ว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาผงาดในทำเนียบขาวอีกสมัย ทำเอาฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าและพรรคฝ่ายค้านใหญ่ของไทยไปไม่ถูก
โดยภาพรวมชัยชนะเหนือความคาดหมายของ ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้สร้างความสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจการค้า การเมือง และสงครามภูมิรัฐศาสตร์โลกครั้งใหญ่ ดังที่สื่อสารมวลชน ตลอดถึงกูรูผู้รู้ทั้งหลายให้ความรู้ ทำความเข้าใจกับผู้เสพข่าวทั่วไปแล้ว
วันนี้คอลัมน์ ทวนกระแสข่าว จึงนำเสนอผลกระทบในทางลบเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ในประเทศไทยกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ที่มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างล้ำลึกพูดง่ายๆ คือ พรรคส้ม ซึ่งมีสส.มากเป็นอันดับหนึ่งในสภา แต่เป็นฝ่ายค้าน พรรคส้มกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า เชื่อว่าต่างก็ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากวอชิงตัน ในรัฐบาลเดโมแครต ไม่ว่าจะเป็นสมัยรัฐบาลโจ ไบเดน หรือรัฐบาล บารัค โอบามา ที่ผ่านมา
พรรคฝ่ายค้านใหญ่ในประเทศไทยถึงใช้สภาไทยโจมตีรัฐบาลพลเอก มิน อ่อง หล่าย หลายครั้ง ในเวลาเดียวกันพรรคฝ่ายค้านไทยก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) รัฐบาลเงาฝ่ายนางออง ซาน ซู จี และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของ NUG
และเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าซีไอเอ เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้ง NUG และ PDF ขึ้นมา เพื่อต่อต้านโค่นล้มรัฐบาลทหารพม่า และเป็นที่รู้กันทั่วไปเช่นกันว่า วอชิงตัน ให้การสนับสนุนพรรคส้มตลอดมา จึงไม่แปลกใจที่พรรคส้มโจมตีธนาคารในประเทศไทยว่าเป็นเส้นทางเงินผิดกฎหมายซื้ออาวุธให้กองทัพพม่า ซึ่งสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปฏิเสธการโจมตีไร้สาระครั้งนั้น
ในทางตรงกันข้ามแหล่งข่าวความมั่นคงกล่าวว่า หากมีธนาคารในประเทศไทย เป็นเส้นทางการเงินเข้าพม่าก็น่าเป็นเส้นทางการเงินของฝ่ายต่อต้านมากกว่า นอกจากนั้น สส.ฝ่ายค้านในสภาไทยยังอภิปรายสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า บางครั้งกดดันให้รัฐบาลไทยอุปถัมภ์คนพม่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย จนคนไทยเรียกฝ่ายค้านว่า “พรรคประชาชนพม่า”
แหล่งข่าวความมั่นคงบอกกับแนวหน้าว่าหลังเลือกตั้ง พ.ค. 2566 พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง ได้ สส. 151 คน เวลานั้น พรรคก้าวไกลมั่นใจว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรี และระหว่างเตรียมการจัดตั้งรัฐบาล ผู้แทนพรรคก้าวไกลได้พบปะหารือกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ารวมทั้งตัวแทนจาก NUG และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่อต้านรัฐบาล หลังจากการหารือกับฝ่ายต่อต้าน พรรคก้าวไกล ซึ่งมั่นใจว่ากำลังจะเป็นรัฐบาล กดดันเจ้าหน้าที่ให้ออกบัตรอยู่ในประเทศไทยสิบปีให้พม่าเข้าเมือง
ผิดกฎหมายนับหมื่นราย
ทางด้าน PDF กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าที่มั่นใจในการสนับสนุนจากอเมริกา ประกอบกับหน่วยงานบรรเทาต่างชาติ และพรรคใหญ่ในประเทศไทยให้ท้ายเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายในประเทศไทยอย่างเปิดเผย ตามเมืองชายแดน เช่น แม่สอด แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ พวก PDF เช่าโรงแรม เช่ารีสอร์ท เช่าบ้านอยู่ในเมืองนับพันคนนับหมื่นคน
ในเมืองแม่สอด PDF ชักธงฝ่ายต่อต้านหน้าบ้านเช่าส่วนภายในบ้านติดรูป ออง ซาน ซู จี ขนาดใหญ่พร้อมป้ายต่อต้านทหารพม่า เจ้าหน้าที่ไทย บอกให้เอาธงต่อต้านรัฐบาลพม่าลง ยังขัดขืนหลายครั้ง PDF จัดงานระดมทุนช่วยฝ่ายต่อต้านในเมืองใหญ่ เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการที่มีแรงงานพม่าอาศัยเป็นจำนวนมาก
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังวันที่ 5 พฤศจิกายน ความเคลื่อนไหวของ PDF เงียบหายไป พร้อมๆ กับสื่อออนไลน์ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่าราวกับว่า พวกเขารอดูท่าทีของทรัมป์และรัฐบาลไทย
แหล่งข่าวในกลุ่มชาติพันธุ์บอกแนวหน้า ว่า..“ทรัมป์ไม่รู้จักพม่า เขาไม่สนใจพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า ไม่เหมือนกับรัฐบาล ไบเดน พวกเราต้องทำใจ และรอดูท่าที” แหล่งข่าวกล่าว และเสริมว่า อเมริกาทำสงครามการค้ากับจีน “เรายังพอมีความหวังว่า คณะทำงานที่เคยช่วยเหลือฝ่ายต่อต้าน จะแนะนำให้ทรัมป์สนับสนุนฝ่ายต่อต้านเพื่อคานอำนาจกับจีนก็ได้”
ความคิดเห็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าสอดคล้องกับความคิดเห็น ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่กล่าวว่า ทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญกับพรรคฝ่ายค้านไทย.. “ทรัมป์ ไม่ให้ความสำคัญกับพรรคนี้ บางทีทรัมป์มองว่าคนพวกนี้ไร้เดียงสาด้วยซ้ำ ทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญการเมืองพม่า..ถ้าจะมีความหมายอยู่บ้างคือพวก สส. สว.ที่เคยช่วยเหลือฝ่ายต่อต้าน อาจช่วยผลักดันให้ช่วยฝ่ายต่อต้านต่อไป เพื่อขัดขวางการขยายอิทธิพลของจีนในพม่า”
ดร.ปณิธานกล่าวด้วยว่า นักการเมืองในอเมริกาบางคนมีความสัมพันธ์และเชื่อมั่นในตัวนายพิธา “คิดว่าตอนนี้พิธา พยายามติดต่อ สส. สว.อเมริกันที่มีความสัมพันธ์ และเคยช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านพม่า แต่คิดว่าคงไม่ง่าย เพราะ สส. สว.บางรายไม่ได้กลับเข้าสภา ประกอบกับประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ค่อยฟังใคร ดังนั้นทั้งพรรคฝ่ายค้านไทยและฝ่ายต่อต้านในพม่าอยู่ในภาวะน่าปวดหัว” เขากล่าวสรุป
ทางด้าน พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ที่ถูกกดดันรอบด้านทั้งจากสหรัฐอเมริกาและฝ่ายต่อต้าน รู้สึกผ่อนคลายขึ้นมา เมื่ออยู่ท่ามกลางมิตรประเทศที่เข้าใจสถานการณ์เมืองพม่า ระหว่างการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 10 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีน และแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยได้หารือทวิภาคี กับ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีเมียนมา
สื่อทางการเมียนมา รายงานวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ว่า พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา พูดคุยหารือกับนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ของจีน ในระหว่างเยือนเมืองคุนหมิงของจีน โดยกล่าวว่า กองทัพเมียนมาพร้อมสำหรับการสร้างสันติภาพ หากกลุ่มติดอาวุธร่วมสร้างสันติภาพด้วย
ในวันเดียวกัน สื่อไทยรายงาน จากนครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 10 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เธอได้หารือทวิภาคี กับ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ซึ่งนายกฯแพทองธารกล่าวว่า..
“เป็นการพูดคุยแบบส่วนตัวและจริงๆ ไม่ได้มีเรื่องอะไรที่ผิดคาด เป็นเรื่องของปัญหาระหว่างประเทศ เราก็เสนอความสัมพันธ์อันดี ที่จะช่วยให้เกิดสันติภาพในเมียนมา” เธอระบุอีกว่า ต้องการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่าเราไม่ได้มีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านเลย ไม่ว่ารัฐบาลใดที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้สร้างความบาดหมาง เราสนับสนุนซึ่งกันและกันด้วยซ้ำ ถือเป็นสิ่งที่ดีและอยากให้เป็นอย่างนี้ต่อไป
“ส่วนการเมืองในประเทศเขาก็ให้เขาจัดการ แต่สิ่งที่เราต้องทำคือยื่นความหวังดีว่า เราสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่สันติภาพให้ได้ คิดว่าในจุดที่ไทยยืนอยู่ค่อนข้างชัดเจนและเป็นบวกกับประเทศเรา” นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าว
ขณะที่เมียนมาแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับแรงงานเมียนมาที่อยู่ในไทย ซึ่งบางส่วนยังไม่ได้ลงทะเบียนโดยพบว่าเป็นตัวเลขเพียงไม่กี่ล้านคน แต่ข้อเท็จจริงมีมากกว่านั้นเมียนมาจึงอยากได้ตัวเลขว่าประชากรของเขาไปอยู่ที่ไหน เท่าไร อย่างไร จึงขอข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งตนฝากไปกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว
มองจากการให้สัมภาษณ์ของนายกฯแพทองธารดูเหมือนว่าเป็นปกติที่ผู้นำประเทศเพื่อนบ้านพบปะหารือกันแต่ในบริบทการเมืองอาเซียน การที่นายกฯไทยพบ พลเอกอาวุโสมินอ่อง หล่าย ซึ่งถูกประธานการประชุมอาเซียนกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนตลอดเวลาสามปีที่ผ่านมา
การทวิภาคีนายกฯไทยกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย จึงเป็นนัยสำคัญว่า ประเทศไทยจะมีบทบาทแก้ไขวิกฤตการเมืองในพม่า และประเทศไทยสนับสนุนให้พม่ามีการเลือกทั่วไป ดังที่สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า น.ส.แพทองธาร พูดเป็นนัยว่าเธอสนับสนุนการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยหลายพรรคในพม่า
คณะผู้บริหารแห่งรัฐ หรือ SAC ออกแถลงการณ์เตรียมการเลือกตั้งปีหน้า โดยระบุว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจสำมโนประชากร ดังนั้นการที่ทางฝ่ายพม่าแสดงความกังวลว่าประชากรของเขาอยู่ประเทศไทยหลายล้านคน และขอไทยช่วยสำรวจว่าอยู่ที่ไหนและจำนวนจริงเท่าไหร่ เชื่อว่าส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง และพม่าอยากรู้ว่า
ฝ่ายต่อต้านเพ่นพ่านในประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน
ดร.ปณิธานกล่าวว่า นายกฯไทยส่งสัญญาณ จะเป็นคนกลางในการเจรจากับทุกฝ่าย ซึ่งบิดาของเธอได้เริ่มต้นบ้างแล้ว แต่หยุดชะงักไป เพราะหลายฝ่ายไม่รับเงื่อนไขในข้อเสนอของทักษิณ คิดว่าฝ่ายไทยคงปรับเงื่อนไข และเป็นคนกลางเจรจาทุกฝ่ายได้ หากฝ่ายกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศจริงจังเรื่องนี้
ส่วนพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ทราบว่าได้เจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว “ยังเหลือแต่ ออง ซาน ซู จี ว้า และโกก้างไม่ยอมเจรจา” ดร.ปณิธานกล่าว และเสริมว่า
“ไม่แน่นักการเมืองอเมริกันที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า อาจนำกลุ่มที่ไม่ยอมเจรจาเสนอให้ทรัมป์ใช้คานอำนาจกับจีนก็ได้ แต่ไม่ง่ายนัก” เขากล่าวสรุป
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ากังวลว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่สนใจพม่าไม่สนใจชะตากรรมฝ่ายต่อต้านในขณะที่ตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้านไทยกำลังวิ่งเข้าหานักการเมืองอเมริกันให้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านไทยต่อไป ซึ่งก็ไม่ง่ายในยุคทรัมป์
สรุปว่า ชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งความพ่ายแพ้แก่พรรคฝ่ายค้านใหญ่ในประเทศไทยและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี