องค์การ OECD (The Organization for Economic Co-operation and Development) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีสมาชิกในปัจจุบันประมาณ 38 ประเทศ ซึ่งต่างจัดเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (Develop Country) หรือเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำที่มีมาตรฐานการผลิต การบริหารจัดการ ที่เปี่ยมด้วยหลักธรรมาภิบาล สามารถรับกฎเกณฑ์กติกา และหลักปฏิบัติต่างๆ ขององค์การ OECD ที่มีมาตรฐานสากล ได้อย่างสมบูรณ์และทัดเทียมกัน
การที่รัฐบาลไทยในช่วงการนำพาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ตัดสินใจให้ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การ OECD ก็ถือเป็นการตัดสินใจที่บ่งบอกว่าฝ่ายรัฐบาลพร้อมที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่มีความทันสมัย และความมีมาตรฐานต่างๆ ในระดับสูงเป็นสากลทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
เท่ากับว่าประเทศไทยจะมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองให้ได้ เสมือนกับว่าเป็นการเข้าร่วมเล่นกีฬาในระดับกลุ่ม (Division หรือ League) ชั้นหนึ่งของโลก ซึ่งก็คงจะเป็นการดีต่อประเทศไทยเพราะประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนรูปโฉมจากปัจจุบันที่ยังเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์กติการะเบียบที่ล้าสมัยซ้ำซ้อนมากด้วยขั้นตอน และไม่ชัดเจนโปร่งใส และยังมีความอ่อนด้อยในเรื่องการบังคับใช้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่พนักงานก็ยังมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและความซื่อสัตย์สุจริต อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมก็ยังมีความล่าช้า และความสุจริตเที่ยงธรรม ซึ่งประเด็นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข หรือขจัดให้หมดไปเพื่อประเทศไทยจะได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การ OECD ได้อย่างสง่างาม เหมาะสม และน่าเชื่อถือ
ฉะนั้น การจะได้รับการเข้าไปเป็นสมาชิกองค์การ OECD จึงไม่ใช่เรื่องทำเอาเท่ๆ ทำแบบง่ายๆ แบบสะดวกโยธิน แต่ประเทศไทยทั้งองคาพยพคือ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายเอกชน ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายประชาสังคม จะต้องหันมาร่วมกันอย่างขะมักเขม้นเอาจริงเอาจัง ซึ่งประเทศไทยก็มีเวลาเตรียมการ ดังในกรณีของประเทศโคลอมเบีย ที่ได้ใช้เวลาประมาณ 7 ปี กว่าจะได้รับเข้าเป็นสมาชิกขององค์การ OECD โดยโคลอมเบียใช้เวลาเตรียมตัวเตรียมการต่างๆ ประมาณ 3 ปี และจากปีที่ 4 ถึงปีที่ 7 ก็จะได้รับการตรวจสอบจากฝ่าย OECD เพื่อให้เป็นที่แน่นอนใจว่า ประเทศสามารถปรับตัวให้ไปตามมาตรฐานของ OECD ได้อย่างเป็นที่พึงพอใจ ซึ่งในกรณีประเทศไทยก็ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยมี 3 หน่วยงานหลักคือ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงานกฤษฎีกา
ในการนี้กระทรวงการต่างประเทศรวมทั้งสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ก็รับเป็นด่านหน้าในการติดต่อประสานงานกับองค์การ OECD ส่วนสภาพัฒน์นั้นก็มีหน้าที่ประสานกับหน่วยราชการต่างๆ เพื่อรับรู้เงื่อนไขขององค์การ OECD และเริ่มปรับตัว ซึ่งก็รวมไปถึงเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจต่อบรรดาข้าราชการและพนักงานต่างๆ ส่วนสำนักงานกฤษฎีกานั้นก็มีหน้าที่ในการนำเอากฎเกณฑ์กติกาขององค์การ OECD มาพิจารณาและแก้ไขกฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์กติกาต่างให้สอดคล้อง และอยู่ในวิสัยที่จะประสานงานกับคณะนิติศาสตร์และสภาทนายความให้ได้รับรู้และให้การฝึกสอนและฝึกอบรมต่างๆ ให้เหมาะสมด้วย
ทั้งนี้ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายกฎระเบียบและการบริหารจัดการและการบริการของภาครัฐก็ได้มีการเรียกร้องทั้งโดยฝ่ายเอกชนไทยและเทศมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่ปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐก็เต็มไปด้วยความล่าช้าไม่เร่งรีบเท่าที่ควร แต่มาบัดนี้เมื่อประเทศไทยตัดสินใจสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การ OECD แล้ว ก็เท่ากับว่าเป็นตัวกระตุ้นและเร่งรัดให้มีการปรับโครงสร้างและสาระเนื้อหาของการดำเนินการทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และการอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
ในขณะเดียวกันฝ่ายภาครัฐก็จะต้องให้ความรู้ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง เพื่อจะได้ร่วมกันปฏิบัติและขับเคลื่อน โดยทุกฝ่ายต้องมีความเข้าอกเข้าใจและรับกันว่า การได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การ OECD นั้นแสนจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ นั่นคือ การยกระดับประเทศไทยให้สูงส่งเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับนับถือ
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี