กรณีทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จนถึงวันปล่อยตัว โดยไม่ได้ถูกขังอยู่ในเรือนจำจริงๆ เลยแม้แต่คืนเดียวนั้น
เป็นที่ครหา และค้างคาใจคนในสังคมทั่วไป
มีการยื่นคำร้องขอให้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ หลายคำร้อง หลายแง่มุม หลายหน่วยงาน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2567 คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ได้ยื่นคำร้องในกรณีนี้ด้วย
1. คำร้องล่าสุดนี้ อ้างอาศัยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.)
เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ใช้สิทธิและหน้าที่ออกกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ในการส่งตัวนายทักษิณชินวัตร ไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ถือเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง รวมถึงเป็นการเอื้อประโยชน์ไม่ให้นายทักษิณ ชินวัตร ต้องจำคุก ตลอดระยะเวลาที่ถูกลงโทษจำคุก 181 วัน หรือไม่
2. คณะนิติชน-เชิดชูธรรม กล่าวอ้างว่า การกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ทำให้หลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่แบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ จึงไม่ควรมีการก้าวล่วงกัน
การกระทำที่เป็นการล้มล้างอำนาจฝ่ายตุลาการ เพื่อเปลี่ยนมาเป็นอำนาจฝ่ายบริหารในเรื่องนี้ แม้จะไม่ใช่เป็นการล้มล้างอำนาจฝ่ายตุลาการทั้งหมด แต่หากปล่อยให้กระทำเช่นนี้ได้ ต่อไปก็จะมีการใช้อำนาจฝ่ายบริหารล้มล้างอำนาจฝ่ายตุลาการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงควรที่อัยการสูงสุดจะร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำ
โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเลิกการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ต่อไปอีก พร้อมกับเพิกถอนผลจากการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับนี้ที่ผ่านมา และสั่งมิให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือฝ่ายบริหารอื่นออกกฎกระทรวงที่เป็นการล้มล้างอำนาจอธิปไตยของฝ่ายอื่น
สำนักข่าวอิศรา รายงานเนื้อหาคำร้องบางส่วนระบุว่า
“...ก่อนที่ นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับมายังประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรายหนึ่ง ได้ลาออกจากพรรคการเมืองเดิมมาอยู่พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีบุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค
และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
การออกกฎกระทรวงที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า และนำไปสู่การตีความว่าเป็นอำนาจโดยแท้ของฝ่ายบริหาร ทั้งที่กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบัญญัติให้เป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการ จึงทำให้เห็นว่าเป็นการกระทำให้ฝ่ายบริหารง่ายต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร โดยอาศัยช่องทางตามกฎกระทรวงฉบับนี้หลีกเลี่ยงอำนาจตุลาการ เพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตรไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แต่ได้รับการส่งตัวไปพักอยู่ที่ห้องพิเศษ ชั้น 14โรงพยาบาลตำรวจ ตลอดระยะเวลาที่ถูกลงโทษจำคุก 181 วัน” คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ระบุ
ขณะที่การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ได้ส่งตัวนายทักษิณ ซึ่งมีสถานะเป็นนักโทษที่จะต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 22 ส.ค.2566 ซึ่งเป็นวันแรกที่ได้รับโทษจำคุก และโรงพยาบาลตำรวจได้รับตัวนายทักษิณไว้ และให้พักอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ได้รับโทษจำคุก โดยไม่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำแม้แต่วันเดียว ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ตามรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ ดังกล่าว เป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยอ้างอิงกฎกระทรวงดังกล่าวที่กระทำได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการเสียก่อน
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในช่วงปี 2563 คือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566 นายสมศักดิ์ได้แถลงลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และได้ย้ายกลับไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย
หลังการเลือกตั้งปี 2566 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี
ต่อมา ถูกโยกย้ายตำแหน่งไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (บุตรีนายทักษิณ ชินวัตร)
4. นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรค
นายทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย สืบต่อมาเป็นพรรคพลังประชาชน และปัจจุบันเป็นพรรคเพื่อไทย
เป็นบิดาของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยซึ่งสามารถให้คุณให้โทษต่อสมาชิกในการคัดเลือกเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
นั่นอาจทำให้สมาชิกขาดความอิสระจากการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร
15 เมษายน 2567 สมาชิกและรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเข้ารดน้ำขอพรนายทักษิณ ชินวัตร เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ที่บ้านพักจังหวัดเชียงใหม่ เช่น นายประเสริฐ จันทรรวงทอง, นายเกรียง กัลป์ตินันท์, นายชูศักดิ์ ศิรินิล,นายพิชิต ชื่นบาน, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นางพวงเพ็ชรชุนละเอียด ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยผู้ที่เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่แล้ว และอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาสจะเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ในนามพรรคเพื่อไทย
16 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น) เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อรดน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า สถานที่พักอาศัยของนายทักษิณ ชินวัตรซึ่งเป็นช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี ปรากฏตามภาพข่าวในสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ทั่วไป
14 สิงหาคม 2567 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยที่ทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ในช่วงเย็นวันเดียวกัน รัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่ร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ในขณะที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตรหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อยู่ที่ต่างประเทศ จากสถานการณ์ทางการเมืองที่จะต้องมีการตั้งรัฐบาลใหม่และจะต้องเสนอบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
แม้แต่คุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย ยังเคยพูดในรายการคมชัดลึกเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 ว่า การปรับคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะมีขึ้น ได้พูดคุยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในครั้งนี้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่าคนที่จะปรับคณะรัฐมนตรีไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนนี้ แต่เป็นคนนอก..... แสดงให้เห็นว่าอาจมีบุคคลอื่นที่มิใช่คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยครอบงำหรือมีอำนาจเหนือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทยและเหนือคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
5. ข้างต้น เป็นอีกหนึ่งมุมมองร้องให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ในกรณีชั้น 14
พูดง่ายๆ มองว่า กฎกระทรวงที่ออกในยุครัฐมนตรีสมศักดิ์คือ การเปิดทางให้นักโทษเด็ดขาด ไม่ต้องนอนคุกจริงๆ ตามคำพิพากษาชี้ขาดของศาล หรือตามพระบรมราชโองการให้อภัยลดโทษ
แล้วรัฐมนตรีในยุคที่ออกกฎกระทรวงนั้น ก็ยังได้ดิบได้ดี ลอยตัวอยู่ในรัฐบาลที่มีลูกสาวของอดีตนักโทษเด็ดขาดคดีทุจริตประพฤติชอบเป็นนายกฯ
จะเห็นว่า คำร้องแต่ละคำร้อง ในกรณีชั้น 14 แตกต่างกันออกไป
สะท้อนว่า สังคมยังคงคาใจกรณีชั้น 14
ทักษิณและลูกสาว อย่าคิดว่าตัวเองใหญ่คับบ้านคับเมือง
ถึงเวลาธรรมะจัดสรร ผลกรรมจะตามทันเอง
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี