ในเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ๆ เกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือ รถบัสพานักเรียนจากโรงเรียน วัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ไปทัศนศึกษาที่สำนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) อ.บางกรวย จ.นนทบุรี แต่เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันที่ 1 ต.ค. 2567 ในขณะที่ขบวนรถบัสจำนวน 3 คัน ใช้เส้นทาง ถ.พหลโยธิน (ขาเข้า) บริเวณใกล้กับห้างเซียร์รังสิตและอนุสรณ์สถานแห่งชาติ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี รถบัสคันที่ 2 เกิดยางแตกตามด้วยไฟลุกไหม้ทั่วคันรถ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งครูและนักเรียนรวม 23 ราย
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า “ถนนเมืองไทยอันตรายทุกวัน”อาทิ หากอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน (ThaiRSC) ณ วันที่ 1 ต.ค. 2567 พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-กันยายน) มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสะสมแล้ว 10,393 ราย และผู้บาดเจ็บสะสม 633,045 ราย ขณะที่ Hfocus สำนักข่าวออนไลน์ด้านสุขภาพ โดยมูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกลางด้านการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ช่วงปี 2558-2566 พบว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนราว 1-2 หมื่นราย
เมื่อบวกกับ “อัตราการเกิดของประชากรลดลง”อาทิ ในวันที่ 30 ต.ค. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ในขณะนั้น) เปิดเผยว่า “การลดลงของเด็กเกิดใหม่ในไทยอยู่ในขั้นวิกฤต” จากเดิมมีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ในช่วงปี 2506-2526 ลดลงเหลือ 485,085 คน ในปี 2564ขณะที่ในฐานข้อมูลของกรมการปกครอง ระบุว่า ในปี 2565มีเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยอยู่ที่ 502,107 คน และในปี 2566 อยู่ที่ 517,934 คน การที่มีเด็กและเยาวชน (หรือแม้แต่ประชากรวัยแรงงาน) สูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จึงเป็นเรื่องน่าห่วง
หากจะกล่าวในภาพกว้าง “เพราะระบบขนส่งสาธารณะไม่สะดวกเพียงในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ จึงกดดันบีบคั้นให้คนไทยต้องใช้ยานพาหนะส่วนตัวทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์” ดังที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ เนื่องใน “วันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน (World Day of Remembrance for Road Traffic Victims)” ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2566 โดยวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนนั้น องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้เป็นวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า การไม่มีระบบขนส่งสาธารณะให้บริการที่เหมาะสมเพียงพอในทุกพื้นที่ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ประชาชนต้องเลือกใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์เพื่อการเดินทางแทน ขณะเดียวกันเมื่อระบบขนส่งสาธารณะของไทยยังกระจุกตัวแค่ในกรุงเทพฯ และไม่มีการกระจายอย่างทั่วถึงไปในส่วนภูมิภาค ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ส่งผลให้บริการรถโดยสารสาธารณะมีแนวโน้มลดจำนวนลง
“ที่ผ่านมารัฐยังไม่มีมาตรการในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะและส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้บริการขนส่งสาธารณะที่ควรเป็นบริการหลักของการคมนาคมขั้นพื้นฐาน เช่น ระบบรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ถูกทำให้กลายเป็นบริการทางเลือกหรือบริการรถเมล์โดยสารที่ถูกทำให้เป็นพาหนะสำหรับผู้มีรายได้น้อย
รวมถึงอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะและรถรับส่งนักเรียนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจำนวนมากในแต่ละปี ตอกย้ำภาพระบบบริการขนส่งสาธารณะที่อ่อนแอ ไม่ปลอดภัย สะท้อนถึงปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้างของประเทศ และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วนของผู้บริโภค” คงศักดิ์ กล่าว
ในวันที่ 18 ต.ค. 2567 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 450 องค์กร จัดเวทีเสวนาสาธารณะ ภายใต้หัวข้อ “อนาคตเด็กไทยกับความปลอดภัยบนท้องถนน” โดยในเวทีนี้ ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปี 2566 โดยกรมควบคุมโรค ไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 17,498 ราย หรือคิดเป็นเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 48 ราย
ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 0-24 ปี มากถึง 10 คน เรียกได้ว่าเป็น 1 ใน 5 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน สาเหตุการเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 90.7 เมาแล้วขับ ร้อยละ 38.3 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 37.5 ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ร้อยละ 33.5 ไม่คุ้นเคยเส้นทาง ร้อยละ 17.3 ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กเกิดลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อสังคมสูงวัย การคุ้มครองสวัสดิภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของเด็ก จึงควรถูกกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของทุกรัฐบาลที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
เช่นเดียวกับ ผศ.สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ได้อ้างถึงรายงานการทบทวนสถานการณ์ ความท้าทาย และแนวทางการดูแลเด็กปฐมวัย ในสถานเลี้ยงเด็กปฐมวัย ปี 2565 โดยมหาวิทยาลัยรังสิต ที่พบว่า ไทยมีเด็ก อายุ 0-6 ปี จำนวน 4.3 ล้านคน ในจำนวนนี้ 2 ล้านคน ต้องใช้ขนส่งสาธารณะหลากหลายรูปแบบในการเดินทาง เนื่องจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาลไม่ได้มีทุกหมู่บ้าน ระยะทางไกล และเกินครึ่งผู้ปกครองไม่สามารถรับ-ส่งด้วยตนเอง จึงต้องแบกรับความเสี่ยงอุบัติเหตุอย่างเลี่ยงไม่ได้
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2567 ได้หยิบยกเรื่องโศกนาฏกรรมรถบัสมรณะ 23 ศพ ขึ้นมากล่าวถึง
โดยระบุว่า “อุบัติเหตุทางถนนกระทบต่อสิทธิและความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของทุกคน” โดยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) บัญญัติให้เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอดและสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองในทุกรูปแบบเพื่อให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ
อีกทั้ง “คณะกรรมการประจำ CRC มีข้อกังวลเกี่ยวกับอุบัติเหตุและการบาดเจ็บทางถนนในประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเสียชีวิต” จึงแนะนำให้รัฐดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างนโยบายการดูแลเด็ก และการสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัยของเด็กแก่ครอบครัว โรงเรียน และสังคมโดยรวม
ทั้งนี้ หนึ่งในข้อเสนอของ กสม. คือ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อยุติการเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งสมควรมอบหมายให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบภาพรวมเป็นการเฉพาะ (single command) เพื่อกำกับติดตาม รายงานสถานการณ์ และประเมินผลเพื่อรายงานให้ ครม. ทราบความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี