ธนาคารกลางของทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่อ้างว่าตนเองปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ต้องมีความเป็นกลางต้องทำงานแบบมืออาชีพที่แท้จริงโดยปราศจากการแทรกแซง ครอบงำโดยนักการเมือง และพรรคการเมือง และนักธุรกิจการเมือง
เหตุผลสำคัญที่ธนาคารกลางต้องเป็นอิสระ ก็เพราะจะทำให้เกิดเสถียรภาพของนโยบายการเงิน มีเสถียรภาพด้านราคา ไม่มีความผันผวนในเชิงเศรษฐกิจ และทำให้ต่างชาติที่จะมาค้าขายทำธุรกิจกับประเทศนั้นๆ เกิดความเชื่อมั่นศรัทธา และที่สำคัญคือไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองหรือรัฐบาลที่เน้นประโยชน์เฉพาะตนในทางการเมือง โดยไม่นำพากับความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
สำหรับประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีโง่เขลาเบาปัญญา จะประกาศความโง่ของตัวนายกรัฐมนตรีโดยผ่านคำพูดทำนองว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง คืออุปสรรคของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และที่สำคัญคือนายกรัฐมนตรีที่โง่เง่าเขลาขลาดจะเข้าใจว่าความเดือดร้อนของประชาชนในด้านเศรษฐกิจเกิดมาจากความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ส่วนนายกรัฐมนตรีที่มีสถานะเป็นหุ่นกระบอกของนายทุนการเมือง และนักธุรกิจการเมืองก็จะมุ่งเน้นการจำกัดอิสรภาพในการดำเนินงานของธนาคารกลาง และพยายามให้นักการเมืองเข้าไปครอบงำแทรกแซงธนาคารกลาง และผู้ว่าการธนาคารกลาง
นักการเมืองในประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่สามารถจัดการกับการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการทุจริตฉ้อฉล ซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันอย่างเอิกเกริก และไม่สามารถจัดการกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่เต็มไปในทุกพื้นที่ของแผ่นดิน มีสันดานอย่างหนึ่งคือใช้อำนาจรัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบให้ตนเองตลอดเวลา เพราะนักการเมืองจำพวกดังกล่าวเน้นการได้ผลประโยชน์แบบ Quick Win แต่เป็น Quick Win ของตนเองเท่านั้น ไม่ใช่ผลประโยชน์ของสาธารณะ และประเทศชาติ
ถามว่าทำไมนักการเมือง (เลว ๆ ที่เน้นการโกงกิน) ต้องการเข้าไปควบคุมและบงการธนาคารกลาง ตอบได้ว่า เพราะนักการเมืองเลวต้องการให้ธนาคารกลางพิมพ์ธนบัตรออกมาให้มากที่สุด โดยไม่นำพาว่าจะเกิดปัญหาเงินเฟ้อ หรือฟองสบู่เศรษฐกิจแตกในอนาคตหรือไม่ ทั้งนี้จากผลการศึกษาของ IMF ระบุว่าในช่วงปี ค.ศ. 2007-2021 ประเทศที่มีธนาคารกลางที่ดำเนินงานโดยอิสระจะดูแลแก้ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศได้ดีกว่า (คือรักษาอัตราเงินเฟ้อต่ำได้) ประเทศที่ธนาคารกลางถูกแทรกแซง
นอกจากนั้นยังพบว่าเสถียรภาพของเศรษฐกิจในประเทศจะเติบโตได้ดีในระยะยาว และได้รับความไว้วางใจจากนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ (credit rating) โดยนักธุรกิจจะเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงในประเทศต้องไม่มีปัญหาความผันผวนของราคาสินค้า และราคาวัตถุดิบอย่างรุนแรง รวมถึงไม่มีปัญหาหนี้สินของภาคเอกชนและภาครัฐ อันเนื่องมาจากการกู้เงินจากต่างประเทศมากจนเกินความพอดี รวมถึงต้องได้รับการดูแลด้านเสถียรภาพด้านนโยบายการเงินเป็นอย่างดีจากธนาคารกลาง ซึ่งการที่ธนาคารกลางทำหน้าที่ได้ดีโดยอิสระจะช่วยลดปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ แม้จะทำให้รัฐบาลไม่พอใจ เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจโตแบบหวือหวาไม่มั่นคง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านลบทางเศรษฐกิจที่จะตามมาในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องมีธนาคารกลางทำหน้าที่ถ่วงดุลกับรัฐบาลให้เหมาะสม นั่นคือธนาคารกลางต้องเป็นอิสระจากการถูกนักการเมือง และรัฐบาลแทรกแซง เพื่อรักษาเสถียรภาพสูงสุดให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงธนาคารกลางได้โดยง่าย จะพบว่าธนาคารกลางถูกกดดันสารพัดเรื่องเพื่อให้สนองความต้องการของรัฐบาลได้ เช่น รัฐบาลอาจเรียกร้องให้ลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ตามความต้องการของรัฐบาล จนนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง หรือเกิดปัญหาความไม่สมดุลทางการเงินตามมา แล้วอาจจะเกิดปัญหาฟองสบู่เศรษฐกิจได้ในที่สุด
เพราะฉะนั้น จึงต้องย้ำ ย้ำ และย้ำว่าความเป็นอิสระ และความเป็นมืออาชีพของผู้บริหารระดับสูง รวมถึงทุกองคาพยพในธนาคารกลางจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างที่สุด
เราได้เห็นมาแล้วว่าได้บังเกิดความวิบัติทางเศรษฐกิจในประเทศตุรกี และฮังการี เพราะว่านักการเมืองและรัฐบาลแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลาง เช่น ในตุรกีมีการกดดันให้ธนาคารกลางต้องลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ประเทศมีปัญหาเงินเฟ้อระดับสูง ดังพบว่ารัฐบาลไล่ผู้ว่าการธนาคารกลางออกอย่างต่อเนื่องถึง 4 คน จนทำให้เกิดปัญหาค่าเงินของตุรกี (เงิน Lira)อ่อนค่าลงถึงร้อยละ 80 ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ถึงเดือนมกราคม 2566 และมีปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นในเดือนมกราคม 2567 ถึงร้อยละ 65 จนในที่สุดต้องกลับมาเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 45 ในเดือนมกราคม 2567 จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ตุรกีถูกปรับลด credit rating ลงจาก Baa3/BB ในเดือนกรกฎาคม 2559เหลือระดับ B3/B ในเดือนมกราคม 2567 ส่งผลให้อัตราตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปี เพิ่มขึ้นไปเกือบแตะ 30 เปอร์เซ็นต์
ส่วนฮังการี ก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กับตุรกีเมื่อปี 2554 หลังจากการเมืองเข้าแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลาง โดยพบว่านายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตั้งรองผู้ว่าการธนาคารกลาง จนทำให้ต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจด้วยเกิดความกังวลถึงอิสระของธนาคารกลางฮังการี ทำให้เกิดปัญหาค่าเงินผันผวนหนัก ตามมาด้วยปัญหาต้นทุนกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้นมาก อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปี ก็ปรับตัวสูงขึ้นจากเดิม 2.3 เปอร์เซ็นต์ ทำให้อันดับ credit rating ถูกปรับลดลงจาก Baa3/BBB
เหลือระดับ non-IG (Ba1/BB+) กว่าจะแก้ปัญหา credit ratingให้กลับไปอยู่ที่ระดับ investment grade ได้ ก็ต้องใช้เวลานานประมาณ 5 ปี
อย่างไรตาม คำว่าความเป็นอิสระของธนาคารกลางมิได้หมายความว่าเป็นอิสระโดยปราศจากความรับผิดชอบในหน้าที่ เพราะอันที่จริงธนาคารกลางต้องทำงานสอดประสานควบคู่ไปกับกระทรวงการคลังอย่างเหมาะสม โดยต้องดูด้วยว่ารัฐบาล (กระทรวงการคลัง) และธนาคารกลางร่วมกันกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ระดับใด และกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ในระดับเท่าไร ทั้งนี้ ธนาคารกลางต้องทำให้ได้ตามข้อตกลงร่วมกัน
อันที่จริงธนาคารกลางถูกตรวจสอบและดูแลโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกอยู่แล้ว และยังต้องถูกตรวจสอบทั้งจากภายในและภายนอกอีก เช่น ถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 4 คนจากทั้งหมด 7 คน และยังมีคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 8 คนจาก 11 คน แล้วยังมีคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คนจากทั้งหมด 7 คน และที่สำคัญคือยังมีคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเป็นกรรมการภายนอก 8 คนจากทั้งหมด 12 คน โดยกรรมการภายนอก 6 คนมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่วนที่เหลือมาจากเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
เห็นได้ว่าธนาคารกลางได้ถูกถ่วงดุลและถูกตรวจสอบโดยกระบวนการและคณะกรรมการต่างๆ ตลอดเวลา ดังนั้น การที่นักการเมืองและคนของนักการเมือง (โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย) บอกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาลจนทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคกับการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลใช้นโยบายการคลังได้เพียงอย่างเดียว ส่งผลให้ประเทศไทยมีหนี้สินสูงมากขึ้นทุกปี เพราะต้องตั้งงบประมาณขาดดุลซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังนั้นหากนโยบายการเงินที่ดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยก่อให้เกิดปัญหา และธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมเข้าใจการทำงานของรัฐบาล ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ก็จะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สินได้
และขอย้ำอีกครั้งว่าการที่แพทองธาร ชินวัตร เคยพูดในขณะที่เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในยุคที่เศรษฐา ทวีสินเป็นนายกรัฐมนตรี ว่าความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยคืออุปสรรคในการพัฒนาประเทศ และกล่าวทำนองว่าธนาคารกลางแห่งประเทศไทยไม่ควรเป็นอิสระจากรัฐบาล จึงเป็นเรื่องประหลาดสำหรับรัฐบาลที่ประกาศว่าต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง
ขอเน้นเป็นประการสุดท้ายสำหรับการชวนคุณๆ คิดไปพร้อมๆ กันในวันนี้คือ หากเราต้องการให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจดีหรือมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (economics growth) และมีเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจการเงิน (financial stability) เกิดเสถียรภาพด้านราคา (price stability) มีการจ้างงานอย่างเต็มกำลังเต็มที่ (full employment) และแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง (income distribution)เราสมควรให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอิสระ ไม่ถูกนักการเมืองแทรกแซง หรือเราต้องยอมให้นักการเมืองเข้าไปบงการ และแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย
ไม่ผิดที่รัฐบาลซึ่งมาจากภาคการเมือง พรรคการเมืองต้องการสร้างชื่อเสียง สร้างคะแนนนิยมโดยการทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลต้องสำเหนียกไว้เสมอว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ quick win อาจให้ผลดีทางการเมืองกับพรรคที่ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบฉาบฉวย เช่น รัฐบาลต้องการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐอย่างรวดเร็วโดยการสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ย หรือโดยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน เพื่อหวังกระตุ้นหรือพยุงเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่ดูดี แต่รัฐบาลต้องสำเหนียกไว้ด้วยว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบฉาบฉวยในขณะที่ประเทศยังมีปัญหาเงินเฟ้อสูงมากก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาราคาสินค้าแพง ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาเงินเฟ้อหนักมากขึ้น แต่หากรัฐบาลสั่งให้แก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการลดรายจ่ายภาครัฐ หรือสั่งให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อหวังลดปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ก็จะส่งผลให้เกิดการลดความต้องการสินค้าและบริการ จนนำไปสู่ปัญหาไม่อาจเพิ่มราคาสินค้าได้ ซึ่งก็มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือกิจการจะมีต้นทุนการผลิต ต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น อาจจะเกิดปัญหาลดกำลังการผลิต เกิดปัญหาว่างงาน และทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจซบเซาตามมาได้ในที่สุด
จะเห็นได้ว่าในเหรียญหนึ่งอันมีสองด้านเสมอเพราะฉะนั้นการจะบริหารระบบเศรษฐกิจให้ได้ผลดีจริงจัง จึงจำเป็นต้องพิจารณาทั้งสองด้านให้รอบคอบมากที่สุด แน่นอนว่ารัฐบาลต้องการทำให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มที่ แต่ก็ต้องไม่ลืมเรื่องการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพราคาด้วย เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างสมดุล เหมาะสมกับสถานการณ์จริง และไม่ก่อให้เกิดปัญหาความเสียหายร้ายแรงในอนาคต จนส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อประชาชนทั้งประเทศ
ขอย้ำว่าประชาชนไม่ต้องการตกเป็นแพะรับบาปอีกต่อไป โดยเฉพาะบาปที่เกิดจากการกระทำอันไร้เหตุผลไร้สติปัญญา ไร้ความรับผิดชอบของรัฐบาล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี