๖ พฤศจิกายน ถือว่าเป็นวันที่สำคัญวันหนึ่งของชาติไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๓๑๐ ซึ่งเป็นวันที่ต้องถือว่าชาติไทยได้เอกราชกลับคืนมา หลังจากที่ต้องเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่าเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ปีเดียวกัน โดยผู้ที่กอบกู้เอกราชคือพระยาตาก ที่ต่อมาภายหลังได้รับการถวาย พระราชสมัญญานามเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และวันที่ ๖ พฤศจิกายน ได้รับการเรียกว่า “วันกอบกู้เอกราชไทย”
พระยาตาก พระยาวชิรปราการ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชคือ บุคคลคนเดียวกัน เป็นชื่อและตำแหน่งที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของสยามประเทศที่มาจากเชื้อสายจีนมีพระนามเดิมว่าสิน บิดาคือนายไหฮอง มารดาคือนางนกเอี้ยง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๒๗๗ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลังคลอดได้ ๓ วัน มีงูเหลือมใหญ่เลื้อยเข้าไปขดรอบตัวทารก นายไหฮองผู้เป็นพ่อซึ่งได้รับใช้ราชการและมีตำแหน่งเป็นขุนพัฒเกรงว่าเหตุนี้จะเป็นลางร้าย จึงยกบุตรคนนี้ให้แก่เจ้าพระยาจักรีเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งหลังจากรับเลี้ยงเด็กคนนี้ ลาภผลก็เกิดมากมูลคูณเพิ่มแก่เจ้าพระยาจักรี จึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่าสิน และได้ให้เข้าเล่าเรียนหนังสือในสำนักของพระอาจารย์ทองดีวัดโกษาวาส ก่อนที่จะถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี
นายสินเป็นเด็กที่มีความตั้งใจในการศึกษาหาความรู้จนสามารถพูดภาษาต่างชาติได้อีกถึง ๓ ภาษาคือจีน ญวน และแขก เมื่ออายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เจ้าพระยาจักรีได้จัดการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ ซึ่งในระหว่างนั้นได้ออกบิณฑบาตพร้อมกับพระภิกษุทองด้วงซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นประจำ เพราะรับราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ด้วยกันหลายปี มีความรักใคร่กลมเกลียวกันมาก
หลังอยู่ในสมณเพศ ๓ พรรษา จึงลาสิกขาบทออกมารับราชการใหม่ในตำแหน่งมหาดเล็ก จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตรรับราชการที่เมืองตาก เมื่อเจ้าเมืองตากถึงแก่กรรมจึงได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาตาก ต่อมาเมื่อมีพม่ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา ได้ถูกเรียกตัวให้ลงมาช่วยราชการ ทำการสู้รบกับข้าศึกด้วยความเข้มแข็งยิ่ง มีบำเหน็จความชอบในสงคราม จึงได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นพระยาวชิรปราการ สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร แต่ยังไม่ได้ขึ้นไปปกครองเมืองกำแพงเพชรก็เกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่าเมื่อปีพ.ศ.๒๓๐๙ เสียก่อน
พระองค์ได้เข้ารบกระทำศึกกับพม่าโดยตั้งค่ายอยู่ที่วัดพิชัย ต่อสู้กับกองทัพพม่าอย่างกล้าหาญ แต่เนื่องจากขาดการสนับสนุนกำลังพลและอาวุธ และเห็นว่าทัพพม่าที่มาครั้งนี้มีกำลังพลมหาศาลและเข้มแข็งมากกรุงศรีอยุธยาไม่น่าจะต่อสู้ได้ จึงตัดสินใจรวบรวมไพร่พลเพื่อหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาก่อนที่จะพ่ายแพ้ โดยหวังที่จะกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยาในภายหน้า
พระองค์ได้ตัดสินใจร่วมกับพระยาพิชัยดาบหักนายทหารคู่ใจ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หาขุนอภัยภักดี พร้อมด้วยทหารกล้าประมาณ ๕๐๐ นาย มีปืนเพียงกระบอกเดียว แต่เป็นผู้ชำนาญด้านอาวุธสั้น ยกกำลังออกจากค่ายพิชัยตีฝ่าวงล้อมทหารพม่าไปทางทิศตะวันออก โดยตั้งเป้าหมายว่าจะยึดเมืองจันทบูรที่เป็นเมืองใหญ่ ใช้เป็นที่มั่นเพื่อรวบรวมกำลังพลกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาคืนให้จงได้ โดยพระองค์ได้รวบรวมไพร่พลไปตลอดทาง ตั้งแต่เมืองชลบุรี ฉะเชิงเทราไปจนถึงเมืองระยอง
หลังจากพระองค์ออกจากกรุงศรีอยุธยาประมาณ ๓ เดือน พม่าก็เข้ายึดกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ในวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ และได้จุดไฟเผาทำลายเมืองจนวอดวายไปทั้งหมดรวมทั้งวัดวาอาราม และยังหลอมเอาทองคำจากองค์พระพุทธรูปไปด้วย จนอาจกล่าวได้ว่ากรุงศรีอยุธยาพินาศไปทั้งหมด และยังจับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์รวมทั้งทรัพย์สมบัติอื่นๆ ส่งกลับไปยังพม่า โดยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้สวรรคตในช่วงนั้น
ขณะที่พม่าเผากรุงศรีอยุธยานั้นพระยาตากอยู่ที่เมืองระยอง และได้ประกาศตนว่าจะเป็นผู้นำในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และจะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ประชาราษฎร์ได้กลับมาอาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขต่อไป ทำให้แม่ทัพนายกองทั้งหลายรวมทั้งประชาชนในหลายท้องถิ่นที่เสด็จผ่านต่างสวามิภักดิ์ พร้อมใจกันยกพระยาตากขึ้นเป็นผู้นำในการกอบกู้แผ่นดิน
เส้นทางของพระยาตากเมื่อออกจากกรุงศรีอยุธยา คือมุ่งไปยังบ้านโพธิ์สังหาร หรือโพธิ์สาวหาญ ได้ต่อสู้กับทัพพม่าตลอดทางจนมาถึงเมืองปราจีนบุรี ได้สู้รบกับทัพพม่าแต่ก็เอาชนะได้อีก ได้รวบรวมไพร่พลมาตลอดทางตั้งแต่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นาเกลือ บางละมุง จนถึงระยอง ซึ่งเจ้าเมืองระยองก็ยอมอ่อนน้อมโดยดี และพร้อมที่จะเข้าช่วยกันกอบกู้ชาติ โดยมุ่งที่จะเข้าตีเมืองจันท์ให้ได้ก่อน
ในตอนหัวค่ำก่อนถึงวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๑๐ พระองค์ได้ตัดสินใจที่จะยกทัพเข้าตีเมืองจันท์ โดยหลังจากที่ทานอาหารเย็นเสร็จสิ้น ก็ได้สั่งให้แม่ทัพนายกองทั้งหลายทุบทำลายหม้อข้าวหม้อแกงทั้งหมด เป็นการส่งสัญญาณว่าหากไม่สามารถเข้าตีเอาชนะเมืองจันท์ได้ อาหารเย็นมื้อนี้ก็จะเป็นมื้อสุดท้ายของชีวิต ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลุกเร้าให้ไพร่พลทั้งหลายฮึกเหิมในการต่อสู้เพื่อเอาชัยชนะ จนเมื่อถึงเวลา ๓.๐๐ น. ก็เข้าตีเมืองจันทบูร โดยพระองค์ประทับบนหลังช้างพังคีรีบัญชรเข้าพังประตูเมือง พร้อมกับส่งสัญญาณให้ไพร่พลซึ่งซ่อนตัวอยู่โดยรอบติดตามเข้าไปในเมืองและต่อสู้กับทหารของเมืองจันท์จนเอาชนะได้สำเร็จ พระยาจันทบูรและครอบครัวได้หลบหนีไปยังเมืองพุทไธมาศ
พระองค์จึงตั้งทัพและรวบรวมกำลังคนและสะสมอาวุธเพิ่มเติม ตลอดจนยึดเอาเรือสำเภาจีนที่อยู่ในแถบนั้นทั้งหมด รวมทั้งการต่อเรือรบเพิ่มเติม จนได้เรือเพื่อจะใช้ในการรบประมาณ ๑๐๐ ลำ ได้ฝึกไพร่พลให้เกิดความเชี่ยวชาญในการรบและรอจนช่วงเวลามรสุมได้ผ่านไป เพื่อจะได้ยกทัพเรือกลับมาทวงคืนกรุงศรีอยุธยาให้ได้
ทัพเรือของพระองค์ผ่านเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา รบชนะทัพพม่าที่วางกำลังไว้ที่กรุงธนบุรีอย่างง่ายดาย แล้วเสด็จนำทัพขึ้นไปจนถึงอยุธยา เข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นซึ่งพม่าให้สุกี้พระนายกองเฝ้ารักษาเมืองอยู่ ทำให้สุกี้พระนายกองเสียชีวิต และทัพของพระองค์เอาชนะทัพของพม่าได้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๐ จึงถือว่าเป็นวันที่พระองค์กอบกู้เอกราชของชาติกลับคืนมาได้สำเร็จ โดยใช้ระยะเวลาเพียง ๗ เดือนหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยา
พระองค์ทรงสถาปนากรุงธนบุรีให้เป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทย โดยได้มีการทะนุบำรุงบ้านเมืองและฟื้นฟูพระศาสนาอย่างมาก ถึงแม้จะมีความขัดสนยากจนอยู่ ในช่วง ๑๕ ปีของกรุงธนบุรีนั้น พระองค์ได้นำทัพไทยเข้าสู่การรบทั้งเพื่อการป้องกันและการขยายพระราชอาณาเขตถึง๙ ครั้งด้วยกัน
ราชอาณาจักรไทยในสมัยของพระองค์นั้นกว้างใหญ่ไพศาล ตั้งแต่เชียงใหม่ ลงมาจนถึงภาคกลางทั้งหมด โดยทิศเหนือขยายไปถึงหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ทิศใต้ได้ดินแดนกลันตัน ตรังกานูและไทรบุรี ทิศตะวันออกได้ดินแดนลาว เขมรจนถึงแม่น้ำโขงที่ติดต่ออาณาเขตญวน ทิศตะวันตกจรดดินแดนเมาะตะมะ ทวาย มะริดและตะนาวศรี
การสวรรคตของพระองค์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ ยังเป็นที่เคลือบแคลงโดยตลอด โดยบางส่วนเชื่อว่าพระองค์ถูกสำเร็จโทษ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า พระองค์ได้รับการปล่อยตัวลงเรือสำเภาไปประทับที่เขาขุนพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช และเสด็จสวรรคตในปี ๒๓๖๘ สถานที่พระองค์ไปประทับที่เขาขุนพนมก็ยังคงอยู่จนปัจจุบันนี้
พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ได้ขยายอาณาเขตโดยเอาเลือดเนื้อและชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ลูกหลานไทยได้คงอยู่ จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่รัฐบาลปัจจุบันจะไม่พยายามปกป้องและรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ไม่ให้มีการสูญเสียแม้แต่กระเบียดนิ้ว เช่น เรื่องเกาะกูดที่เป็นปัญหาอยู่ รวมทั้งต้องไม่ยินยอมอย่างเด็ดขาดที่จะให้ทรัพยากรใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่บนบกหรือใต้ทะเล ในพื้นที่ที่เป็นของประเทศไทย ได้ถูกแบ่งปันจัดสรรให้กับประเทศอื่นเป็นอันขาด และหากยังมีความพยายามที่จะกระทำการเช่นนั้นก็อาจจะกล่าวได้ว่าท่านได้กระทำการที่ถือว่าเป็นการทรยศต่อประเทศชาติของตัวเอง
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี