ในที่สุด คดีค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็เดินทางมาถึงสุดทางที่จะยื้ออีกต่อไป
1. ปัญหาการค้างชำระหนี้ สำหรับค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 (ส่วนต่อขยายสายสีลม สะพานตากสิน-บางหว้า และสายสุขุมวิท อ่อนนุช-แบริ่ง) และ ส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) เดินทางถึงสุดทางที่ฝ่าย กทม.จะยื้ออีกต่อไป
หลังจากเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2567 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.2226 ให้กรุงเทพมหานคร กับ บริษัทกรุงเทพธนาคม ร่วมกันจ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348,659,232.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 2,199,091,830.27 บาท และหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406,418,719.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 8,786,765,195.47 บาท
โดยมูลหนี้ดังกล่าว จะต้องจ่ายพร้อมอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ซึ่งประกาศโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับเงินกู้สกุลเงินบาทบวกร้อยละ 1 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ก่อนหน้านี้ ฝ่ายผู้ที่มีภาระต้องจ่าย ได้มีความพยายามจะยื้อ เตะถ่วง
ผมได้เตือนว่า แต่ละวันที่ผ่านไป มีภาระดอกเบี้ยที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จึงสมควรเร่งเข้าไปเจรจาเพื่อหยุดดอกเบี้ย หรือเร่งจ่ายเงินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเสีย
เพื่อมิให้ กทม.ต้องรับภาระค่าดอกเบี้ยแต่ละวันกว่า 3 ล้านบาท (จากยอดที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาชี้ขาด)
หรือถ้านับรวมหนี้ก้อนที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลด้วย (แต่ฝ่ายบีทีเอสเดินรถให้ตามสัญญาแล้ว) เฉพาะดอกเบี้ยกว่าวันละ 7 ล้านบาท
2. เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2567 ในการประชุมสภากทม. ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว
แต่คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. อ้างว่ารอข้อมูลที่ให้สำนักการจราจรและขนส่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอเอกสารเพิ่มเติมจาก ป.ป.ช. เวลาได้ล่วงเลยมาจนสิ้นปีงบประมาณ 2567 แล้ว คณะกรรมการวิสามัญฯยังมิได้รับเอกสารตามที่ร้องขอแต่อย่างใด
จึงเห็นควรให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทบทวนร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฯ แล้วสามารถนําเสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เข้าสู่การพิจารณาของสภา กทม. ต่อไป
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า เป็น 2 กรณีที่เกิดขึ้น จากความเห็นของคณะกรรมการฯ จึงขอถอนร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าวก่อน
3. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยอมรับว่า ได้มีการส่งหนังสือไปยัง ป.ป.ช. สำนักงานอัยการสูงสุด โดยเฉพาะศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้พิจารณาเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในลักษณะขอพิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากข้อมูลประกอบการพิพากษาไม่เป็นปัจจุบัน และมีผู้ที่เกี่ยวข้องทักท้วงเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
ล่าสุด วันที่ 6 พ.ย. 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยกับสำนักข่าว TOPNEWS ภายหลังการประชุมผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการชำระหนี้ BTSC
ยอมรับว่า กทม.ได้มีการยื่นเรื่องศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้พิจารณาเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
แต่เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2567 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายกคำร้องดังกล่าวแล้ว
ศาลปกครองสูงสุด ชี้แจงด้วยว่า ในการพิจารณานั้น ศาลปกครองสูงสุดได้นำเอาเรื่องการชี้มูลความผิดของป.ป.ช.มารวมอยู่ในคำแถลงแล้ว ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ข้อสงสัยที่ทางสภากทม. ติดใจอยู่ได้รับคำชี้แจงไปด้วย
นายชัชชาติ ระบุว่า ทางกทม.จะทำเป็นญัตติ ส่งเข้าไปให้สภากทม.พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 12 พ.ย.นี้
“เมื่อได้ทำหนังสือขอศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีใหม่ไป แล้วศาลปกครองสูงสุดได้มีหนังสือตอบกลับมาว่าจะไม่พิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากได้มีการพิจารณาไปแล้ว ทางด้านของกทม.ก็ชัดเจน” - ผู้ว่าฯกทม.กล่าว
4. เมื่อศาลปกครองสูงสุดระบุออกมาขนาดนี้ถ้า กทม. หรือสภา กทม. หรือใคร ยังพยายามจะยื้อต่อไปอีก
ขอให้เชื่อได้เลยว่า คนที่พยายามยื้อนั้น เจตนาต้องการจะเรียกผลประโยชน์บางอย่าง?
หรือเจตนาจะกลั่นแกล้งเอกชน หรือบีทีเอส ให้ได้รับความเสียหาย
เพราะศาลตัดสินจนไม่รู้จะมีอะไรเปลี่ยนไปได้อีก
อย่าลืมว่า การดำเนินการของผู้บริหารกทม. รวมถึงสภา กทม. ทำให้ในช่วง 103 วันที่ผ่านมา กทม. มีภาระดอกเบี้ยต้องจัดหางบประมาณ นำจ่าย BTSC เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด แล้ว 721 ล้านบาท
และ อีก 77 วัน ที่เหลือครบกำหนด 180 วันศาลปกครองสูงสุดพิพากษา กรอบเวลาให้ กทม.จ่ายคืนหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย
หากรวมเอาภาระหนี้ค่าเดินรถในห้วงเวลาต่อๆ มา ที่บีทีเอสเดินรถเสร็จสิ้นตามสัญญาไปแล้วแต่กทม.ยังไม่ยอมจ่ายค่าเดินรถ
แยกเฉพาะค่าดอกเบี้ยวันละ 7 ล้านบาท
คำถาม คือ ผู้ว่าฯกทม. ผู้บริหาร กทม. และสภา กทม. จะรับผิดชอบ อย่างไร? กับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
5. อย่าแกล้งลืมว่า การแก้ปัญหาหนี้ค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตกมาเป็นความรับผิดชอบและหน้าที่ของผู้ว่าฯกทม. ชัชชาติ และสภา กทม.ชุดปัจจุบัน
แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่หมักหมมมาก่อนนี้ โดยในยุครัฐบาลประยุทธ์ ที่ไม่มีการจ่ายค่าเดินรถ เพราะตอนนั้น ไม่ใช่เพราะเจตนาจะเบี้ยว หรือชักดาบแต่เพราะรัฐบาลมีแนวนโยบายที่จะใช้มาตรา 44 แก้ปัญหา โดยให้รัฐไม่ต้องควักเงินจ่ายเลยสักบาท แลกกับการเจรจาขยายสัมปทานให้เอกชน
แต่ปรากฏว่า แนวทางมาตรา 44 ขยายสัมปทานสายสีเขียวถูกต่อต้าน โดยเฉพาะจากกระทรวงคมนาคมยุคนั้น (แต่สายสีน้ำเงินเคยทำแบบเดียวกัน ไม่มีปัญหา)
หากไม่เจรจาตามแนวทางมาตรา 44ก็จะต้องจ่ายค่างานระบบไฟฟ้าฯ และจะต้องจ่ายเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมๆ กว่า 7 หมื่นล้านบาท (ตามที่ศาลปกครองตัดสินออกมาคำร้องแรกเท่านั้น)
โลกนี้ ไม่มีอะไรฟรีอย่างแน่นอน
6. เมื่อศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด พิพากษาชี้ขาดแล้ว (จ่ายค่าเดินรถฯ)
เมื่อศาลปกครองพิจารณายกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่แล้ว ก็แล้ว (ไม่ได้มีหลักฐานอะไรใหม่)
ถ้า กทม. ไม่ว่าจะผู้ว่าฯ หรือ สภา กทม. จะเตะถ่วง หรือยื้อยุดต่อไป ก็ย่อมไร้ซึ่งเหตุผลใดๆ
แถมอัตราดอกเบี้ย ก็จะสูงขึ้นเท่าทวีคูณ
ใครขัดขวาง ขัดแข้งขัดขา ก็ควรจะถูกดำเนินคดี เหมือนกรณีอดีตนายก อบจ. สงขลา โดนมาแล้ว
ติดตาม ผู้ว่าฯกทม. และ สภา กทม. จะร่วมกันชำระหนี้ค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเมื่อไหร่?อย่างไร?
และดอกเบี้ยภาระค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เหลืออยู่ เพิ่มขึ้นทุกวัน วันละราวๆ 7 ล้านบาทใครจะรับผิดชอบ?
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี