แม้ความคิดความอ่านของมนุษย์นั้นไม่มีขอบเขต แต่เหตุการณ์บางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยมีการคาดคิดคาดเดาเอาไว้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อก็เพราะมนุษย์นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยตลอด โดย ณ วันนี้ในภูมิภาคอินโด–แปซิฟิก คาบมหาสมุทรอินเดีย และคาบมหาสมุทรแปซิฟิก ก็ได้มีหลายเรื่องที่อุบัติขึ้น ซึ่งมีทิศทางที่มุ่งไปในเรื่องของการสงครามมากกว่าการเสริมสร้างสันติภาพ อาทิ
1. รัสเซีย และเกาหลีเหนือ ผนึกกำลังกันเป็นพันธมิตรแน่นแฟ้น โดยเกาหลีเหนือได้จัดส่งกำลังทหารร่วม 10,000 คน เพื่อไปร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกำลังทหารรัสเซียที่สมรภูมิยูเครน โดยไม่แคร์สายตาผู้คนทั้งโลก โดยเฉพาะกับประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ตั้งอยู่รายรอบเกาหลีเหนือ และประชิดกับภาคตะวันออกของรัสเซีย ก็เท่ากับว่าทั้งรัสเซียและเกาหลีเหนือ ได้นำเรื่องความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย มาเกี่ยวข้องกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือโดยปริยาย และก่อให้เกิดปฏิกิริยากับเกาหลีใต้ว่าจะต้องทำการอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกับสหรัฐอเมริกา และยุโรปตะวันตกในกรอบองค์การนาโตในสมรภูมิยูเครน ส่วนจีนนั้นก็ดูจะกระอักกระอ่วนใจที่เกาหลีเหนือซึ่งแต่เดิมทำตนเป็นเด็กในอาณัติมาตลอด แต่วันนี้กลับไปตกร่องปล่องชิ้นกับรัสเซียมากกว่า ซึ่งแม้ว่ารัสเซียกับจีนจะมีความสัมพันธ์กันแบบพิเศษสุดก็ตามที
2. รัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่นภายใต้การนำพาของนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ ก็ได้เริ่มโยนหินถามทางเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์การรูปแบบเดียวกับนาโตในเอเชีย ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ก่อสงครามโลก ครั้งที่ 2 และหลังจากพ่ายแพ้ ก็หันไปฝักใฝ่ในเรื่องสันติภาพมาโดยตลอด แต่วันนี้
ก็ได้เริ่มเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจไปในทิศทางของการเอาเรื่องความมั่นคงกลับมาเป็นนโยบายต่างประเทศหลัก
3. ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รัสเซียและอินโดนีเซีย ก็ได้มีการร่วมซ้อมรบทางทะเลทางภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นการบ่งบอกว่า อินโดนีเซียที่ได้ประกาศตัวเองว่า จะคบหาสมาคมกับทุกประเทศมหาอำนาจ โดยจะมีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ฝักใฝ่ในฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด (สะท้อนให้เห็นว่า อินโดนีเซียนั้นอยากมีบทบาทในโลกกว้าง ในทำนองเดียวกับอินเดียและบราซิล เพื่อแสดงความเป็นตัวตนและความยิ่งใหญ่) ในขณะที่ฟิลิปปินส์และเวียดนามซึ่งเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนด้วยกัน ก็มุ่งกระชับความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ เป็นสำคัญ บ่งบอกว่าอาเซียนกำลังกระจัดกระจายไปกันคนละทิศละทาง
4. จีนในแง่หนึ่งก็พูดเรื่องการส่งเสริมสันติภาพและการร่วมมือเพื่อการพัฒนาและเปิดตลาดการค้าต่อกันและกัน แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็ไม่ลดละในการแสดงแสนยานุภาพในทะเลจีนตอนใต้ต่อฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ต่างอ้างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาณาบริเวณทับซ้อนกัน และเมื่อจีนยิ่งรุกคืบ ผลสะท้อนที่ได้มาก็คือ การกระชับพละกำลังร่วมกันเป็นพันธมิตรของประเทศต่างๆ ในละแวก เพื่อโอบล้อมและตีกรอบจีน โดยมีสหรัฐฯ ชักใย สนับสนุน และผลักดันอย่างแข็งขัน
ครั้งเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง โลกก็ให้ความหวังต่อสันติภาพ และเมื่อโลกไร้พรมแดนด้วยหลักโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีการสื่อสารเชื่อมโยงสมัยใหม่ โลกก็จะมั่งคั่งร่ำรวยร่วมกัน แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปแค่ 30 ปี ชาวโลกก็กลับมาเผชิญหน้ากันอีก แล้วก็มาถูกซ้ำเติมด้วยประเด็นปัญหาของโลกร้อน โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเมื่อมนุษย์เป็นผู้ก่อ มนุษย์ก็ต้องเป็นผู้แก้ให้ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์จะเลือกเส้นทางสันติวิธี หรือเส้นทางสงคราม
อย่างไรก็ตาม วันนี้กลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ยังอยู่ในวิสัยที่จะเลือก และเสริมสร้างเส้นทางสันติภาพได้ แต่ขึ้นอยู่ที่ผู้นำอาเซียนจะต้องเปิดใจต่อกันและกัน
เพียงใด เพื่อยืนหยัดร่วมกัน ไม่ตกอยู่ในอาณัติของใคร และมีความเป็นตัวของตัวเองที่จะช่วยเสริมสร้างสันติภาพ
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี