เปิดสภาฯ มีผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาร่วมในสภาแล้ว เรื่องเก่าคือเหตุแห่งการปิดสภาฯก็กลับมาเป็นเรื่องถกแถลงกันอีก ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องโดยตรงกับพระยามโนฯ แต่เป็นเรื่องของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดังที่ปรากฏในการประชุมในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2476 นายฟัก ณ สงขลา ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ลุกขึ้นเสนอต่อสภาให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ
“…เมื่อวันที่ 1 เมษายนศกนี้ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้สั่งปิดสภาผู้แทนราษฎรนี้ โดยกล่าวว่า เนื่องจากรัฐมนตรีส่วนน้อยมุ่งที่จะดำเนินการปกครองไปในทำนองแบบคอมมิวนิสต์ และสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นมีสมาชิกเป็นส่วนมากไม่พยายามจะดำเนินตามญัตติของรัฐบาล คณะรัฐมนตรีส่วนมากจึงสั่งปิดสภาฯนั้นเสียต่อมาปรากฏชัดว่า การปิดสภานั้นเป็นการไม่ชอบด้วยระบอบรัฐธรรมนูญ จึ่งได้มีการปฏิวัติขึ้นใหม่และเปิดสภาฯขึ้น และเมื่อได้เปิดสภาฯนี้ขึ้นแล้ว รัฐบาลได้แถลงว่ารัฐบาลจะไม่ดำเนินการปกครองตามแบบลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่สมาชิกในสภาฯนั้นยังไม่ทราบชัด เพราะยังไม่ได้มีการพิจารณากัน บัดนี้รัฐบาลได้เรียกตัวหลวงประดิษฐ์ฯเข้ามาร่วมการงาน … เรื่องนี้จนกระทั่งบัดนี้ยังเคลือบคลุมอยู่ ยังไม่ประจักษ์แจ้งลงไปว่า คณะรัฐมนตรีส่วนน้อยนั้นเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นเป็นการสมควรที่จะให้มีการพิจารณากันให้ประจักษ์แจ้งลงไปว่า มีมลทินหรือไม่การพิจารณาว่ามีมลทินหรือไม่นั้นก็อยู่ที่การพิจารณาว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ วิธีการพิจารณานี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าอาจทำได้ ด้วยตั้งกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยบุคคลผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมที่จะพิจารณาการนี้ได้ เมื่อที่ประชุมรับรองญัตติของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะได้เสนอนามกรรมาธิการวิสามัญต่อไป”
หลังจากสภาฯมีมติให้พิจารณาเรื่องนี้แล้วนายฟัก ณ สงขลา ได้เสนอชื่อกรรมาธิการ จำนวน 3 นาย คือ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณพระยานลราชสุวัจน์ และ พระยาศรีสังกร ถึงตอนนี้ นายกรัฐมนตรีได้ลุกขึ้นกล่าวว่า ท่านไม่ขัดข้องใน 3 คนนี้แต่อยากให้มีผู้ที่เป็นกลางจริงๆโดยให้เลือกจากภายนอกด้วยก็ดี และท่านได้เสนอผู้เชี่ยวชาญสองคนคือ “เซอร์โรเบอร์ตฮอลแลนด์ คนหนึ่งกับ มองซิเออร์กียอง” นับว่าผู้เชี่ยวชาญเป็นคนนอกเลยทีเดียว
จากนั้นได้มีเสนอชื่อกันอีกหลายคน รวมทั้งชื่อพระสารสาสน์ประพันธ์ กรณีพระสารสาสน์ฯนั้น นายกรัฐมนตรีขัดข้องเพราะเป็นคนในรัฐบาล ที่ประชุมจึงลงเอยมีมติตั้ง 3 กรรมาธิการ กับ 2 ที่ปรึกษา ตามที่มีการเสนอแต่แรก คณะกรรมาธิการได้เลือกหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร เป็นประธานและเลือกพระยานลราชสุวัจน์ เป็นเลขานุการ คณะกรรมาธิการได้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงสรุปผลได้ และมีการประชุมกันในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ซึ่งคณะกรรมาธิการได้เชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อจะได้ตรวจสอบคำชี้แจงต่างๆของตัวเอง และได้มีการแก้ไขถ้อยคำให้ถูกต้องเป็นที่รับรองแล้ว จากนั้นคณะกรรมาธิการได้มีมติ ว่า “คณะกรรมาธิการลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า หลวงประดิษฐ์ไม่มีมลทินเป็นคอมมิวนิสต์ดังที่กล่าวหานั้นเลย” ต่อมาในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2476 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาในเรื่องนี้และมีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมาธิการในวันนั้นพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า
“เรื่องที่หลวงประดิษฐ์ฯ ต้องหานี้ ที่จริงข้าพเจ้ารักษาความเป็นกลางไว้ ข้าพเจ้ารู้ดีในเรื่องเหล่านี้ แต่ข้าพเจ้าไม่อยากจะแสดงออกไปให้มหาชนเห็นว่า ข้าพเจ้าเข้าข้างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือข้าพเจ้ามีใจเอนเอียงไปในทางนั้น เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงปิดเนื้อความเอาไว้ในใจให้เป็นไปในทางที่บริสุทธิ์ดี ที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าความยุติธรรมหนีความยุติธรรมไม่พ้น”
เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ พ้นจากมลทินแล้วท่านจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2476 แทนพระยาพหลฯ
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี