กรณีกรมราชทัณฑ์นำตัวผู้ต้องขังตามหมายขังของศาลออกไปนอกเรือนจำโดยไม่ขออนุญาตศาล เป็นเรื่องที่กล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ แม้กระทั่งในวงการผู้พิพากษาตุลาการด้วยกันเองก็วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันสนั่นหวั่นไหว
และเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาล ซึ่งเป็นอำนาจเดียวในอำนาจอธิปไตยที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้กระทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์โดยตรง
ผู้พิพากษาตุลาการนั่งพิจารณาอรรถคดีภายใต้พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และปฏิบัติการทั้งหลายของศาล ไม่ว่าในการออกหมาย
หรือคำสั่งใดๆ หรือในการพิพากษาอรรถคดี จะกระทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์โดยตรงโดยเฉพาะหมายทั้งหลายของศาลนั้นจะเป็นการออกหมายในพระปรมาภิไธยในพระมหากษัตริย์ และประทับตราแผ่นดินในการออกหมาย ที่ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เป็นที่ยำเกรงของคนทั้งหลาย แม้กระทั่งผีสางและเทวดา
ในอดีตบรรดาผู้เรืองวิทยาคมทั้งหลายเมื่อจะทำพิธีไล่ผีหรือเจ้าที่เจ้าทางที่ว่าแรงกล้าไม่สามารถเชิญออกหรือไล่ออกด้วยวิทยาคมปกติได้ ก็จะใช้วิธีการยืมหมายของศาลมาปิดหรือมาปัดตามต้นไม้หรือเสาที่เชื่อว่ามีผีสางเทวดาสิงสถิตอยู่และไล่ไม่ไป ก็จะปรากฏเสียงร้องโหยหวน เทียนที่ทำพิธีก็จะถูกลมกระโชกดับ และนับแต่นั้นเหตุการณ์ร้ายก็จะหายไป เป็นที่รู้กันดีในบรรดาผู้ที่สนใจในวิทยาคมทั้งหลาย นั่นแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของศาลที่มีความศักดิ์สิทธิ์ไปถึงหมายของศาลที่ออกไปในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และประทับตราแผ่นดินที่มีชื่อศาลกำกับไว้
ก็ขนาดผีสางเทวดายังยำเกรงนับถือ แต่ไฉนเล่าคนเราในปัจจุบันนี้จึงไม่ใส่ใจไม่ยำเกรงความศักดิ์สิทธิ์ของศาล ซึ่งก็คือไม่ยำเกรงในพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ ที่ศาลกระทำการในพระปรมาภิไธยในพระองค์นั่นเอง การทั้งนี้แม้ว่าจะเกิดขึ้นจากบุคคลภายนอกด้วย แต่ก็จะเกิดจากการปล่อยปละละเลยไม่รักษาธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาล ของผู้มีหน้าที่ทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ด้วย
ความปล่อยปละละเลยแบบนี้บางทีก็เลยเถิดจนเกิดความเสียหายแก่ศาล ดังที่มีการแต่งบทประพันธ์เยาะเย้ยถากถางศาลไว้ในแบบเรียนแม่ ก.กา ในหนังสือมูลบทบรรพกิจ ซึ่งตอนหนึ่งมีความว่า
“คดีที่มีคู่ คือไก่หมูเจ้าสูภา ใครเอาข้าวปลามา เจ้าสูภาก็ว่าดี ที่แพ้แก้เป็นชนะ ไม่ถือพระประเวณีขี้ฉ้อก็ได้ดี ใครด่าตีมีอาญา” ซึ่งเป็นความละอายใจของบรรพตุลาการมาแต่ครั้งโบราณ ดังนั้นบรรดาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ที่สอนสั่งทางกฎหมายจึงพร่ำสอนศิษย์ในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษเหมือนกันทุกคน
เมื่อครั้งที่ศาสตราจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์ หลวงสุทธิมนต์นฤนาท หลวงสุทธิวาทนฤพุฒิหลวงชำนาญเนติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ก็จะพร่ำสอนศิษย์อยู่เนืองๆ ในลักษณะอย่างเดียวกันว่า
ศาลเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้ายของประชาชนดังนั้นต้องธำรงความศักด์สิทธิ์ของศาลให้เป็นที่ประจักษ์ แม้ศาลจะทำการพิจารณาอรรถคดีด้วยความเมตตา ไม่ตั้งอยู่ในอคติทั้งสี่ แต่เมื่อถึงทีพิพากษาอรรถคดีนั้น ศาลจะต้องไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหมหรือยำเกรงแก่อำนาจใดๆ หรือปล่อยปละละเลยเรื่อยเปื่อยไป จะต้องพิพากษาอรรถคดีให้ถูกตรงตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
วันเวลาผ่านไปนานนักหนา แต่คำพร่ำสอนเหล่านี้ยังตรึงหูติดใจนักเรียนกฎหมายในอดีต ซึ่งในวันนี้ถ้าเป็นผู้พิพากษาตุลาการก็คงจะเกษียณอายุกันไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่เมื่อจิตวิญญาณของบรรพตุลาการทั้งหลายเป็นอย่างนี้ ก็ชอบที่ผู้พิพากษาตุลาการในรุ่นปัจจุบันจะพึงตระหนักสังวรและธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาล อย่าให้ถูกดูแคลนเหยียบย่ำทำลายได้ทั้งนี้ผู้เป็นประธานศาลฎีกาคือผู้รับผิดชอบดูแลให้เป็นไป แม้กระทั่งทรงไว้ซึ่งอำนาจในการวางระเบียบให้ผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลายปฏิบัติโดยอาศัยอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมได้
จากกรณีมีการส่งตัวผู้ต้องขังตามหมายขังของศาลออกไปนอกเรือนจำนั้นเป็นที่รู้กันทั่วไป ซึ่งต้องถือว่าผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลายย่อมได้รับรู้รับทราบด้วยแล้ว กรณีที่เป็นปัญหาคือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 บัญญัติบังคับว่าการนำตัวผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำตามหมายขังของศาลนั้น จะต้อง
ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน แต่ปรากฏว่าไม่เคยมีการขออนุญาตจากศาลเลย
ในเบื้องต้น กรณีนี้จึงเป็นว่ามีการละเมิดหรือก้าวล่วงหรือฝ่าฝืนหมายขังของศาล เพราะหมายขังของศาลนั้นเป็นการออกในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ด้วยอำนาจแห่งกฎหมายสั่งให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่คือกรมราชทัณฑ์ทำการขังผู้ต้องขังในเรือนจำตามที่ศาลกำหนด ดังนั้น ถ้าหากใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติโดยเฉพาะคือไม่ขังจำเลยไว้ในเรือนจำตามหมายขังของศาลก็เป็นการละเมิดก้าวล่วงของศาลและฝ่าฝืนหมายขังของศาล ศาลจะต้องดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นเบื้องต้น
และการก้าวล่วงละเมิดอำนาจศาลอย่างนี้ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เจ้าหน้าที่ธุรการของศาลจะต้องแจ้งเรื่องให้ ป.ป.ช.ทำการตรวจสอบไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านั้นตามกฎหมาย
ถัดมาถ้าความปรากฏว่ามีการนำตัวผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำโดยไม่ขออนุญาตจากศาล กฎหมายบังคับให้ศาลต้องทำการไต่สวน ถ้าความปรากฏตามนั้น ศาลก็จะต้องออกหมายขังจำเลยไว้ตามคำพิพากษาต่อไป ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของศาลโดยตรง แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการปฏิบัติ ซึ่งอาจจะเกิดความเคยชินหรือความเข้าใจผิดว่าเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ที่จะทำการได้
ในกรณีเช่นนี้อาจแก้ไขปัญหาความเข้าใจผิดหรือความสับสนได้ โดยเป็นหน้าที่ของประธานศาลฎีกาที่จะวางระเบียบในเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพื่อเป็นหลักปฏิบัติแก่ผู้พิพากษาตุลาการทั่วประเทศโดยอาศัยอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุติธรรม
เมื่อใดที่ผู้มีอำนาจทุกคนทุกฝ่ายได้ร่วมกันธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาล พิทักษ์ไว้ซึ่งความเที่ยงตรง ความยุติธรรม ขื่อแปของบ้านเมืองก็จะมั่นคงแข็งแรง แทนที่จะถูกเซาะกร่อนจนผุพังดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี