เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 - ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงของรัฐ กิจการชายแดนไทยยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะ ประธาน กมธ. เป็นประธานการประชุม ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวเข้ามาให้ข้อเท็จจริงด้านกระบวนการยุติธรรมที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมีนายวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์, พล.ต.ต.สรวุฒิเหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ และ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธาน กมธ.การอุดมศึกษาฯ มาร่วมประชุม
ในวันดังกล่าว มีการ “เปิดประเด็น” ที่น่าสนใจมากมาย แต่แทบทุกประเด็นล้วน “ไม่มีคำตอบ” อาทิ
1.ใครเป็นผู้ตัดสินใจ ส่งตัวนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ จากเรือนจำไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ได้กระทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่
2.ใครเป็นแพทย์เจ้าของไข้ที่โรงพยาบาลตำรวจ วินิจฉัยอาการอย่างไร ให้การรักษาพยาบาลอย่างไร และใครเป็นผู้ตัดสินใจให้พักรักษาตัวโดยไม่ต้องกลับเข้าเรือนจำ จนกระทั่งพักโทษ
3.การอ้างว่านักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ อาการวิกฤตอาการเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้วินิจฉัย ราชทัณฑ์มีการตรวจสอบหรือไม่ ว่าจริงหรือเท็จ
4.มีการรักษาทั้งแบบฉุกเฉินและแบบ “รอได้” (Elective case) ใครเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าห้องพิเศษ
5.ทำไมจึงได้พักในห้องพิเศษชั้น 14 มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อยู่เฝ้าหรือไม่ เป็นไปตามกฎเกณฑ์การควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องขังหรือไม่ ทำไมจึงมีคนเข้าเยี่ยมได้
ท้ายที่สุด ที่ประชุมแทบไม่ได้รับคำตอบอะไรเลยข้ออ้างหลักมีเพียงสองข้อ คือ ไม่ทราบ กับเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ไม่สามารถเปิดเผยได้
1) นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่บทความเรื่อง “ทางตันของ ป.ป.ช.ในคดีชั้น 14???”มีใจความสำคัญว่า
การพิสูจน์อาการป่วยของนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณชินวัตร นั้น จะอาศัยเพียงปากคำของคนที่ไปเยี่ยมอย่างเดียวไม่ได้
“เขาอาจเถียงได้ว่าคนเราสุขภาพเป็นอย่างไรนั้นดูด้วยสายตาไม่ได้ และโดยสภาพทางคดีแล้ว แม้ ป.ป.ช.มั่นใจว่าทักษิณไม่ป่วย ก็ต้องพิสูจน์ต่อไปอีกว่าใครช่วย หมอคนไหนราชทัณฑ์ระดับใด โยงถึงรัฐมนตรีหรือไม่ ทั้งหมดนี้ถ้าเรียกมาชี้แจงแล้วไม่มา หรือไม่บอก หรือไม่ยอมให้ข้อมูลสุขภาพจริง คดีก็จะยังสรุปถึงขั้นตั้งข้อกล่าวหาไม่ได้”
สิ่งที่พิสูจน์และยืนยันอาการป่วยของนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ คือ “เวชระเบียน” เพราะเวชระเบียนคือ บันทึกการตรวจต่างๆ ทั้งในชั้นส่งตัว รับตัว และบันทึกการรักษาพยาบาลว่ามีพัฒนาการอย่างไรใน 6 เดือน ใช้ยาอะไร รักษาอย่างไร ประเมินระดับความเจ็บป่วยจากข้อมูลใดสิ่งนี้สำคัญที่สุด
แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เคยขอไปแล้วถึง 3 ครั้ง ทางโรงพยาบาลตำรวจก็ยังไม่ส่งให้ ซึ่งอาจารย์แก้วสรรชี้ว่า
“หน่วยงานเหล่านี้กำลังพยายามกอดกฎหมายสุขภาพแห่งชาติว่า เวชระเบียนจะเปิดเผยได้ต่อเมื่อผู้ป่วยคือทักษิณยินยอมเท่านั้น ข้างลูกสาวทักษิณที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อได้รับแจ้งจาก ป.ป.ช.แล้ว ก็ให้สัมภาษณ์อึกๆ อักๆ กอดกฎหมายเหมือนกันว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เรื่องก็เลยชะงักงันเพราะถูกทำเป็นปัญหากฎหมายอยู่จนทุกวันนี้
...ผมว่าหน่วยงานของรัฐเขาตีความไม่ถูกต้อง เพราะ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ก็ระบุชัดเจนเป็นหลักไว้แล้ว ว่า ข้อมูลส่วนบุคคลไม่เป็นความลับสำหรับอำนาจเรียกข้อมูลที่มีตามกฎหมายเฉพาะต่างๆ
...ครั้นจำเพาะลงมาในคดีชั้น 14 นี้ ป.ป.ช.ก็มีอำนาจตามมาตรา 30(4) ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. เรียกเวชระเบียนจาก รพ.ตำรวจได้ ตัว พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติเอง ในมาตรา 7 ก็บัญญัติรับรองขึ้นต้นไว้แล้วว่า อำนาจที่มีชัดแจ้งตามกฎหมายเฉพาะต่างๆ ย่อมใช้สั่งการให้เปิดเผยข้อมูลสุขภาพได้
“มาตรา 7 ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย...”
เมื่อถามว่า แล้วทำไมผู้รับผิดชอบในหน่วยงานของรัฐถึงไม่ยอมส่งให้ ป.ป.ช. คราวรัฐมนตรียุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ก็เคยอ้าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ปฏิเสธไม่ตอบกระทู้ในสภามาครั้งหนึ่งแล้ว
อ.แก้วสรร ตอบว่า “คือ ความในมาตรา 7 มันมีบทบัญญัติยกเว้นไว้ตอนท้ายต่อไปด้วยครับว่า อำนาจตามกฎหมายบางอย่าง จะใช้ขอข้อมูลสุขภาพไม่ได้ ดังปรากฏความว่า
“มาตรา 7 ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของ บุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผยแต่ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลของส่วนราชการหรือ กฎหมายอื่น เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตน ไม่ได้”
...บทบัญญัติในส่วนข้อยกเว้น ตรงคำว่า “กฎหมายอื่น” นี่แหละครับ ที่ทางกระทรวงยุติธรรม และ รพ.ตำรวจ ยืนยันว่าหมายถึงกฎหมายทุกฉบับ สิทธิในข้อมูลสุขภาพของทักษิณจึงกลายเป็นสิทธิเด็ดขาดไปเลย ซึ่งเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง ก็กฎหมายขึ้นต้นเป็นหลักทั่วไปไว้ก่อนแล้วว่า ข้อมูลสุขภาพย่อมเปิดเผยได้ เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้ต้องเปิดเผย จากนั้นจึงมาบัญญัติยกเว้นอีกชั้นหนึ่งว่า มีกฎหมายใดบ้างที่ใช้เรียกข้อมูลไม่ได้ ซึ่งก็คือกฎหมายข้อมูลของส่วนราชการกับกฎหมายอื่น คำว่า “กฎหมายอื่น” นี้มันไม่ใช่กฎหมายทุกฉบับนะครับ แต่ต้องหมายถึง “กฎหมายในทำนองเดียวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสาร” เท่านั้น คุณจะไปตีความขยายข้อยกเว้นอย่างกว้างขวาง จนหลักทั่วไปหายไปเลยนั้นไม่ได้
เมื่อถามว่า แล้วกฎหมาย “ทำนองเดียวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสาร” คือ ทำนองอะไร อ.แก้วสรรตอบว่า
“กฎหมายรับรองให้เข้าถึงข้อมูลนั้น มันมีสองจำพวก พวกแรกมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่างๆ รองรับอยู่ เริ่มตั้งแต่ ภารกิจของศาลต่างๆ ลงไปจนถึง ป.ป.ช.เลย ภารกิจพวกนี้ต้องให้อำนาจไว้เพื่อให้ทำงานได้
...พวกที่สองไม่มีอำนาจหน้าที่อะไร แต่เป็นความอยากรู้ของคนทั่วไป ทั้งนักร้องเรียน นักข่าว หรือนักวิจัย พวกนี้เรามี พ.ร.บ.ข้อมูลของส่วนราชการรับรองว่า มีสิทธิขอทราบข้อมูลได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่กฎหมายห้ามไว้
“สิทธิขอรู้เพราะอยากรู้เท่านั้น” เช่นนี้นี่เอง ที่มาตรา 7พ.ร.บ.สุขภาพ เห็นว่าเอามาขอรู้ข้อมูลสุขภาพไม่ได้ จึงบัญญัติห้ามไว้ แต่ในภายหน้ามันอาจมีกฎหมายทำนองขอรู้โดยไม่มีอำนาจหน้าที่เช่นนี้เกิดขึ้นมาอีก เขาถึงบัญญัติเผื่อไว้ให้รวมถึง “กฎหมายอื่น” ด้วย ซึ่งในทางนิติวิธีก็รู้กันทั้งวงการนักกฎหมายว่า เขียนแถมท้ายอย่างนี้ มันต้องเป็นกฎหมายในทำนองเดียวกันกับกฎหมายข้อมูลข่าวสารเท่านั้น
อ.แก้วสรรยังชี้ด้วยว่า “ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เมื่อใช้อำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช. เรียกพยานหลักฐานและปากคำแล้ว ฝ่ายบริหารก็มีหน้าที่ปฏิบัติตาม ถ้าฝ่ายบริหารยังสงสัยว่าทำไปแล้วตนจะผิดกฎหมาย ก็มีหน้าที่ทำความจริงให้กระจ่าง หากใช้สมองถึงระดับสูงสุดแล้วยังไม่เข้าใจ ก็ต้องปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นที่ยุติ จะกบดานกบไต๋ทำหน้าตาไม่รู้เรื่องอย่างทุกวันนี้ไม่ได้”
เมื่อถามว่า ป.ป.ช. จะขอหมายศาลส่งเจ้าหน้าที่เข้าค้นเวชระเบียนโรงพยาบาลตำรวจ พร้อมทั้งแจ้งข้อหา ผอ.โรงพยาบาลว่าขัดขืนคำสั่ง และกล่าวหา ผบ.ตร.กับ นายกรัฐมนตรี ว่า ละเว้นหน้าที่ไม่สั่งการให้หน่วยงานทำตามกฎหมาย ลุยอย่างนี้ไปเลยได้ไหม ส่วนใครตีความถูกผิดอย่างไรก็ให้ไปว่ากันที่ศาล
อ.แก้วสรร ตอบว่า “...ต่างก็เป็นหน่วยงานตามกฎหมายเหมือนกัน ป.ป.ช.ใช้ช่องทางแจ้งผู้บังคับบัญชาให้สั่งการก่อนอย่างนี้ก็ถูกต้องแล้ว ถ้ายังนิ่งไม่ทำอะไรเหมือนทุกวันนี้ทางการเมืองฝ่ายค้านก็ต้องยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายกฯทางกฎหมาย ป.ป.ช.ก็ลงมือลุยได้เลย”
2) นายไทกร พลสุวรรณ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง แกนนำกลุ่มอีสานกู้ชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง “เตือนแกนนำฝ่ายค้าน…!! ระวังล้มละลายด้านความเชื่อถือ” ความว่า
“กรณี กรรมาธิการความมั่นคงฯ สภาผู้แทนราษฎรเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำกับกรรมาธิการ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณี นักโทษเทวดาชั้น 14 มีคนมาบ้าง ไม่มาบ้าง แต่ปฏิบัติการลากไส้กระบวนการอุ้มนักโทษเทวดาก็เปิดให้เห็นไส้ที่เน่าเฟะ เช่น
• ให้พยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯเป็นผู้วินิจฉัยโรคของนักโทษทักษิณ ใช้เวลาวินิจฉัยโรคร้ายแรงเพียง 4 นาที ก็สรุปอาการว่า เป็นโรคร้ายแรง มีโอกาสเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้สังคมรู้ว่าพยาบาลประจำแดนพยาบาลของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เชี่ยวชาญการวินิจฉัยโรคติดอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนแพทย์ผู้ให้ความเห็นที่ฟังรายงานอาการป่วยทางโทรศัพท์ ย่อมเป็นแพทย์ที่มีฝีมือการวินิจฉัยอาการป่วยเป็นอันดับหนึ่งของโลก เพราะเพียงแค่ฟังรายงานอาการทางโทรศัพท์ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้ ว่าป่วยเป็นโรคอะไร อาการหนักมากแค่ไหน
• ยังลากไส้เน่าๆ ออกมาให้เห็นได้ว่า ไม่มีใครกล้ารับผิดชอบเรื่อง ให้นักโทษชายทักษิณออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจชั้นที่ 14 เป็นระยะเวลาต่อเนื่องถึง 181 วัน มีแต่ปัดสวะ ไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดกล้ายอมรับว่า หน่วยงานของตนเองเป็นผู้ใช้อำนาจตัดสินให้นักโทษทักษิณ พักรักษาตัวนอกเรือนจำต่อเนื่องยาวนานถึง 181 วัน
อย่าหยุด …! รุกเรื่องชั้น 14 ไปให้ถึงตัวใหญ่
ต้องเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ มาให้ข้อมูล เพื่อเปรียบเทียบการนำตัวนักโทษทักษิณออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำ ใช้เวลาวินิจฉัยโรคเพียงแค่4 นาที เปรียบเทียบกับกรณี ตะวัน, แบม, บุ้ง ฯลฯ ที่เรือนจำใช้เวลาวินิจฉัยโรคหรืออาการป่วย นานเป็นหลายสัปดาห์ ก่อนนำตัวผู้ต้องหาคดีกระทำผิดมาตรา 112 ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตและยังต้องยื่นคำร้องให้ศาลทราบ เพราะต้องใช้คำสั่งศาลปล่อยตัวออกนอกเรือนจำ ส่วนกรณีนักโทษชายทักษิณออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่โรงพยาบาลตำรวจ กรมราชทัณฑ์กลับไม่แจ้งให้ศาลทราบ กรณี ตะวัน, แบม,บุ้ง ฯลฯ กรมราชทัณฑ์ต้องยื่นคำร้องต่อศาล ส่วนกรณีทักษิณกรมราชทัณฑ์ไม่ยื่นคำร้องต่อศาล เหตุใดจึงไม่เหมือนกัน
• เรื่องเวชระเบียน กรรมาธิการความมั่นคงฯ ต้องรุกต่อเนื่อง เชิญรองนายกฯและรัฐมนตรีกลาโหม นายภูมิธรรม เชิญนายกฯแพทองธาร ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและโรงพยาบาลตำรวจมาให้ข้อมูล อย่าหยุดแค่วันที่ 7 พฤศจิกายน เดี๋ยวประชาชนจะสงสัยว่า ซูเอี๋ยกัน เกี้ยเซียะกัน เล่นละครตบตาประชาชนงานนี้ต้องเดินให้สุด
สรุป :
เวชระเบียน คือ กุญแจไขปริศนาทั้งหมด
ป.ป.ช. ต้องกล้าใช้อำนาจในการให้มาซึ่ง เวชระเบียน เพื่อการตรวจสอบ ว่าป่วยจริงหรือป่วยทิพย์ และการปฏิบัติของเรือนจำ ราชทัณฑ์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ แพทย์ พยาบาล อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรื่อยไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ผู้ใดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตบ้าง
แพทยสภา ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับ “จรรยาแพทย์” ควรต้องมี “แอ๊กชั่น” ฉับไวที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่อาจเกี่ยวพันกับการทุจริตต่อหน้าที่แพทย์ในการวินิจฉัยโรค และการปกปิดข้อมูล เวชระเบียน น่าจะเป็นสิ่งที่แพทยสภาขอได้ก่อนใคร เพื่อตรวจสอบ “ความตรงไปตรงมา” ในการทำหน้าที่ของแพทย์
กรรมาธิการ ที่มี รังสิมันต์ โรม เป็นประธานก็ต้องไม่ซูเอี๋ย เพราะรังสิมันต์ โรม ทั้งชี้ในที่ประชุม และให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า “กมธ.ฯ ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งเราสามารถเข้าถึงเอกสารหลักฐานต่างๆ ได้อยู่แล้ว กฎหมาย PDPA ไม่ได้มีข้อยกเว้นในการทำหน้าที่ของสภาฯหรือกมธ.”
จึงอยู่ที่ว่า เรื่องนี้ จะมีการตรวจสอบกันอย่างตรงไปตรงมา กล้าหาญ หรือเล่นปาหี่ ซื้อเวลากันไปวันๆแล้วปล่อยคนผิดลอยนวล !!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี