ละครหรือซีรี่ส์ “แม่หยัว” ทางช่องวัน กำลังเจอกระแสต่อต้าน เพราะการ “วางยาสลบแมว” เพื่อ “การแสดง” ที่ไม่เพียงเกิดการ “แบนแม่หยัว” แต่อาจมีความผิดเรื่อง “ทารุณกรรมสัตว์” ได้ด้วย
เพจ “สัตวแพทยสภา ประเทศไทย” แจ้งว่า “ตามที่มีหลายท่าน ได้ส่งภาพของแมวซึ่งปรากฏในสื่อโซเชียลมีเดียขณะนี้ และมีข้อกังวลจากการอ้างถึงว่าอาจมีการใช้ยาสลบในการถ่ายทำละคร ทางสัตวแพทยสภาได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว และจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปครับ”
สัตวแพทย์หญิงภสดล อนุรักษ์โอฬาร หรือ หมอผึ้ง เจ้าของช่องยูทูบ “หมอหมาหมอแมว” ให้ความเห็นเกี่ยวกับการวางยาสลบให้ สุนัข แมว อย่างปลอดภัย ว่า ต้องมีการเตรียมตัวในการวางยา สุนัขและแมว ซึ่งทั้งหมาและแมวมีความใกล้เคียงกันมากโดยส่วนสำคัญอยู่ที่สุขภาพของสัตว์ ในบางตัวต้องมีการตรวจประเมินหัวใจเอกซเรย์ในช่องอก อย่างตัวที่มีความซีเรียสมากๆ จะต้องมีการตรวจหัวใจและตรวจอย่างละเอียดด้วยการเอคโค่หัวใจเพื่อดูการทำงานของหัวใจเนื่องจากหัวใจกับปอดมีผลต่อการวางยามากๆ
โดยก่อนวางยาสลบจะต้องมีการเตรียมตัวอย่างน้อย 8 ถึง 12 ชั่วโมง ส่วนตัวที่มีน้ำหนักน้อยก็อาจจะมีการเตรียมตัวน้อยกว่านั้น อาจจะเป็น 4 ถึง 6 ชั่วโมงหรือ 6 ถึง 8 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับอายุของสัตว์ด้วยแต่ในทุกเคสต้องมีการเตรียมตัวป้องกันผลกระทบหลังจากการวางยาที่จะเกิดขึ้นได้
หมอผึ้ง กล่าวว่า สำหรับข้อห้าม ในการวางยาสุนัขและแมวจะเรียกตรงๆ ก็ไม่ถูกต้องนะอาจจะต้องใช้คำว่าข้อระวังมากกว่า อย่างเช่น สุนัข แมวที่มีโรคแทรกซ้อน อย่างเช่นโรคหัวใจหรือเรื่องของปอด เรื่องของโรคไต โรคตับที่มีผลต่อการขับยาในเคสเหล่านี้ และในการวางยาสลบ
หากเป็นปกติไม่ใช่ที่เป็นการผ่าตัดจะต้องมีการเตรียมสภาพของสัตว์ไว้ก่อน เช่น การให้น้ำเกลือรอไว้หนึ่งคืนเพื่อเตรียมพร้อมในการผ่าตัดต่อไป
รวมถึง การผ่าตัดบางอย่างก็จะต้องมีการเตรียมเลือดหรือเตรียมส่วนประกอบอย่างอื่นด้วย ส่วนบางเคสที่มีผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจจะมีอาการชักหลังการผ่าตัดหรือวางยาสลบไปแล้ว อาจจะต้องมีการแอดมิทมากขึ้นเป็นประมาณ 12 ถึง 24 ชั่วโมง เพื่อดูอาการอย่างแน่ชัดว่ามีผลแทรกซ้อนหรือไม่
ส่วนลักษณะการขย้อนหรืออาเจียน เกิดจากยาซึมหรือยาสลบก็จะมีผลข้างเคียงอยู่แล้ว และจะพบได้บ่อยมากในหลายกลุ่มของตัวยา และการอาเจียนนี่คือตัวสำคัญในการเตรียมงดน้ำงดอาหาร หากไม่งดน้ำหรืออาหารจะมีอาการเกิดขึ้น 80 ถึง 90% หากไม่มีการเตรียมตัวก็อาจจะมีการไหลย้อนไปลงที่ปอดได้และเป็นสิ่งที่เรากังวลที่สุดในการวางยาสลบ เพราะหากเกิดอาการดังขึ้นทางการแพทย์จะเรียกว่าเป็นภาวะปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รักษาได้ยาก
หมอผึ้ง กล่าวต่อว่า ในเคสจำเป็นที่ต้องใช้ยาสลบกับสุนัขและแมวหลักๆ คือการทำการหัตถการ หรือการเย็บแผลหรือการตรวจวินิจฉัย เช่น การส่องกล้องต่างๆ เราจะทำในขณะที่สัตว์ตื่นไม่ได้เลย และที่จะต้องเจอบ่อยๆ คือ การผ่าตัดทำหมันต่างๆ หรือ ให้เลือด จำเป็นจะต้องใช้ยาซึมยาสลบ และยากลุ่มที่นิยมใช้ก็คือยาซึมในแมว เราจะพบว่าผลจากวางยาคือน้องแมวจะมีอัตราการเต้นของหัวใจลดลง อุณหภูมิลดลง และมีอาการอาเจียนได้ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยๆ
ยาสลบกับยาซึมในบางตัวบางกลุ่มมีการแยกกันอย่างชัดเจนแต่ยังมีบางตัวก็สามารถนำยาซึมมาเพิ่มโดสให้เป็นยาสลบได้ บางเคสก็จะมีการให้ยาซึมไปก่อนที่จะแทงน้ำเกลือได้และโกนขน หรือก่อนที่จะนำไปขึ้นบนโต๊ะผ่าตัดก่อนจะสอดท่อแล้วก็ให้ยาสลบ แต่บางแห่งก็จะใช้ยาสลบผ่านทางเส้นเลือด ซึ่งหลังการวางยาสลบจะต้องมีการตรวจการเต้นของหัวใจอุณหภูมิ ความดัน ซึ่งหากยามีมากเกินไปก็จะเกิดปัญหาได้ มีโอกาสทำให้หมาและแมวเสียชีวิตได้
การนำสัตว์เข้ามาฉากในโฆษณาหรือภาพยนตร์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มสัตว์ที่ถูกฝึกมาแล้ว แต่ถ้าพูดแบบคนไม่มีความรู้ทางด้านโปรดักชั่น การจะใช้ภาพบางฉาก เช่น สัตว์นอนตาย ก็จะน่าใช้เอฟเฟกท์เข้ามาใช้น่าจะเหมาะกว่าซึ่งถ้าเกิดทำเทคนิคได้ดีคนดูก็จะรับได้ มันยังดีกว่าจะทำให้มีข้อสงสัยว่าจะทำให้สัตว์เกิดอันตรายหรือได้รับบาดเจ็บซึ่งคนดูเลือกที่จะดูแบบนั้นมากกว่า และสัตวแพทย์ก็จะมีการเรียนอยู่ในส่วนของคำว่า สวัสดิภาพ ของสัตว์อย่างละเอียด
“แต่คนทั่วไปก็อยากจะให้มองว่าสัตว์เลี้ยงเช่น หมาแมว ก็จะเป็นเหมือนคนคนหนึ่ง อะไรก็ตามที่สิ่งนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตของสัตว์ หรือแม้จะทำให้ทำให้สัตว์ได้รับบาดเจ็บ ระหว่างถ่าย คนดูก็จะรับไม่ได้ เรามองว่าหากใช้ตัวเองเป็นมาตรฐานว่าถ้ามองว่าเราเป็นคนถ้าเราถูกกระทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือเกิดอันตราย เราก็จะรู้สึกไม่โอเคกับสิ่งนั้นเช่นกัน” หมอผึ้ง กล่าว
เฟซบุ๊ก ปู จิตกร บุษบา โพสต์บทวิเคราะห์การแสดงออกที่ส่อเจตนาของละครแม่หยัวเอาไว้ว่า “แม่หยัว : ละครฝ่ายต่ำ” ความว่า
“ในตัวเราทุกคน มีสิ่งที่เรียกว่า #อำนาจฝ่ายต่ำ (evil power. / Power of Darkness.) มันคือส่วนที่ดำมืดที่สุดของใจ
กล่าวได้ว่า ละครหรือซีรี่ส์ “แม่หยัว” นั้น คือ ละครฝ่ายต่ำ ที่ “เล่น” ที่ “ละเลง” หรือ “ขยำขยี้” กับ“ฝ่ายต่ำ” ของตัวละคร ที่หยิบเอาเศษเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์มาใช้ โดยส่วนที่เป็น “ฝ่ายต่ำ” ของผู้ผลิต
ในที่นี้จะไม่ก้าวล่วงถึง “นักแสดง” เพราะภารกิจของเขาคือ “การแสดง”
เมื่อโปรดิวเซอร์ คนเขียนบท และผู้กำกับ มุ่งจะขายสิ่งที่เรียกว่า “ฝ่ายต่ำ” นักแสดงมีหน้าที่ “ฉาย” สิ่งนั้นออกมาทางการแสดงของตัวเองในฐานะ “นักแสดงมืออาชีพ”โดยไม่มีหน้าที่ขัดหรือแย้งกับมัน เมื่อตกปากรับคำที่จะ “แสดง” จงพูดตามบทที่เขาเขียนให้แสดง จงใช้คำตามที่เขาเลือกให้ใช้ จงส่งประกายแห่งความร้อนร่านผ่านสีหน้าแววตาของเธอ ความเกลียดชัง ความหื่นกระหาย ภาษากาย ภาษาพูด ภาษาภาพ จึงถูกเทลงมากองรวมกันในการถ่ายทำ-นำเสนอ และใช้มันอย่างไม่บันยะบันยัง
เขาออกแบบให้ถ่างขา “พับเป็ด” เพื่อการ “ร่วมเพศ” ก็ต้องแสดงความพร้อมในการร่วมเพศด้วยท่า “พับเป็ด” ในฐานะนักแสดงมืออาชีพ และยินยอมให้ฝ่ายการตลาดและการโฆษณา ใช้มันเป็น “สินค้า” หรือเป็น “จุดขาย” ที่ขายแล้วขายเล่า ทั้งภาพนิ่ง คลิป ทีเซอร์ ข่าว และการกล่าวถึง
นี่คือ “ฝ่ายต่ำ ในเจตจำนงของคน” ไม่ใช่ของตัวละครหรือตัวเรื่องเพียงอย่างเดียวแล้ว พวกเขาออกแบบ “การขาย” ไว้แบบนี้
กอดจูบเพื่อนำไปสู่การสังวาสกันต่อหน้าพระพุทธรูปในโบสถ์วิหาร, ชิงรักหักสวาท กรุยทางสู่อำนาจ-ตำแหน่ง ผ่านกามโลกีย์, กษัตริย์ สนม ราชครู
ถูกนำเสนอให้หมกมุ่นและมีกิจวัตรผ่านกิจกามเหล่านี้ โดยมิได้จะสร้างสมดุลกับชีวิตด้านอื่นๆ ผู้กำกับและทีมงานเลือกแล้วที่จะฉายฝ่ายต่ำ/ด้านมืด (Dark side) ให้คนเสพอย่างสาสะ ใส่เข้ามา ใส่เข้ามาอีก ป่าวประกาศออกไป กระตุ้นให้มันมาเสพ มาดู มาไวรัล แล้วไปขายสปอนเซอร์มา
นี่คือ “ฝ่ายต่ำ” ที่ไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่มัน “แสดงตน” อย่างชัดเจนผ่าน “การกระทำ” ที่โคตรจะกระเหี้ยนกระหือรือ
ประวัติศาสตร์ ถูกตีความและขยายความ หรือจะเรียกว่าละเลงเละด้วยอำนาจฝ่ายต่ำของผู้ผลิต มันไม่ใช่แค่ “การตีความ” เนื้อหา เหตุการณ์ในอดีตแล้ว หากแต่คือ ความจงใจ คือ เจตนา ที่จะ “ขาย” อย่างนี้
นึกถึงละครเรื่อง “เพลิงพระนาง” ซึ่งเป็นการต่อสู้เชิงอำนาจของสตรีเพศในถนนการเมืองของราชสำนักเหมือนกัน แต่การประพันธ์และการนำเสนอในฐานะละคร ได้แสดงความเคารพและยำเกรงต่อข้อเท็จจริงด้วยการยืมโครง (plot) ของเหตุการณ์ในอดีตแห่งราชสำนักมัณฑะเลย์ ปลายสุดของราชวงศ์คองบอง ก่อนสิ้นสุดระบอบกษัตริย์มาใช้ ด้วยการแปรเปลี่ยนเนื้อหาให้เป็น “เมืองสมมุติ”, “ตัวละครนามสมมุติ” แต่เดินเรื่องอิงไปกับข้อเท็จจริง ด้วยการขับเน้น “ฝ่ายต่ำ” ในตัวละครแต่แสดงออกโดยไม่ขาย “ความต่ำ”
ชั้นเชิงจึงต่างกับ “แม่หยัว” โดยสิ้นเชิง
มีอะไรในแก่นสารของ “เพลิงพระนาง” ที่ต่างจาก “แม่หยัว” ล่ะ จะปรักปรำว่าแม่หยัวก๊อบปี้ลีลาการเดินเรื่องหรือการสร้างเนื้อหามาจากเพลิงพระนางก็ยังได้ แต่“ไร้รสนิยม” ในการนำเสนอ
แม่หยัวถูกเลือกที่จะเล่า จะฉาย จะใส่รายละเอียดของแต่ละฉากแต่ละตอนด้วย “อำนาจฝ่ายต่ำ” ของการผลิต เป็นการออกแบบสินค้าด้วยจิตใจ “ฝ่ายต่ำ”
เพื่อให้ “แรง” ให้ “ฟาด” ให้ “จึ้ง” ให้ “ไวรัล” ให้ talk of the town.
การดีไซน์ฉากทดสอบยาพิษ ซึ่งทำได้ตั้งหลายวิธี จึงถูกเลือกด้วยวิธีทดสอบกับแมวดำ และในการถ่ายทำจึงเลือกใช้แมวจริง!!
ให้มันจึ้ง ให้มันฟาด ให้มันต๊าซซซ... ให้มันถูกพูดถึง
สมใจไหมล่ะ
สังคมพูดถึงแล้ว เห็นแล้วถึง evil power ในตัวผู้ผลิต
เธอจงใช้ #ความเป็นมนุษย์ สร้างงานศิลปะเถอะ อย่าเอา #พลังปีศาจ มาสร้างเลย
จำไว้ และใช้มันเป็นบทเรียนของเธอ!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี