ปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย น่าจะทะลุ 30 ล้านคนอย่างแน่นอน
เฉพาะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสาร 60 ล้านคน เพิ่มขึ้น 24.04%
มีเที่ยวบิน 346,680 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 17.88%
ส่วนที่ท่าอากาศยานดอนเมือง มีผู้โดยสาร 29.15ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.25%
มีเที่ยวบิน 197,250 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 11.47%
1. ล่าสุด ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้เริ่มเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 อย่างเต็มรูปแบบแล้ว เพื่อรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มมากขึ้น
โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีเที่ยวบินเฉลี่ย 950 เที่ยวบินต่อวัน
ภาพรวมปริมาณเที่ยวบินขณะนี้ ใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตั้งเป้ารองรับ 1 ล้านเที่ยวบิน ในปี 2568
การเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 ทำให้จากเดิมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับเที่ยวบิน 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
ใช้วิธีการจัดการจราจรทางอากาศในรูปแบบการขึ้นและลงทางวิ่งคู่ขนานพร้อมกัน หรือ Simultaneous Parallel Operations เพื่อลดระยะทางและลดระยะเวลาในการขับเคลื่อน (Taxi) ของอากาศยาน
ก่อนหน้านี้ ได้เปิดใช้อาคาร sat-1 แล้ว
ขณะนี้ กำลังจะขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันออกเพื่อรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 15 ล้านคน
2. นโยบาย 3 สนามบิน
นโยบายที่ชัดเจนของประเทศไทยก่อนหน้านี้ คือ มุ่งพัฒนาสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิท่าอากาศยานกรุงเทพ(ดอนเมือง) และท่าอากาศยานอู่ตะเภา(และเมืองการบินตะวันออก)
ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเติบโตด้านการคมนาคมขนส่งทางอากาศ เพื่อเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค
จึงมีการลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินตะวันออก มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท
เพื่อลดความแออัด ทั้งสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อขีดความสามารถของประเทศ
โดยมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเชื่อมต่อระบบ 3 สนามบิน
3. อนิจจา... โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินก็ล่าช้า แทบไม่มีความคืบหน้า
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงกับเอ่ยปากว่า โครงการการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนี้ จะคลอไปพร้อมกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ถ้ารถไฟความเร็วสูงไม่เกิด อาจจะถูกเอกชนในโครงการสนามบินอู่ตะเภาฟ้องร้องได้
4. ในความเป็นจริง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ถือเป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญ ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC (Eastern Economic Corridor)
ในครั้งที่ประมูลโครงการ มีผู้ยื่นประมูล ประกอบด้วย
กลุ่ม BBS : ที่มี การบินกรุงเทพ (บางกอกแอร์เวย์ส) 45%, บีทีเอส กรุ๊ป 35% และ ซิโน-ไทยฯ 20%
กลุ่มธนโฮลดิ้งและพันธมิตร : มี ธนโฮลดิ้ง (เครือซีพี) 70%, อิตาเลียนไทย 5% และ ช.การช่าง 10%
กลุ่ม Grand Consortium : มี แกรนด์ แอสเสท 80%, คริสเตียนีและนีลเส็น 10% และ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (ไทยแอร์เอเชีย) 10%
มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 290,000 ล้านบาท แลกกับการรับสัมปทาน 50 ปี
รับผิดชอบโครงการ ตั้งแต่ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3, ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน, ศูนย์ธุรกิจการค้า และศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์
ผลการเปิดซองประมูล เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2563 ปรากฏว่า ข้อเสนอด้านราคา เอกชนที่เสนอราคาสูงสุด คือ กลุ่มบีบีเอส ซึ่งมีการเสนอราคาให้ผลตอบแทนรัฐ 3.05 แสนล้านบาท
ชนะกลุ่มอื่นๆ ขาดลอย
ครม. มีมติรับทราบและเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
ต่อมา กลุ่ม BBS เป็นผู้ชนะการประมูล และได้ร่วมกันจัดตั้ง “บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด” มาเป็นคู่สัญญากับรัฐ
19 มิ.ย. 2563 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กับบริษัท อู่ตะเภาฯ
5. การพัฒนาโครงการพัฒนา สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา-ระยอง-พัทยา หรือ “สนามบินอู่ตะเภา” มีความยาวทางวิ่ง 3,505 เมตร กว้าง 60 เมตร และมีหลุมจอด 52 หลุม
สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ได้ทั้ง B777, B787, A330 รวมถึง Antonov (เครื่องบินขนส่งสินค้า) และอยู่ระหว่างการพัฒนาภายใต้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
ล่าสุด ได้ประกาศความพร้อม สามารถเปิดให้บริการในปี 2572 เพื่อก้าวเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค
จะเป็นสนามบินนานาชาติที่ได้มาตรฐานโลก รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวสู่ภาคธุรกิจ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และขนส่งทางอากาศแห่งภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นใจ และเป็นปัจจัยสำคัญดึงดูดให้นักลงทุนเข้าสู่พื้นที่อีอีซี
กำลังดำเนินการโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 (รันเวย์ที่ 2) วงเงิน 15,200 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการขยายเส้นทางบินและทำการตลาด เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากใช้ทางวิ่งนี้เต็มศักยภาพสนามบินแห่งนี้จะรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ถึง 20 ล้านคนต่อปี
ขณะนี้ อาคารผู้โดยสาร ทั้งในและระหว่างประเทศ รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 700,000 คนต่อปี เมื่ออาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งอยู่ในแผน เปิดให้บริการจะมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 3 ล้านคนต่อปี โดย
ปัจจุบัน มีจำนวนผู้โดยสารรวมประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี
สายการบินเอกชนที่เข้าไปใช้บริการแล้ว อาทิ บางกอกแอร์เวย์สไลอ้อนแอร์ และแอร์เอเชีย แอร์เอเชียเอ็กซ์
แบ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ เที่ยวบินขาเข้า 500 คน และเที่ยวบินขาออก 500 คน
ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศ เที่ยวบินขาเข้า 500 คน และเที่ยวบินขาออก 1,000 คน
รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 2,500 คนต่อชั่วโมง
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA เปิดเผยว่าความคืบหน้าการดำเนินการในส่วนของ UTA เพื่อพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้พัฒนาการออกแบบพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ตลอด 2-3 ปี จนล่าสุด ได้แบบที่ลงตัว เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนของผู้โดยสาร หลังการระบาดของโควิด-19 จะมีการพัฒนาอาคารผู้โดยสารใหม่ 2 อาคาร เป็นอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 4 อีก 30 ล้านคน เป็นไปตามเงื่อนไขการออกแบบ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาที่จะต้องรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคน
“เงื่อนไขสำคัญในการก่อสร้างและพัฒนาในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา จะเสร็จสมบูรณ์ขนาดไหน ยังต้องรอความชัดเจนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เนื่องจากทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงและการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการที่เชื่อมโยงกัน ทั้งก่อสร้างและการให้บริการจะต้องเกิดความชัดเจน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการลงทุน” – นายวีรวัฒน์กล่าว
6. เห็นได้ว่า ความล่าช้าของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสของประเทศชาติ และกระทบต่อโครงการลงทุนต่างๆ ในพื้นที่อีอีซีมหาศาล
โดยเฉพาะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
อีกด้านหนึ่ง ความล่าช้าที่เกิดขึ้น ยิ่งไปเพิ่มความแออัดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ
เพิ่มผลประโยชน์แก่กลุ่มทุนที่มีเอี่ยวในสนามบินทั้งสองแห่ง
ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียค่าโง่มูลค่าหลายแสนล้านบาท เพราะอาจจะถูกเอกชนที่ได้รับความเสียหายจากความล่าช้า ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายก้อนโตในอนาคต
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี