่างๆ ที่พี่งทยอยมาปักหลักปักฐานณ ดินแดนแห่งนี้ เพื่อมาหาชีวิตที่ดี (American dream) ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา จนได้เป็นพลเมืองสหรัฐ และถ้าบวกกับฐานเสียงดั้งเดิมของพรรคเดโมแครตออกมาใช้สิทธิกันอย่างเต็มที่ โอกาสที่จะได้เห็นประธานาธิบดีผิวสีหญิงคนแรกสหรัฐก็ยังมีอยู่ และส่วนตัวแล้ว ผมก็เชียร์แฮร์ริสและอยากให้เธอชนะ
และเมื่อสักอาทิตย์ก่อน เพื่อนอเมริกันผู้ไม่พิศมัยทรัมป์ได้พูดทีเล่นทีจริงกับผมไว้ว่า...ถ้าทรัมป์จะชนะเลือกตั้งในวันที่ 5 วันรุ่งขึ้นอั๊วจะลางาน แล้วชวนลื้อไปนั่งกินเบียร์ด้วยกันทั้งวัน....ส่วนอีกสามสี่คน ก็พูดเปรยๆ ในทำนองเดียวกันให้ผมฟังเมื่อช่วงเดือนที่แล้วว่า....ถ้าทรัมป์ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีก ผมจะย้ายไปอยู่แคนาดาหรือฝรั่งเศส หรือไม่แน่อาจจะไปอยู่ไทยแลนด์ ประเทศคุณก็ได้...
ครับ...ก็ได้แต่หวังว่า...ผมคงไม่ต้องไปนั่งกินเบียร์เป็นเพื่อนปลอบใจเจ้าเพื่อนคนแรก และหาที่อยู่ในประเทศไทยให้กับเพื่อนกลุ่มหลัง
ดร.ธิติ สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี