วันนี้ (4 พ.ย.) จับตา การประชุมคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท.
จะฝ่ากระแสคัดค้านการเมืองเข้าครอบงำแบงก์ชาติ ด้วยการเลือกบุคคลที่ต่อต้านหรือไม่?
ส่องดู 3 รายชื่อที่ได้รับการเสนอเข้ามา ได้แก่
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรายชื่อที่ส่งมาโดยปลัดกระทรวงการคลัง ตามกฎหมายสามารถเสนอได้ 1 รายชื่อ
อีกสองรายชื่อ ได้แก่ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ และนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน อดีตอธิบดีกรมศุลกากร เสนอโดย ธปท.
1. ผู้ต้องทำหน้าที่และรับผิดชอบ คือ คณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท. ทั้ง 7 คน
ได้แก่ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
ติดตามว่า ผู้เกี่ยวข้องที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย จะพิจารณาอย่างไร?
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องในการทำหน้าที่โดยไม่ตกอยู่ใต้อาณัติฝ่ายการเมือง
ผลออกมา จะดีจะชั่ว 7 คนนี้ จะต้องรับผิดชอบ ถูกจารึกชื่อตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน
2. ทำไมแบงก์ชาติต้องอิสระจากฝ่ายการเมือง แยกบทบาทหน้าที่ ?
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นกลางและความเป็นอิสระของธนาคารกลาง
ระบุว่า
“...ธนาคารกลางในประเทศที่มีกรอบ จะขีดเส้นแบ่งระหว่างการทำนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง คือ ไม่ให้ธนาคารกลางเข้าสนับสนุนเงิน (finance) ให้รัฐบาลโดยตรง
เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีเรื่องตรงนี้เกิดขึ้น โอกาสที่จะเกิดปัญหาก็จะเพิ่มขึ้น และนำไปสู่ประเด็นที่ว่าเหตุใดเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารกลางจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ไม่ใช่เรื่องความเป็นอิสระที่สักแต่ว่าอิสระ แต่เป็นเรื่องที่มีเหตุมีผล
และความเป็นอิสระนั้น ก็เป็นความอิสระตามกรอบกฎหมาย โดยเฉพาะการแยกบทบาทหรือมีเส้นแบ่งงานทางด้านนโยบายการคลังกับด้านนโยบายทางการเงิน
...เอาง่ายๆ เช่น ปริมาณพันธบัตรที่เราพิมพ์และเวียนอยู่ในระบบ สมมติว่ามีอยู่ 100 บาท เวียนอยู่ในระบบ สมมติว่าผมเป็นรัฐบาล ผมขาดดุลการคลัง 10 บาท ผมก็ต้องกู้เงิน 10 บาท โดยออกพันธบัตร 10 บาท แล้วได้เงินมา 10 บาท ทำให้ตอนนี้เสมือนว่าปริมาณเงินในระบบลดลงจาก 100 บาท เหลือ 90 บาท แต่ผมไม่ได้กู้มาเพื่อสักแต่จะเก็บไว้ ผมเป็นรัฐบาลก็จะต้องเอาไปใช้จ่าย เงิน 10 บาท ก็จะออกไปในระบบ เงินในระบบก็อยู่ที่ 100 บาทเท่าเดิม อันนี้ คือ เคสแรก
เคสที่สอง ประเทศที่เจอปัญหา คือ ฐานะการคลังย่ำแย่ ใช้จ่ายมากกว่าภาษีที่เก็บได้ ผมจะกู้ แต่คนกู้รู้ว่าฐานะผมย่ำแย่ ขายบอนด์ไม่มีใครซื้อ ประชาชนไม่ซื้อ เพราะไม่เชื่อมั่นขายให้ประชาชน ประชาชนไม่ซื้อ ผมไปบังคับให้แบงก์ชาติซื้อ ถ้าทำอย่างนั้น ผมก็ออกบอนด์ให้แบงก์ชาติ แบงก์ชาติก็ถูกบังคับให้ซื้อ แล้วแบงก์ชาติเอาบอนด์ไป พูดง่ายๆ เหมือนพิมพ์เงินให้ผม 10 บาท เพื่อให้ผมเอาใช้ แล้วตอนนี้ผมเอาเงิน 10 บาท มาใช้จ่าย จากเดิมที่เงินในระบบมี 100 บาท ตอนนี้ผมใช้จ่ายเข้าไป 10 บาท เงินในระบบก็กลายเป็น 110 บาท
แล้วมันก็ไปอย่างนี้ แล้วกลายเป็นเงินเฟ้อไปเรื่อยๆ และตอนนี้คนก็เริ่มไม่เชื่อมั่นในค่าของเงิน มันก็จะไป
นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมการแบ่งเส้นระหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังมันจึงสำคัญมาก และเรื่องความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ มันเป็นเรื่องสำคัญ
ถ้าขาดตรงนี้ ก็จะเหมือนกับนโยบายการเงินถูกกำหนดโดยนโยบายการคลัง
เพราะเหมือนกับว่า คุณต้องเอาเงินมา เพื่อชดเชยนโยบายการคลัง คือ ผม (รัฐบาล) จะใช้จ่ายเท่าไหร่ ทางธนาคารกลางต้องไฟแนนซ์ชดเชย ถ้าเป็นอย่างนี้ เสถียรภาพก็ไป
แล้วประเทศที่เงินเฟ้อวิ่งไปเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ ปกติจะมาจากตรงนี้
ดังนั้น ความเป็นอิสระของธนาคารกลางไม่ใช่สักแต่ว่าอิสระ
แต่เป็นความอิสระเพื่อปกป้องไม่ให้ปัญหาพวกนี้เกิดขึ้น” – ดร.เศรษฐพุฒิอธิบาย
3. นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการกว่า 250 คน เข้าชื่อคัดค้านการเมืองเข้าครอบงำแบงก์ชาติ
หวั่นถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ทำลายเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว
มีอดีตผู้ว่าการ ธปท. ถึง 4 คน ร่วมลงนาม ได้แก่ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล, ดร.ธาริษาวัฒนเกส ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ ร่วมลงนาม
ใจความสำคัญ ระบุว่า
“...ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสองท่านในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่า รัฐบาลได้เสนอชื่อบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง เพื่อดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมและภาคส่วนต่างๆ ในสังคม มีความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง ซึ่งโดยทั่วไปฝ่ายการเมืองมักให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ในระยะสั้น เพื่อแสดงผลงานที่รวดเร็วเพราะมีความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจดำรงตำแหน่งได้ไม่ยืนยาวนัก จึงอาจส่งผลให้เกิดผลเสียหายรุนแรงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจระยะยาว
ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามรูปแบบของสากลประเทศที่ธนาคารกลางของประเทศที่ดีจะต้องมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมตามสถานการณ์และสถานภาพของประเทศ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศที่มั่นคงยั่งยืนในระยะยาว
บทบาทของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยครอบคลุมภารกิจสำคัญ ได้แก่ การกำกับดูแลการบริหารงาน การจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน หากคณะกรรมการใช้อำนาจที่มีนี้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ระยะสั้นของฝ่ายการเมือง ย่อมส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับได้
นอกจากนี้ หากการครอบงำครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีแนวโน้มว่าฝ่ายการเมืองจะใช้วิธีเดียวกันในการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกลางถึงปลายปีหน้า โดยส่งบุคคลที่มีความสนิทใกล้ชิดทางการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการคัดเลือก ที่จะพิจารณาในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม โปร่งใสและมีธรรมาภิบาลโดยไม่ยอมรับแรงกดดันทางการเมือง เพื่อร่วมรักษาสถาบันที่สำคัญคือธนาคารแห่งประเทศไทยที่บุคคลสำคัญในอดีตได้ร่วมกันพัฒนามาอย่างดี...”
4. ไม่ใช่แค่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ
ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ย้ำว่า
“เรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ
รัฐบาลจะอยู่ได้นานแค่ไหน ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าคนการเมืองได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการแบงก์ชาติแล้วจะอยู่ได้ครบเทอม
หากประธานกรรมการ หรือกรรมการแบงก์ชาติ ใช้อำนาจที่มีตอบสนองผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไข หรือย้อนกลับได้”
5. การมืองแทรกแซงแบงก์ชาติเมื่อใด เสี่ยงหายนะเศรษฐกิจไทย
คุณธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยเน้นย้ำว่า
“...ในขณะนี้ มีแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้นที่จะยับยั้งหายนะทางเศรษฐกิจ
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งในเรื่องไม่ลดดอกเบี้ย และการคัดค้านนโยบายการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท เป็นต้น
ล่าสุดก็มีการคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อจะได้สามารถใช้ธปท.เป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายของรัฐบาล
ซึ่งหากภาพนี้เกิดขึ้น หายนะของเศรษฐกิจไทยก็จะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในธนาคารกลาง
การกระทำดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจสั่นคลอน เพราะธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงจะไม่สามารถมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
เศรษฐกิจจึงเสี่ยงที่จะเสียหายจากนโยบายที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว
ในกรณีของประเทศไทยนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทซึ่งจะเป็นภาระทางการคลังอย่างมหาศาล ก็ได้สร้างความเสี่ยงที่ประเทศจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว หากธนาคารแห่งประเทศไทยถูกแทรกแซงจนขาดความเป็นอิสระ ความเสี่ยงของการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก ผลเสียต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ ย่อมตามมาอย่างแน่นอน
วงการเศรษฐกิจของไทยได้ชี้ให้เห็นถึงผลเสียหายอันใหญ่หลวงของการแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย แต่รัฐบาลก็ไม่ต้องการรับฟังคำเตือนเหล่านี้
ในขณะนี้ จึงมีเพียงแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการยับยั้งไม่ให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจนี้
อันที่จริง กฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้คำนึงถึงความเสี่ยงของการที่กรรมการสรรหาจะถูกแทรกแซงจากทางการเมือง หากกรรมการยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ กฎหมายจึงได้กำหนดให้กรรมการสรรหาเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจที่เกษียณอายุแล้วทั้งสิ้น เพื่อจะได้ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซง
ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหาตำแหน่งสำคัญๆของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระ ไม่ยอมรับการแทรกแซง ผู้ที่ได้รับการสรรหาจึงเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่เข้าใจบทบาทของธนาคารกลาง และสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมเป็นที่ยอมรับของสังคม
ดิฉันจึงได้แต่คาดหวังว่าคณะกรรมการสรรหาในครั้งนี้จะสามารถทำหน้าที่ที่สำคัญนี้ด้วยหลักการเดียวกัน
คงไม่มีท่านใดอยากจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่า ท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบในการทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกผันไปสู่ก้าวแรกของความหายนะ...”
จับตา การเมืองจะตีเมืองขึ้นแบงก์ชาติ สำเร็จหรือไม่?
อนาคตประเทศชาติ จะเป็นฉันใด?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี