การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ชาญฉลาดและให้ผลดีกับประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวข้องกับอธิปไตยของประเทศ จำเป็นต้องคำนึงไว้ตลอดเวลาว่าต้องไม่ก่อให้เกิดหรือนำไปสู่ความเสียหายหรือสูญเสียอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศเป็นอันขาดเพราะฉะนั้น การทำข้อตกลงใดๆ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศใดๆ ก็ตาม จึงจำเป็นต้องกระทำเมื่อผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุมอย่างดีที่สุดจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้ว เพื่อป้องกันความเสียหายในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของไทย
สำหรับกรณีที่มีกระแสถกเถียงกันอย่างมากในขณะนี้คือ ไทยควรยกเลิก MOU 44 (Memorandum Of Understanding 2544) หรือไม่ และการที่ยังคง MOU 44 ไว้จะนำไปสู่การเสียดินแดนของไทยให้กัมพูชาในอนาคตหรือไม่ หากยังคง MOU 44 ไว้ จะให้ผลดีกับประเทศไทยอย่างไร
ก่อนอื่นต้องบอกว่าการยกเลิก MOU ใดๆ ก็ตามเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ในกรณีที่รัฐหรือประเทศใดเห็นว่าไม่จำเป็นต้องคง MOU นั้นไว้ เพราะ MOU ไม่ใช่สัญญาผูกพันระหว่างกันแบบชนิดที่ไม่สามารถยกเลิกได้ และต้องย้ำว่า MOU ไม่มีผลบังคับในเชิงกฎหมาย สรุปว่าสามารถยกเลิก MOU ได้เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่บอกว่าไม่สามารถยกเลิก MOU ได้ จึงเป็นการพูดที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งอาจจะเกิดมาจากความไม่รู้เรื่องไม่รู้ราว ไม่มีความรู้ในเชิงวิชาการโดยแท้จริง หรืออาจจะเกิดมาจากผู้พูดน่าจะรู้เรื่อง แต่ทว่าพูดด้วยอคติประการใดประการหนึ่ง โดยเล็งผลประโยชน์เฉพาะตัวไว้แล้ว
เพราะฉะนั้น ย้ำว่ารัฐบาลไทยสามารถยกเลิก MOU 44 ได้ทุกเมื่อ แต่การที่แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีผู้มีสถานะเป็นลูกสาวของทักษิณ ชินวัตร บอกกับผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลว่า ไม่สามารถยกเลิก MOU 44 ได้ จึงนับได้ว่า แพทองธาร ไม่เข้าใจเรื่อง MOU อย่างแท้จริง
ขอย้ำว่า MOU 44 เกิดขึ้นในยุคทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยในสมัยแรก โดยสรุปสาระสำคัญได้คือเป็นบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ทั้งสองประเทศอ้างสิทธิ์เหนือไหล่ทวีปที่ทับซ้อนกัน
MOU 44 ทำขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งผู้ลงนามใน MOU 44 คือสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับซก อาน รัฐมนตรีอาวุโสของกัมพูชา ผู้มีสถานะประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา โดยกระทำเมื่อ 18 มิถุนายน 2544
ถามว่าทำไมต้องทำ MOU 44 เรื่องนี้ต้องไปถามทักษิณ ชินวัตร สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นพดล ปัทมะ เพราะเป็นตัวการโดยตรง ต้องให้ทั้งสามคนตอบให้ชัดว่าทำ MOU 44 ด้วยเหตุผลกลใด
แต่ที่ต้องทำความเข้าใจก่อนก็คือเมื่ออ้างสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ไม่ได้ระบุเรื่องดินแดนอาณาเขตทางทะเล คือไม่มีการแบ่งเขตแดนในทะเลระหว่างสยามกับกัมพูชา แต่เป็นการแบ่งอาณาเขตบนบกเท่านั้น
เมื่อ MOU 44 ทำให้เกิดคำถามมากมาย แล้วกลายเป็นเกิดปัญหาความขัดแย้งตามมา ซึ่งไม่เป็นผลดีกับไทยด้วยประการทั้งปวง เหตุใดรัฐบาลไทยจึงยังเก็บรักษา MOU 44 ไว้
ในเมื่อรัฐบาลยืนยันอย่างหนักแน่นว่าเกาะกูดเป็นของไทย ก็ต้องยืนยันในกรรมสิทธิ์ของไทยเหนือเกาะกูดตลอดไป ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญใดๆ กับข้ออ้างของฝ่ายกัมพูชา แต่ย้ำว่าต้องยืนยันตลอดไปว่าเกาะกูดเป็นของไทยโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือข้อสงสัยใดๆ เพราะยึดถือตามสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส 1907 และไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่รัฐบาลไทยต้องตอบเรื่องเกาะกูดแทนฝ่ายกัมพูชา เพราะไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลไทย
ดังนั้น การที่ แพทองธาร ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสายทำเนียบรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้ว่ากัมพูชาทราบและเข้าใจเรื่องนี้ดีไม่มีปัญหาใดๆ ในฟากฝั่งของกัมพูชา แล้วแพทองธารก็พูดว่าปัญหานี้เป็นเรื่องความแตกแยกของคนไทยด้วยกันเอง
คำถามคือ แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรีไทย ใช่หรือไม่แล้วเหตุใด แพทองธาร จึงตอบแทนฝั่งกัมพูชา แพทองธารรู้ได้อย่างไรว่ากัมพูชาเข้าใจปัญหาเรื่องเกาะกูดดี ใครคนไหนจากฝั่งกัมพูชาให้คำมั่นสัญญากับแพทองธารหรือ หรือแพทองธารมีหลักฐานใดๆ ที่ใช้ยืนยันเรื่องที่บอกว่ากัมพูชาเข้าใจเรื่องนี้ดี
แพทองธารไม่ต้องตอบแทนฝ่ายกัมพูชา เพราะไม่ใช่หน้าที่ของแพทองธาร นอกเสียจากว่าแพทองธารจะทำหน้าที่เป็นโฆษกของรัฐบาลกัมพูชาไปพร้อมๆ กับการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีไทย หากแพทองธารมั่นใจว่ากัมพูชาเข้าใจเรื่องเกาะกูดดี ก็ต้องนำหลักฐานมาประกอบการพูดของตน คำถามคือแพทองธารมีหลักฐานประกอบความเห็นของตนเองในเรื่องนี้หรือไม่หรือแพทองธารสามารถนำหลักฐานชัดเจนที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือคำพูดที่ได้รับการจดบันทึกซึ่งออกมาจากปากคำโดยตรงของฮุนเซน (อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา) หรือฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
ไทยอ้างอิงประกาศเขตไหล่ทวีปของไทย วันที่ 18 พฤษภาคม 2516 โดยมีพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีปโดยยึดถือมูลฐานแห่งสิทธิตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นหลักของการยึดถือและเข้าใจร่วมกันในสากล และยึดตามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ที่จัดทำ ณ กรุงเจนีวา เมื่อ 28 เมษายน 1958 โดยประเทศไทยให้สัตยาบันไปแล้ว โดยเส้นไหล่ทวีปของไทยใช้เกาะกูดและเส้นฐานตรงที่เกาะกูดเป็นหลักในการแบ่งเขตทางทะเลโดยเส้นมัธยะ (equidistance line) กับเกาะกง จากจุดชายฝั่งคือจากหลักเขตที่ 73 ลากเส้นไปยังจุดกึ่งกลางของอ่าวไทยซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแล้ววกไปทางทิศใต้ไปทางเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปไทยกับเวียดนาม ที่ทำร่วมกันในปี พ.ศ. 2540 โดยเส้นแบ่งไหล่ทวีปไทยกับเวียดนามถือเป็นเส้นแบ่งเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทยกับเวียดนามด้วย
ขอย้ำว่าการประกาศเส้นไหล่ทวีปโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถยอมรับได้ในหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายกับประเทศอื่นๆ ซึ่งประเด็นนี้อ้างจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งบัญญัติไว้ในข้อ 2 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1958 เกี่ยวกับไหล่ทวีป และข้อ 77 ของอนุสัญญา ค.ศ. 1982 ระบุว่าการประกาศเขตไหล่ทวีปเพียงฝ่ายเดียวไม่มีผลทางกฎหมายผูกพันกับประเทศอื่นเว้นแต่ได้ทำข้อตกลงระหว่างกัน หลักกฎหมายนี้สืบเนื่องจากเหตุที่ว่าเขตทางทะเลต่างๆ อยู่ในอธิปไตยหรือสิทธิอธิปไตย ซึ่งเป็นของควบคู่กับรัฐชายฝั่งหรือรัฐเจ้าของเกาะ ไม่ใช่เขตทางทะเลที่ไม่มีเจ้าของ ซึ่งสามารถประกาศเอาเป็นของๆ ตนเพียงฝ่ายเดียวได้
เพราะฉะนั้น การที่กัมพูชาประกาศเพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะการประกาศเส้นเขตทางทะเล ทั้งทะเลอาณาเขต และเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศในกฤษฎีกาเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่มีความผูกผันกับไทยแต่ประการใด
จึงกล่าวได้ว่าไทยไม่จำเป็นต้องทำ MOU 44 กับกัมพูชา และถึงแม้ได้ทำไปแล้วก็สามารถยกเลิกได้ขอย้ำว่าที่แพทองธารอ้างว่ายกเลิกไม่ได้ จึงไม่เป็นความจริง
ส่วนการที่คนสอนหนังสือบางรายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกมาบอกว่ากัมพูชาไม่ได้ตีความเรื่องเกาะกูดตามที่คนไทยเข้าใจ ก็ต้องถามว่าคนสอนหนังสือรายนั้นจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีหลักฐานอ้างอิงอะไรจึงมั่นใจและกล้าออกรับแทนกัมพูชา การที่คนสอนหนังสือรายที่ว่านั้นอ้างว่าคนไทยด้วยกันเองตีความเรื่องเกาะกูดจนกลายเป็นอาวุธประหัตประหารกันเอง และบอกว่ามันเป็นปัญหาในประเทศไทย ไม่ใช่ปัญหาระหว่างประเทศ ก็ต้องถามเหมือนเดิมว่า คนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยสรุปแบบนี้โดยใช้หลักฐานอะไรเป็นตัวอ้างอิงหรือยืนยัน หรือคนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยยุคนี้ไม่เน้นการหาหลักฐาน แต่เน้นแค่เพียงใช้ความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น หากมั่นใจว่าความเห็นส่วนตัวถูกต้อง ก็ต้องทำให้ความเห็นของตนกลายเป็นทฤษฏีให้จงได้ เพราะไม่มีใครหลงเชื่อความเห็นส่วนตัวของคนสอนหนังสืออย่างแน่นอน
ย้ำว่าเรื่องเกาะกูดไม่ใช่เรื่องคนไทยทะเลาะกันเอง แต่มันเป็นเรื่องที่มาจากนักการเมืองของไทย โดยเฉพาะตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ไล่เรื่อยลงมาถึงรัฐบาลลูกสาวทักษิณ แน่นอนว่าอาจจะต้องถามว่าแล้วทำไมรัฐบาลอื่นๆ หลังยุคทักษิณไม่แก้ปัญหา MOU 44ก็ต้องตอบว่าเรื่องนี้ผู้เขียนตอบแทนไม่ได้ ต้องกลับไปถามรัฐบาลทุกยุคว่าทำไมไม่แก้ปัญหา MOU 44 ทำไมปล่อยทิ้งไว้ แต่ที่ต้องถามมากที่สุดคือรัฐบาลลูกสาวทักษิณว่า ยังยืนยันใช่ไหมว่า MOU 44 เป็นผลดีกับไทย หากมั่นใจว่าให้ผลดีก็ต้องตอบให้ชัดว่าให้ผลดีอย่างไร โปรดตอบให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมด้วย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี