ในที่สุด ก็หยุดส่ง “ลิ่วล้อบริวาร” ออกมาพูด แต่นายกรัฐมนตรี เป็นคนพูดเองแล้ว เรื่อง “เกาะกูด” กับ MOU
1) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ในเรื่องของบันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา หรือ เอ็มโอยู 44 ได้มีการคุยกันในรายละเอียด วันนี้จะมายืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย เป็นมาตั้งนานแล้ว ทางประเทศกัมพูชาก็รับรู้เช่นกัน ทั้งประเทศไทยและกัมพูชารับรู้อยู่แล้วว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทยและตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส แน่นอนว่ารัฐบาลนี้จะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม ซึ่งเรื่องเกาะกูดระหว่างกัมพูชาเองเราไม่เคยมีปัญหา ไม่เคยมีข้อสงสัยด้วย เพราะฉะนั้นอาจจะแค่เกิดความเข้าใจผิดกันของในประเทศไทยเอง ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ในเรื่องของเอ็มโอยูนั้นยังอยู่ ไม่สามารถยกเลิกได้ ถ้ายกเลิกนั้นต้องใช้การตกลงระหว่างสองประเทศคือไทยและกัมพูชา ถ้าเรามายกเลิกเองไม่ได้จะถูกฟ้องร้อง เพราะเป็นการตกลงกันระหว่างประเทศ
เมื่อถามว่าเกาะกูดเป็นของไทย แต่ในรัศมีทะเลเป็นของเราอย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า เอ็มโอยู 44 ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาะกูด และเกาะกูดไม่ได้อยู่ในเอ็มโออยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่ได้มีการถกเถียง เพราะเกาะกูดเป็นของไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และหากไปดูการตีเส้นเขาก็ตีเส้น เว้นเกาะกูดไว้ให้เรา ซึ่งการพูดคุยกันในวันนี้ไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับที่ดิน แต่พูดถึงที่ดินในทะเลว่าสัดส่วนใครขีดเส้นอย่างไร เพราะในเอ็มโอยูขีดเส้นไม่เหมือนกัน เนื้อหาในเอ็มโอยูเป็นข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีการเจรจากันระหว่าง 2 ประเทศ ดังนั้น หากจะเกิดอะไรขึ้นจะมีข้อตกลงอะไรเราต้องมีคณะทำงานขึ้นมาพูดคุยกัน ตอนนี้คณะกรรมการของกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของเราเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชาด้วย และตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการนี้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะนาน เพราะดำเนินการมาประมาณ 1 เดือนแล้ว เมื่อเสร็จแล้วจะได้ศึกษาและพูดคุยกันว่าระหว่าง 2 ประเทศตกลงกันอย่างไร
เมื่อถามว่าการไม่ยกเลิกเอ็มโอยูทำให้คนมองว่าเรายอมรับการขีดเส้นของกัมพูชาหรือไม่ นายกฯกล่าวว่าอันนั้นคือความเข้าใจผิด เราไม่ได้ยอมรับเส้นอะไร เอ็มโอยูดังกล่าวคือการที่เราคิดไม่เหมือนกัน แต่เราต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาขีดเส้นมาก่อน ต่อมาปี 2516 ไทยขีดเส้นด้วย แม้จะขีดเหมือนกันแต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงทำเอ็มโอยูขึ้นมา และเปิดการเจรจาให้ทั้ง 2 ประเทศตกลงกันว่าจะเป็นอย่างไร ขอย้ำว่าเกาะกูดไม่เกี่ยวกับการเจรจานี้ ให้คนไทยทุกคนสบายใจได้เลยว่าเราจะไม่เสียเกาะกูดไป และกัมพูชาก็ไม่ได้สนใจเกาะกูดของเราด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ เกาะกูดเป็นของไทยเหมือนเดิม
เมื่อถามต่อว่ามีการอ้างสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ยกเลิกเอ็มโอยู นายกฯกล่าวว่า ไม่มี ข้อเท็จจริงเอ็มโอยูปี 2544 ยกเลิกไม่ได้ หากไม่เกิดการตกลงของทั้ง 2 ประเทศ เรื่องนี้ต้องเข้าที่ประชุมรัฐสภา และในปี 2552 ก็ไม่มีเรื่องนี้เข้าในรัฐสภา โดยระหว่างนี้นายกฯได้หันไปด้านข้าง ซึ่งนางนฤมล ในฐานะหัวหน้าพรรคกล้าธรรม ยืนอยู่ โดยนางนฤมลหันมาระบุว่า “ปี 2557 ท่านพล.อ.ประยุทธ์ ยืนยัน”จากนั้นนายกฯ กล่าวต่อว่า ปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันทุกคนเป็นเนื้อเดียวกันว่า มีมติครม. ว่าไม่มีการยกเลิก
เมื่อถามอีกว่ามีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 นายกฯ กล่าวว่า “ต้องถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไร เราต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้ จึงต้องมีเอ็มโอยูว่าถ้าคิดไม่เหมือนกันเราต้องคุยกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก การรักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ในเอ็มโอยูดังกล่าวเปิดให้ 2 ประเทศพูดคุยกัน จึงต้องถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไร ถ้ายกเลิกฝ่ายเดียว เราโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาแน่นอน ซึ่งไม่มีประโยชน์
2) ที่นายกฯ กล่าวว่า “ถ้ายกเลิกฝ่ายเดียวเราโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาแน่นอน ซึ่งไม่มีประโยชน์” นั้น อยากให้นายกฯ “หาความรู้” เพื่อจะได้แยกออก ระหว่าง MOU กับ MOA
MOU ย่อมาจาก Memorandum of Understanding คือ หนังสือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งจะระบุหลักเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติ เพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกันระหว่างหน่วยงานหรือองค์กร โดยไม่มีผลทางกฎหมายและไม่ถือเป็นสัญญาผูกมัด
MOA ย่อมาจาก Memorandum of Agreement คือ บันทึกข้อตกลง เป็นหนังสือสัญญาที่มีข้อความระบุเป็นหลักเกณฑ์หรือวิธีการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติ หรือดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่ตกลง เป็นข้อกติกา ข้อที่นัดหมายกันไว้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ในฐานะเป็นสัญญาได้
3) คำถามถึงท่านนายกฯ ก็คือ หากเราขอยกเลิก “บันทึกความเข้าใจร่วมกัน” กัมพูชาจะฟ้องเรากับใคร ด้วยกฎหมายใด ด้วยฐานความผิดใด ด้วยข้อเท็จจริงใดในความเสียหาย อยากได้ความรู้ตรงนี้จากท่านนายกฯ ครับ
4) นายกฯ ยังบอกด้วยว่า
“...เอ็มโอยู 44 ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาะกูด และเกาะกูดไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยู เรื่องนี้ไม่ได้มีการถกเถียง เพราะเกาะกูดเป็นของไทย และหากไปดูการตีเส้นเขาก็ตีเส้น เว้นเกาะกูดไว้ให้เรา ซึ่งการพูดคุยกันในวันนี้ไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับที่ดิน แต่พูดถึงที่ดินในทะเลว่าสัดส่วนใครขีดเส้นอย่างไร เพราะในเอ็มโอยูขีดเส้นไม่เหมือนกัน เนื้อหาในเอ็มโอยูเป็นข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีการเจรจากันระหว่าง 2 ประเทศ
...ดังนั้น หากจะเกิดอะไรขึ้น จะมีข้อตกลงอะไร เราต้องมีคณะทำงานขึ้นมาพูดคุยกัน ตอนนี้คณะกรรมการของกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของเราเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชาด้วย และตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการนี้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะนาน เพราะดำเนินการมาประมาณ 1 เดือนแล้ว เมื่อเสร็จแล้วจะได้ศึกษา และพูดคุยกันว่าระหว่าง 2 ประเทศตกลงกันอย่างไร
...เมื่อถามว่า การไม่ยกเลิกเอ็มโอยูทำให้คนมองว่าเรายอมรับการขีดเส้นของกัมพูชาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “อันนั้นคือความเข้าใจผิด เราไม่ได้ยอมรับเส้นอะไรเอ็มโอยูดังกล่าวคือ การที่เราคิดไม่เหมือนกัน แต่เราต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาขีดเส้นมาก่อน ต่อมาปี 2516 เราขีดเส้นด้วย แม้จะขีดเหมือนกันแต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงทำเอ็มโอยูขึ้นมา และเปิดการเจรจาให้ทั้ง 2 ประเทศตกลงกันว่าจะเป็นอย่างไร ขอย้ำว่าเกาะกูดไม่เกี่ยวกับการเจรจานี้ ให้คนไทยทุกคนสบายใจได้เลยว่าเราจะไม่เสียเกาะกูดไป และกัมพูชาก็ไม่ได้สนใจเกาะกูดของเราด้วยไม่ต้องกังวลเรื่องนี้”
5) ครับ ท่านนายกฯ เกาะกูดไม่เกี่ยวหรอกครับ เกาะกูดเป็นของไทยแน่นอน สู้ที่ศาลไหนก็ชนะ เราไม่ได้กลัวการเสียเกาะกูด แต่เรากังวลว่า รัฐบาลไทยจะไปยอมรับการขีดเส้นพื้นที่อ้างสิทธิบนไหล่ทวีปและในทะเลที่กัมพูชาเขาขีดมาต่างหาก ตรงนั้นต่างหากที่น่ากังวล ในส่วนนี้ นายกฯ และคณะเจรจาจะยืนอยู่ที่จุดไหนครับ
6) วันนี้ที่ออกมาพูดให้ประชาชนฟัง เพื่อจะอธิบายว่า 1.เอ็มโอยูไม่เกี่ยวกับเกาะกูด 2. เอ็มโอยูคือเรื่องระหว่างสองประเทศ หากจะยกเลิกต้องเป็นการตกลงระหว่างประเทศ และ 3. เรายังไม่เสียเปรียบเกี่ยวกับข้อตกลงเลย
“ฉะนั้นอย่าเอาเรื่องของการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน เราอยากให้เข้าใจตรงกันตามหลัก” นายกฯ กล่าว
7) เมื่อถามย้ำว่ายืนยันว่ารัฐบาลนี้จะเดินหน้าเอ็มโอยูใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า แน่นอนเราจะเดินต่อ ตอนนี้กัมพูชารอเราในเรื่องขอคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา ที่จะไปศึกษาและพูดคุย ซึ่งกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพลังงาน จะมาช่วยกัน
เมื่อถามอีกว่ากลัวประเด็นนี้จะบานปลายหรือไม่นายกฯ กล่าวว่า ถ้าทุกคนเข้าใจในหลักการแล้ว ไม่น่าจะบานปลาย เพราะทั้งหมดคือข้อเท็จจริงไม่มีการคุยอะไรข้างหลัง เพราะที่ตนกล่าวมาคือกรอบเป็นหลักคิด เป็นกฎหมายย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เผือกร้อนของตน
เมื่อถามต่อว่าข้อกังวลเรื่องพลังงานใต้ทะเลแนวทางของรัฐบาลเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่าต้องคุยกันระหว่างประเทศก่อน และต้องมีการศึกษารายละเอียดว่าจะแบ่งกันอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ผลประโยชน์ที่จะเกิดกับ 2 ประเทศยุติธรรมมากที่สุด เราจึงส่งคณะกรรมการที่รู้รายละเอียดไปศึกษาร่วมกันกับทางกัมพูชาให้ได้คำตอบที่จะสามารถตอบประชาชนได้อย่างชัดเจน
เมื่อถามอีกว่าจะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับสมเด็จ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภา และอดีตนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชาในเรื่องนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างคอนเนคชั่นที่ดีได้ เหมือนเรามีเพื่อนสนิทเราก็สามารถคุยกันได้ แต่เรื่องของประโยชน์ของประเทศเขา และประเทศเรา เราต้องใช้คณะกรรมการเพื่อไม่ให้มีอคติ ความรู้สึกของฉันของเธอขึ้นมา เราใช้คณะกรรมการเพื่อให้เกิดความรู้จริง รู้ครบและยุติธรรม”
เมื่อถามอีกว่ายืนยันจะรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างสูงสุดใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ดิฉันเป็นคนไทย 100% ประเทศไทยต้องมาก่อน คนไทยต้องมาก่อนรัฐบาลนี้ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขที่สุด”
สรุป : ต้องยอมรับว่า รอบนี้ นายกฯ สื่อสารได้ดีแต่ในขณะที่นายกฯ ถามว่า “ยกเลิกแล้วได้อะไร” ประชาชนก็อยากถามท่านกลับว่า “เจรจาต่อแล้วได้อะไร” สำคัญที่สุดคือ “ใครได้”
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี