กระแสต่อต้านการผลักดันให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขึ้นเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เป็นผลให้เลื่อนการประชุมมาจากสัปดาห์ที่แล้ว
ประเด็นการเคลื่อนไหวต่อต้านมิให้บุคคลใกล้ชิดฝ่ายการเมืองขึ้นมานั่งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
เกรงว่าจะนำเป้าประสงค์ทางการเมืองมาครอบงำการทำงานของแบงก์ชาติ ที่มีหน้าที่หลักในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
โดยบุคคลระดับอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล,ธาริษา วัฒนเกส, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สื่อสารมวลชนบางส่วน รวมทั้งอดีตเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติเกือบ 1,000 คน ร่วมแสดงออกคัดค้าน
1.ประเด็น ณ ขณะนี้ ไม่ใช่ว่านายกิตติรัตน์ไม่เก่ง หรือมีคดีติดตัว (ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีข้าวบูล็อคไปแล้ว)
แต่เป็นเพราะท่าที จุดยืน ที่เคยประกาศความต้องการจะให้แบงก์ชาติมีบทบาทตอบสนองเป้าหมายของนโยบายฝ่ายเมือง
สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์เคยเขียนจดหมายถึงประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เพื่อให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย และกล่าวโจมตีกดดันผ่านรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน” อีกด้วย
นายกิตติรัตน์เคยเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรรมการ ก.ล.ต. อธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร อดีต รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลังสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ต่อมา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษา ของอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน
ปัจจุบัน พ้นตำแหน่งมาเกิน 1 ปีแล้ว
2.รายงานข่าวระบุว่า คณะกรรมการสรรหาฯ 7 คน มีความเห็นแตกต่างกัน
ฝ่ายสนับสนุนนายกิตติรัตน์ชัดเจน มี 3 ราย
ฝ่ายที่คัดค้านอย่างชัดเจน มี 2 ราย
รายงานข่าวระบุว่า มีการเสนอให้เปลี่ยนชื่อจากนายกิตติรัตน์ เป็นบุคคลระดับอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลังคนหนึ่ง
ซึ่งคนหลัง อันที่จริง ก็เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับแบงก์ชาติไว้ในทิศทางคล้ายๆ กับนายกิตติรัตน์
3.กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม นำโดยอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 ท่าน นักวิชาการ คณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์และสาขาอื่นๆ หลายสถาบันทั้งในอดีตและปัจจุบัน
แสดงความห่วงใยการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง ผ่านการคัดสรรประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
ล่าสุด ได้ชี้แจงโต้แย้ง ปมที่มีการแสดงความเห็นตอบโต้แถลงการณ์ก่อนหน้านั้น ระบุว่า
“ประการที่หนึ่ง แสดงความเห็นสนับสนุน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง โดยระบุว่าเป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมขอเรียนว่า พวกเราไม่ได้สนใจตัวบุคคลว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นคนเก่งหรือไม่
แต่เป็นห่วงกังวลในหลักการว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องไม่เป็นผู้มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นทางการเมือง
ต้องไม่เคยกระทำหรือแสดงให้เห็นถึงเจตนาในการแทรกแซงกดดัน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายทางการเงินตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ
เพราะหากธนาคารกลางของไทยต้องดำเนินการตามความต้องการของฝ่ายการเมือง ย่อมทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง ที่ต้องรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงในระยะยาว และอาจสร้างความร่ำรวยให้กับกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งบุคคลใด
ทางกลุ่มไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง หรือนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์
แต่เกรงว่าผู้ใดก็ตามที่มีความสัมพันธ์และคุณลักษณะดังกล่าว ย่อมเป็นที่ห่วงกังวล
และยิ่งถ้าผู้นั้นเป็นคนเก่งมีความสามารถสูง ก็ยิ่งสร้างความห่วงกังวลว่าอาจใช้ความเก่งความสามารถในการแทรกแซงครอบงำได้
ประการที่สอง มีข้อโต้แย้งว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรมีความเป็นอิสระจากการเมือง เนื่องจากเคยทำผิดพลาดมาก่อน เช่น ในวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 จึงเป็นการสมควรที่รัฐบาลสามารถเข้าแทรกแซงได้
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ขอเรียนว่า การอ้างความผิดพลาดในอดีตเพื่อเข้าแทรกแซง ไม่เป็นเหตุและผลเพียงพอ
เพราะการแทรกแซงโดยภาคการเมือง อาจก่อให้เกิดได้ทั้งผลดีและผลเสีย ไม่ควรมองว่าเป็นผลดีอย่างเดียว
ในขณะที่ข้อมูลเชิงประจักษ์จากประสบการณ์ทั่วโลกแสดงว่า การแทรกแซงมักก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีอย่างเทียบไม่ได้
หลักการความเป็นอิสระของธนาคารกลางที่ยึดถือกันทั่วโลก จะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง ซึ่งหมายถึงความน่าเชื่อถือของการดำเนินนโยบายการเงินด้วย
หากธนาคารกลางไม่เป็นอิสระและถูกสั่งการได้โดยฝ่ายการเมืองการดำเนินนโยบายการเงินก็จะไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เพราะฝ่ายการเมืองมีปัจจัยแปรผัน กดดัน หรือจูงใจจำนวนมาก คาดเดาได้ยาก ความไม่แน่นอนจะเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจเพราะก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงนโยบายที่กระทบภาคธุรกิจอย่างมาก
และที่สำคัญที่สุด หากความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงินหมดไป ความสามารถที่จะรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายก็จะหมดไปเช่นกันส่งผลให้เงินเฟ้ออาจทะยานสูงขึ้นและควบคุมยากเพราะนโยบายการเงินขาดความน่าเชื่อถือเสียแล้ว ซึ่งเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ถ้าจะกล่าวโดยหลักการแล้ว ธนาคารกลางทั่วโลก รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงสถาบันทุกแห่งสามารถทำผิดพลาดได้ในบางครั้ง กระบวนการดำเนินนโยบายจะต้องเน้นให้ธนาคารกลางมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ผ่านการดำเนินนโยบายการเงินที่โปร่งใสอธิบายได้ พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และแก้ไขเมื่อพบข้อผิดพลาด ในเรื่องของความโปร่งใสธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงระเบียบและแนวปฏิบัติภายหลังวิกฤตปี 2540 อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน เป็นธนาคารกลางที่ได้รับการประเมินในระดับที่ดีในระดับสากล
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมและภาคส่วนต่างๆ ขอเรียกร้องอีกครั้งให้คณะกรรมการคัดเลือกทั้ง 7 ท่าน ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยพิจารณาอย่างถ่องแท้ต่อคุณสมบัติที่เป็นหลักสากลของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางทั่วโลกต้องคำนึงถึงประโยชน์และเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ปราศจากความเกรงใจและความสัมพันธ์ทางการเมือง
ยึดมั่นหลักการที่สังคมไทยในอดีตได้พยายามสร้างให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสถาบันที่เป็นอิสระจากการครอบงำเพื่อหาผลประโยชน์ในระยะสั้นทางการเมือง”
4.ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นน่าสนใจ
ระบุว่า
“ขอย้ำอีกครั้งนะครับ ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแบงก์ชาติแต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ
แคนดิเดตชื่ออะไรไม่สำคัญ แต่ถ้ามีประวัติเป็นคนการเมืองแบบแนบแน่น มีทัศนคติและวิธีคิดที่อยากแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางเพื่อตอบโจทย์การเมือง ก็ไม่สมควรครับ
ถ้าเรายอมให้ฝ่ายการเมืองส่งคนการเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่าย จะเป็นอันตรายยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย
ทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง
และทำลายหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอ จนไม่เหลือสักหน่วยงานเดียวที่จะทัดทานนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ถูกไม่ควรได้
ต่อไป เราคงเห็นนโยบายประชานิยมแบบปลายเปิดเต็มไปหมด
ไม่มีใครสนใจวินัยการเงินการคลัง
มีแต่นโยบายที่หวังผลประโยชน์ระยะสั้น เพื่อตอบโจทย์การเมืองเป็นหลัก
ในอนาคต นโยบายการเงินและนโยบายสถาบันการเงินก็อาจจะถูกทำให้กลายพันธุ์เป็นนโยบายประชานิยมไปด้วยก็ได้ครับ
ร่วมด้วยช่วยกันป้องกันอย่าให้การเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่ายครับ”
5.ติดตามว่า ฝ่ายการเมืองในรัฐบาล จะยังคงพยายามตีเมืองขึ้นแบงก์ชาติต่อไป หรือล่าเมืองขึ้นแบงก์ชาติ เพื่อล่าขุมทรัพย์อะไรบ้าง?
และหากประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เป็นใครก็ตาม จะเข้าไปแทรกแซงนโยบายการเงิน รวมถึงการบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศแค่ไหน? อย่างไร?
นี่คือหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่จะกลายเป็นขุมทรัพย์ของฝ่ายการเมืองที่หิวโหย หรือไม่?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี