นอกจากการพยายามเข้าครอบงำแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
การผลักดันโครงการบ่อนกาสิโนในเอนเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ การเร่งเจรจาแหล่งพลังงานในอ่าวไทยกับฝ่ายกัมพูชา ฯลฯ
ล่าสุด ยังมีความพยายามเข้ายึดครองการบินไทย ที่กำลังเดินตามแผนฟื้นฟู แต่จะกลับไปตกอยู่ในอำนาจของระบอบการเมืองแบบสามานย์อีกครั้ง หรือไม่?
ลืมไปแล้วหรือ ว่าการบินไทยต้องขาดทุนป่นปี้ เกือบจะล้มหายตายจากไปแล้ว ต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการจนปัจจุบัน เพราะใคร?
ก็เพราะการเมืองแทรกแซงการบริหารของการบินไทยนั่นเอง
ลืมแล้วหรือ? จะเอาอีกแล้วหรือ?
1. เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา บมจ.การบินไทย โดยผู้บริหารแผนของ บมจ.การบินไทย ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ
โดยขอเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 ราย
ปัจจุบัน มีผู้บริหารแผน จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์,นายพรชัย ฐีระเวช และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซึ่งก็ทำให้การบินไทยกลับมาโบยบินได้ดีวันดีคืน
แต่ขอเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 ราย อ้างว่า ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมเป็นคณะผู้บริหารแผนของการบินไทยเพิ่มเติม
อ้างว่า สืบเนื่องจากข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าหนี้และในฐานะที่จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักของการบินไทย จึงให้มีผู้บริหารแผนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐเพิ่มเติมตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอ
2. ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี ในฐานะกรรมการเจ้าหนี้ บมจ.การบินไทย ได้แสดงความคิดเห็นคัดค้าน
เห็นว่า เป็นการผูกขาดอำนาจการบริหารแผนฟื้นฟูในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
ระบุว่า ผู้บริหารแผนฯมีอำนาจสำคัญในการคัดเลือกกรรมการบริษัท และกำหนดชะตากรรม/อนาคตของบริษัท โดยเฉพาะเรื่องการบริหารฝูงบินและการจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มเติม
และเห็นว่าที่ประชุมเจ้าหนี้ฯ ครั้งที่ 7/2567 ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 8 พ.ย.2567 จะไม่ยอมรับการเพิ่มจำนวนผู้บริหารแผนฯ
“ในการนี้ ข้าฯ ในฐานะกรรมการเจ้าหนี้ ซึ่งมีหน้าที่สอดส่องดูแลประโยชน์แห่งเจ้าหนี้นั้น ขอบันทึกความเห็นและให้ไว้ประกอบการประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้ครั้งที่ 7/2567 ดังนี้
“ข้าฯ ไม่เห็นว่า การเพิ่มจำนวนผู้แทนจากกระทรวงการคลังเพื่อมาเป็นคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะยังประโยชน์แก่เจ้าหนี้ จะยังประโยชน์แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และยังประโยชน์แก่สาธารณะแต่อย่างใด
ข้าฯ เห็นว่า การเพิ่มจำนวนผู้แทนดังกล่าวมาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงที่การบริหารจัดการต่างๆ มีความลงตัว และคืบหน้าไปมากแล้ว เป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่บริษัท เจ้าหนี้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หากต้องการให้เติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีคณะกรรมการบริษัทชุดแรกที่ทรงไว้ซึ่งธรรมาภิบาลและไม่ถูกแทรกแซงจากภาครัฐ
การเพิ่มจำนวนผู้แทนกระทรวงการคลังจำนวน 2 คนนั้น เป็นการผูกขาดอำนาจการบริหารแผนฟื้นฟูในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ
ผู้บริหารแผนฯ มีอำนาจสำคัญในการคัดเลือกคณะกรรมการบริษัท และกำหนดชะตากรรม/อนาคตของบริษัท โดยเฉพาะเรื่องการบริหารฝูงบิน และจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของบริษัทและเจ้าหนี้ ภาครัฐที่มีธรรมาภิบาลอย่างดี จึงไม่สมควรเข้ามาแทรกแซงบริษัทเอกชน และไม่ควรเอาเปรียบเจ้าหนี้ทั้งปวงเยี่ยงนี้
ข้าฯ เห็นว่า ที่ประชุมเจ้าหนี้ จะไม่ยอมรับการเพิ่มจำนวนผู้บริหารแผนฯ
ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ เพื่อประโยชน์ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเพื่อประโยชน์สาธารณะ ข้าฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประชา คุณธรรมดี ขอบันทึกความเห็นว่า “ไม่เห็นด้วย” ต่อข้อเสนอของกระทรวงการคลังดังกล่าว
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและดำเนินการตามสิทธิของข้าพเจ้าด้วย”
ความข้างต้น จากจดหมายเปิดผนึกของ ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี ในฐานะกรรมการเจ้าหนี้ ลงวันที่ 4 พ.ย.2567
3. ลองคิดดู...
ขณะนี้ การบินไทยกำลังเดินตามแผนฟื้นฟู
หากเพิ่มคนจากข้อเสนอของกระทรงการคลังในขณะนี้ จะกลายเป็นว่า
กระทรวงการคลัง ซึ่งถือหนี้แค่ 10% แต่จะได้อำนาจควบคุม 3/5 เสียง (2 คนที่จะเพิ่มมา เป็นผู้บริหารในกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง)
ขณะที่รัฐมนตรีคมนาคมคนปัจจุบัน คือคนที่เคยบริหารในช่วงอนุมัติให้การบินไทยซื้อเครื่องบิน A340 ที่ทำให้การบินไทยขาดทุนยับเยินป่นปี้
เท่ากับว่า เจ้าหนี้ 8,000 ราย (90% ของหนี้) กำลังจะถูกลดอำนาจ
น่าคิดว่า หากแผนนี้สำเร็จ คลังจะควบคุมราคาหุ้นเพิ่มทุนได้เต็มมือเจ้าหนี้จะทำอย่างไร
เจ้าหนี้ใหญ่ของการบินไทย คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งหลาย โดยร่วมกันเป็นเจ้าหนี้การบินไทยถึง 40,000 ล้านบาท
ในขณะที่กระทรวงการคลังเป็นเจ้าหนี้เพียง 12,500 ล้านบาท
ผู้ถือหุ้นกู้ที่เป็นบริษัทประกันและบุคคลรายย่อยมีถึง 30,000 ล้านบาท
วันที่ 8 พ.ย.นี้ จะทำอย่างไร ?
แน่นอนว่า ควรสนับสนุนเรื่องลดทุน
แต่ควรสนับสนุน หรือคัดค้านการแต่งตั้งผู้บริหารแผนใหม่ตัวแทนรัฐ หรือตัวแทนฝ่ายการเมืองที่เห็นชอบโดยกระทรวงการคลัง?
4. จำได้ไหม ที่มาของภาระหนี้สินมหาศาลของการบินไทย อันเป็นปัจจัยสำคัญที่พาการบินไทยดิ่งเหวต่อเนื่อง จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
อดีต รมช.คมนาคม นายถาวร เสนเนียม เคยได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการบินไทย
โดยมีพลตำรวจโทชาญเทพ เสสะเวช เป็นประธาน
ผลปรากฏว่า ในห้วงปี 2546 ถึง 2547 ยุครัฐบาลทักษิณ การบินไทย จัดซื้อเครื่องบิน A340 500 และเครื่องบิน 340 600 รวม 10 ลำ เป็นเครื่องบินชนิด 4 เครื่องยนต์
นำมาบินเส้นทาง กรุงเทพฯ-ลอสแองเจลิส และกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก
ผลของการดำเนินการบินในช่วงนั้น ปรากฏว่า ขาดทุนทุกเที่ยวบิน
แค่เพียง 2-3 ปี ก็ขาดทุนไปแล้ว 12,000 ล้านบาท
หลังจากนั้น การบินไทยก็นำเครื่องบิน 4 เครื่องยนต์ 10 ลำนี้ ไปบินในเส้นทางเส้นเพิ่มเติม อีก 51 เส้นทาง ผลก็ปรากฏว่า ยังขาดทุนหนักไปกว่าเดิม
ขาดทุนไปอีกประมาณ 39,000 ล้านบาท
การตรวจสอบย้อนหลัง พบว่า ก่อนซื้อเครื่องบิน สภาพัฒน์ทำการทักท้วงแล้ว
ทักท้วงทั้งบอร์ดการบินไทย และทักท้วงทั้งทางรัฐบาล
แต่ก็ไม่ได้มีการรับฟังข้อทักท้วงของสภาพัฒน์
การบินไทยขาดทุนทั้งค่าด้อยค่าและค่าประกอบการขาดทุนทั้งหมดกว่า 62,000 ล้านบาท
หลังจากนั้น การบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ
การบินไทย มีเจ้าหนี้อยู่ 2 ล้านกว่าคน
ยอดหนี้ทั้งหมด 3 แสนกว่าล้านบาท
จนถึงปัจจุบัน การฟื้นฟูการบินไทยทำได้ดีกว่าแผน
ผลประกอบการเริ่มฟื้นคืนกลับมา
สมัยรัฐบาลลุงตู่ นำผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาจัดการฟื้นฟูการบินไทย
การเมืองไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง
มาวันนี้ อาศัยอำนาจการเมือง ระบบการเมืองสามานย์แบบเดิม กำลังจะเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการบินไทยอีกแล้วหรือ?
ทำไมไม่ให้มืออาชีพได้ทำงานฟื้นฟูการบินไทยจนถึงฝั่งตามแผนให้เรียบร้อยต่อไปเสียก่อน
มันอดอยากปากแห้ง มากนักหรือ?
การเมืองสามานย์ พยายามส่งคนเข้ายึดหน่วยงานต่างๆ อีกแล้วหรือ?
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี