ระยะหลังนี้มีการรณรงค์จากกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายให้ถวายคืนพระราชอำนาจ ซึ่งอาจเป็นเรื่องมิบังควรทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทที่ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองจะโดยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองกว่า 92 ปีที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญทุกฉบับ บัญญัติให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชอำนาจผ่านทางตุลาการ นิติบัญญัติ ตลอดถึงฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญซึ่งแตกต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมอำนาจ และพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจผ่านพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้มีความรู้ ความสามารถบริหารอำนาจ ต่างพระเนตรพระกรรณ ที่พระองค์ท่านใช้อำนาจปลดผู้ต่างพระเนตรพระกรรณออกจากตำแหน่งได้ เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น
การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้พสกนิกรของพระองค์ท่าน มีส่วนสำคัญในการใช้อำนาจเบื้องต้น นั่นคือ อำนาจในการเลือกผู้แทนราษฎรมาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและพัฒนาเป็นฝ่ายบริหารเป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญกำหนด
แต่ในความเป็นจริงอำนาจประชาชนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มอบให้ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ถูกนักเลือกตั้งปล้นไป ประกอบกับคนไทยส่วนใหญ่ พร้อมใจกันมอบอำนาจให้ทรราชผ่านบัตรเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย คนไทยส่วนใหญ่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ปฏิบัติตามกระแสพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่มีพระบรมราโชวาท ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512ซึ่งความตอนหนึ่งว่า
“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดีไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมดการทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงแนะนำสั่งสอน ผ่านพระบรมราโชวาทครั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมสวนทางกับพระบรมราโชวาท เห็นได้จากทุกครั้งที่คนไทยออกไปใช้อำนาจของตัวเองผ่านการเลือกตั้งในห้วงเวลาหลายสิบกว่าปีที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำตามพระบรมราโชวาทที่ว่า..“ส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
ในทางตรงกันข้ามการใช้สิทธิเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาประชาชนมีส่วนส่งเสริมคนไม่ดีให้อำนาจก่อความเดือดร้อนได้ตลอดมา คือ คนไทยส่วนใหญ่เลือกพรรคการเมือง-นักการเมืองมีประวัติไม่ดี เป็นเสียงส่วนใหญ่เข้าไปมีอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร สร้างความเดือดร้อนโดยการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ใช้อำนาจเผด็จการสภาทุจริตทางนโยบายตลอดจนใช้อำนาจแทรกแซงองค์กรอิสระแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายจนทหารต้องยึดอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จัดให้มีการเลือกตั้ง แล้วประชาชนส่วนใหญ่ก็เลือกคนไม่ดีเข้ามามีอำนาจอีก ตลอดเวลายี่สิบกว่าปีวนเวียนกันอยู่อย่างนี้แล้วยังมีหน้ามารณรงค์ถวายคืนพระราชอำนาจให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาททำไม หรือว่ามีวาระซ่อนเร้นอะไรในการรณรงค์ครั้งนี้
ปี 2567 สังคมไทยพัฒนาก้าวหน้ากว่าปี 2475 ก้าวหน้าเกินกว่าที่นักการเมืองจะใช้เป็นข้ออ้างเหมือนคณะราษฎรเขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจตัวเอง แต่งตั้งผู้แทนราษฎรไว้สามขั้นตอน คือ 6 เดือนแรก คณะราษฎรใช้อำนาจ แต่งตั้งสมาชิกสภา 78 คน เพื่อเตรียมการจัดให้มีการเลือกตั้ง ขั้นตอนที่สอง สมาชิกสภา ประเภทที่ 1 มาจากผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งจำนวนทั้งสิ้น 78 คน สมาชิกประเภทที่ 2 มาจากผู้ที่คณะราษฎรโดยคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารใช้อำนาจแทนแต่งตั้งขึ้น จำนวนทั้งสิ้น 78 คน ขั้นตอนที่สองนี้ คณะราษฎรอ้างว่าต้องใช้เวลา 10 ปีจนกว่าคนไทยกว่า 50% เรียนจบชั้นประถมศึกษาถึงจะพัฒนาให้ประชาชนเลือกผู้แทนทั้งสองประเภทได้ และขั้นตอนที่สามที่กำหนดให้คณะทรราชคุมอำนาจเด็ดขาดสิบปี อาจเป็นสาเหตุสำคัญให้ ในหลวง รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี เพียงพระองค์เดียวที่สละราชสมบัติ และต้องไปสิ้นพระชนม์ในต่างแดน ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ แม้จะทรงยินยอมสละพระราชอำนาจให้ราษฎร แต่อำนาจนั้นกลับไม่ถึงมือประชาชน มีคนกลุ่มหนึ่งนำอำนาจนั้นไปใช้โดยพลการ จึงไม่ขอมีส่วนร่วมกับใช้อำนาจนั้นด้วย ทรงสละราชสมบัติ ในวันที่ 2 มีนาคม 2477 โดยคำประกาศมีข้อความตอนหนึ่งว่า
“…ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิ์ออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าในฐานที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์…”
พ.ศ.2567 คนไทยเรียนจบ แค่ประถม หรือต่ำกว่าคิดเป็น ประมาณ 45% ปีหนึ่งมีคนจบ ป.ตรี 3 แสนคน จบป.โท 6.3 หมื่นคน และจบ ป.เอก 4 พันคน ประมาณว่าประชากรไทย 69 ล้านคนมีคนจบ ป.ตรี 6 ล้านคน คิดเป็น 8.8% จากสถิติพบว่า คนเรียนจบแค่ชั้นประถม เป็นส่วนน้อยของประเทศไทย แต่แปลกไหม? ที่คนไทยส่วนใหญ่ในยุคนี้กลับไม่มีจิตสำนึกไม่มีสติปัญญาดันไปส่งเสริมคนไม่ดีให้มีอำนาจสร้างความเดือดร้อนด้วยการเลือกตั้งนักการเมืองไม่ดีเข้ามามีอำนาจ ประชาชนส่วนใหญ่เลือกนักการเมืองไม่ดี เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ถูกหลอกหรือว่า จงใจสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติที่เลือกนักการเมือง-พรรคการเมืองไม่ดีเข้ามามีอำนาจทั้งๆ ที่รู้ว่านักการเมือง-พรรคการเมืองนั้นๆ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร
ตัวอย่างเช่นเร็วๆ นี้นักการเมืองที่มีประวัติทุจริตคอร์รัปชั่นมีคดีอยู่ในศาล แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังเลือกจำเลยคดีคอร์รัปชั่น เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จนเกิดความวุ่นวายเข้ารับตำแหน่งไม่ได้จนวันนี้ และที่เลวร้ายไปกว่านั้นพรรคการเมืองที่ผู้ชนะเลือกตั้งคนนั้นสังกัดก็มีประวัติทุจริตคอร์รัปชั่นหลายแสนล้านบาทในขณะที่มีอำนาจบริหารสามรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่รู้ดีว่า ผู้มีอำนาจสูงสุดในพรรคการเมืองนั้น มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและปัญหาความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จนตกเป็นจำเลยคดีอาญา มาตรา 112 แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ยังเลือกพรรคการเมืองดังกล่าวเข้ามามีอำนาจจัดตั้งรัฐบาล ที่เลวร้ายกว่านั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด พรรคการเมืองที่มีแนวทางมีอุดมการณ์ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ชนะเลือกตั้งได้ สส.มากที่สุดเข้าสภา
ดังนั้นปัญหาของประเทศไทยในเวลานี้ ไม่ได้อยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษา แต่ปัญหาอยู่ที่คนไทยส่วนใหญ่เห็นแก่ตัวไร้จิตสำนึก ไม่มีทัศนคติที่ดี ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม จะแก้ปัญหาสะสมของประเทศไทยได้ต้องสร้างทัศนคติที่ดีสร้างจิตสำนึกให้คนไทยส่วนใหญ่รับผิดชอบต่อสังคมโดยการเลือกนักการเมืองดีเข้ามามีอำนาจตามกระแสพระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ว่า“ส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้” ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการถวายคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ ที่อาจระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีมหามงคลครบรอบ 72พระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เป็นหน้าที่สำคัญของคนไทยที่ต้องทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล มิให้มีสิ่งใดระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทพระองค์ท่าน
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี