ความพยายามเข้ายึดครองการบินไทย ให้กลับไปอยู่ในอำนาจของการเมืองสามานย์ ยังคงมีอยู่
1. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ปรากฏว่า สหภาพแรงงานการบินไทย รวมตัวคัดค้านการเมืองแทรกแซง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
นั่นคือคัดค้านการที่กระทรวงการคลัง ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ โดยเสนอเพิ่มผู้บริหารแผน 2 ราย มาจากกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม
ชี้ว่า เป็นการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
ทั้งๆที่ ปัจจุบัน การบินไทยอยู่ในแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งเจ้าหนี้จะต้องเป็นผู้พิจารณาสำคัญ แล้วกระทรวงการคลังไม่ใช่เจ้าหนี้รายใหญ่สุดของการบินไทย แล้วจะส่งคนเข้ามาควบคุมกำหนดทิศทางแบบชุบมือเปิบได้อย่างไร?
แถมเหตุที่การบินไทยตกต่ำ ต้องลดคน ต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการฯ นั่นก็เพราะการเมืองแทรกแซงการบริหารในอดีตนั่นเอง
2. เพราะฉะนั้น 2 ชื่อ ที่ถูกเสนอเข้ามา ได้แก่
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรกระทรวงคมนาคม
และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
ไม่ใช่ว่าไม่เก่ง ไม่ดี แต่เป็นเพราะจะเข้ามาโดยการเสนอของกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าหนี้รายใหญ่
แน่นอน ถ้าเข้ามาบริหาร ก็จะต้องฟังความต้องการของฝ่ายการเมืองในรัฐบาล
มันผิดทั้งหลักการ ผิดความชอบธรรมในทางการบริหารจัดการ ในขณะที่การบินไทยกำลังอยู่ในแผนฟื้นฟูฯ ที่จะต้องถูกควบคุมดูแลโดยเจ้าหนี้เป็นสำคัญ
ประการสำคัญ ที่ผ่านมา เมื่อไม่มีการเมืองสามานย์เข้ามาแทรกแซง การบินไทยก็สามารถแก้ปัญหา จนกลับมามีผลประกอบการที่ดีตามเป้าหมายอีกครั้ง
แล้วจะให้การเมืองดึงกลับไปสู่ขุมนรกเหมือนเดิมอีกหรือ?
3. สถานการณ์ล่าสุด หลังเข้าแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย
ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 45,828 ล้านบาท
เพิ่มขึ้น 8,820 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นถึง 23.8%
สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 135,810 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 17.2%
บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 15,221 ล้านบาท
มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 25,056 ล้านบาท
นอกจากนี้ คาดว่า เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจะแสดงเจตนาการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการทั้งในส่วน Voluntary Conversion และหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักได้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน-21 พฤศจิกายน 2567
โดยเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการสามารถแสดงเจตนาการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนได้
โดยวิธีการ (ก) กรอกรายละเอียดในใบแสดงเจตนาใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน (Hard Copy) หรือ (ข) แสดงเจตนาใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนผ่านระบบออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ด้วยระบบ Money Connect by Krungthai ผ่านทาง Krungthai NEXT Application สำหรับเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการประเภทบุคคลธรรมดาเท่านั้น
ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทจะดำเนินการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น (รวมทั้งหุ้นที่เหลือจาก Voluntary Conversion (หากมี)) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ พนักงานของบริษัท และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) (ตามลำดับ)
โดยคาดว่าจะดำเนินการเสนอขายให้เสร็จภายในเดือนธันวาคม 2567 นี้
ประการสำคัญ บริษัทยังคาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2568
จะเห็นได้ว่า การบริหารตามแผนฟื้นฟูที่ผ่านมา เป็นไปอย่างดีเยี่ยม ไม่มีเหตุผลที่จะต้องให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงเลยแม้แต่น้อย
4. แม้จะมีการเลื่อนการพิจารณาเพิ่มจำนวนผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ออกไปก่อน
แต่ถ้ากลับไปพิจารณาแถลงการณ์ของสหภาพแรงงานการบินไทย จะเห็นประเด็นสำคัญชัดเจน คือ การเมืองต้องหยุดทำลายการบินไทย
ระบุว่า
“...บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ขาดสภาพคล่อง ขาดทุนอย่างหนักต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี จนต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง
การฟื้นฟูกิจการดำเนินไป ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 จนถึงวันนี้รวม 4 ปี 5 เดือน ด้วยความร่วมมือร่วมใจ ความสามัคคีของผู้บริหารแผนและพนักงานทุกคนทุกระดับ อดทน มุ่งมั่น ฟันฝ่ากับปัญหาอุปสรรคนานาประการ
สามารถพลิกฟื้นวิกฤตการขาดทุนกลับมามีกำไรได้ตามแผน
สหภาพแรงงานการบินไทย ขอยืนยันว่า สาเหตุที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ขาดทุนนับแสนล้านบาท เกิดจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นองค์กรที่ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปนั้น เกิดขึ้นจาก “ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล” ทั้งกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังที่ถูกส่งเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ทั้งสิ้น
เช่น การเปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก การจัดซื้อจัดหา เครื่องบิน A-340 จำนวน 10 ลำ แต่เมื่อใช้บินจริงแล้วไม่คุ้มค่า สร้างภาระการขาดทุนสะสมทุกเที่ยวบิน จนต้องปลดระวางเครื่องบิน A - 340 การแต่งตั้งโยกย้ายที่ต้องทำตามใบสั่งนักการเมืองผ่านบอร์ด สร้างความขัดแย้งแตกแยกภายใน การทุจริตการจัดซื้อ การกำหนดนโยบายที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้การบินไทยแข่งขันได้อย่างเสรี
การขาดทุนสะสมจากการแสวงหาผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจผ่านตัวแทนรัฐบาล ทำให้บริษัทการบินไทยและพนักงานต้องแบกภาระ “การขาดทุน”
จนในที่สุด ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ นำมาสู่การเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากกว่าหมื่นคน สร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนแสนสาหัสให้กับพนักงานและครอบครัว
ที่สำคัญ เหนือสิ่งอื่นใด คือ ชื่อเสียงเกียรติภูมิของสายการบินแห่งชาติที่คนไทยทุกคนได้ร่วมกันสร้าง สนับสนุนส่งเสริมด้วยความภูมิใจยาวนานกว่า 60 ปี ได้ถูกทำลายลงด้วยนโยบายของ “การเมืองทุจริต”
นับจากปี พ.ศ 2563 ถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 4 ปีกว่า ที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้บริหารแผน 3 คน ร่วมกับพนักงานทุกระดับได้ดำเนินงานตามแผนฟื้นฟื้นฟูกิจการทุกขั้นตอน จนสามารถรักษาการบินไทยไว้ได้และประกาศผลประกอบการมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ และจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในกลางปี 2568 ได้ โดยไม่ต้องมี “ภาครัฐ” เข้ามาช่วยเหลือ
จากบทเรียนในอดีตที่ฝ่ายการเมือง คือ ปัญหาที่ทำให้การบินไทยเกือบล้มละลาย จึงเป็นเรื่องที่สหภาพแรงงานการบินไทยไม่อาจยอมรับได้ที่ฝ่ายการเมืองจะส่งผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม 1 คน และจากกระทรวงการคลัง 1 คน เข้าเป็นผู้บริหารแผนเพิ่มขึ้น จากตัวแทนกระทรวงการคลังที่มีอยู่แล้ว 1 คน รวมเป็นตัวแทนจากภาครัฐ 3 คน จะทำให้ “ภาครัฐ”เป็นเสียงข้างมากที่มีอำนาจในการบริหารแผนฟื้นฟู
สามารถปรับเปลี่ยนแผนงาน ปรับเปลี่ยนนโยบายที่ได้ดำเนินงานมาด้วยดี ไม่มีปัญหาการทุจริต ตลอดระยะเวลา 4 ปีกว่า
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้พนักงานการบินไทยทุกคนต้องทำงานหนักมากเพื่อให้การบินไทย เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน เพื่อให้สายการบินแห่งชาติมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน ให้คนไทยทุกคนได้ภูมิใจในสายการบินของคนไทย ที่ผู้ใช้บริการทั่วโลกเชื่อมั่นในการบริหารด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
สหภาพแรงงานการบินไทย “ขอคัดค้านการส่งผู้แทนภาครัฐ 2 คนจากกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เพิ่มเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
ให้พนักงานบริษัทการบินไทย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจการบิน สะสมประสบการณ์มายาวนานกว่า 60 ปี ได้ใช้ความรู้ ความสามารถโดยอิสระ ปราศจากการแทรกแซง แสวงหาผลประโยชน์จากฝ่ายการเมืองเช่นในอดีต...”
5. มันจะอดอยากปากแห้ง อะไรกันนักหนา?
อย่าให้การเมืองสามานย์ไฮแจ็ค หรือจี้ปล้นการบินไทย ยึดครองแทรกแซงบนเส้นทางฟื้นฟูกิจการ จนกลับไปเป็นขุมทองของคนโกงอีกครา
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี