หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมิได้เสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศเลย จนกระทั่ง
หลังการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย และมีรัฐบาลใหม่แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เตรียมเสด็จฯไปต่างประเทศเพื่อรักษาพระองค์และเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศด้วย
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2476 ขุนสมาหารหิตคดีผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ได้ลุกขึ้นถามว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ยังยุโรปและอเมริกา ในวันที่ 12 เดือนนี้ ข้าพเจ้าอยากจะถามรัฐบาลว่า ตามมาตรา 10 มีว่าจะต้องมีผู้รักษาราชการแทน บัดนี้ได้มีผู้แทนแล้วหรือยัง และผู้แทนนั้นคือใครบ้าง”
“มาตรา 10 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถทรงตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว”
นายกรัฐมนตรี จึงได้เสนอ “ข้าพเจ้าขอเสนอชื่อผู้ที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ขอให้สภาฯ นี้ลงมติรับรองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 10”
ในวันนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ยกมือขึ้นรับรองพร้อมเพรียงกันเป็นเอกฉันท์
สมเด็จกรมพระนริศฯเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นพระปิตุลาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระองค์เองได้ถูกคณะผู้ก่อการฯเชิญตัวไปประทับอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย
อีกสามวันต่อมา ในตอนค่ำของวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ได้มีพระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียงแก่ประชาชนโดยตรงเป็นครั้งแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
มีความว่า
“ในวันที่ 12 เดือนนี้ ข้าพเจ้าพร้อมด้วยพระราชินีจะได้เดินทางออกไปต่างประเทศ ทั้งนี้เป็นความจำเป็นเพื่อรักษาร่างกายของข้าพเจ้า และถือโอกาสเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศให้ดียิ่งขึ้นด้วย
ข้าพเจ้าตระหนักถึงความลำบากทางการเมืองซึ่งมีอยู่ในเวลานี้ แต่ข้าพเจ้ามีความไว้วางใจคณะรัฐบาลของข้าพเจ้า ซึ่งมีนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่อย่างเต็มที่ และสภาผู้แทนราษฎรกับประชาราษฎรทั้งหลาย ก็ได้แสดงความไว้วางใจอย่างเดียวกัน แม้การกบฏครั้งที่แล้วมา รัฐบาลและกองทัพของข้าพเจ้าได้ปราบปราม จนสงบราบคาบแล้ว ข้าพเจ้าจึงเชื่อมั่นว่า ประเทศชาติของเราจะได้รักษาความสงบและประสานความสามัคคีกันเป็นอย่างดี…
…อันการปกครองแบบรัฐธรรมนูญนี้ ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสอย่างจริงจัง ตั้งแต่ต้นมา
เมื่อได้มีรัฐธรรมนูญแล้วข้าพเจ้าก็ได้สนใจ เพื่อให้กิจการเป็นไปตามระบอบรัฐธรรมนูญทุกประการ ข้าพเจ้าได้แสดงความประสงค์หลายครั้งว่า จะใคร่ให้การเมืองเป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความประสงค์อีกครั้งหนึ่งว่า เฉพาะอย่างยิ่งที่ข้าพเจ้าไม่อยู่ในพระนครนี้ ข้าพเจ้าขอให้ประชาชนของข้าพเจ้าจงรักษาความสงบและสามัคคีกันไว้ให้มั่นคง…
…เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ข้าพเจ้าต้องจากประเทศสยามไปชั่วคราวนี้ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ได้คุ้มครองรักษาให้ประชาชนประชาชนชาวไทยได้รับสันติสุขทุกประการ”
แต่ราษฎร ก็ไม่ได้คาดคิดว่าการเสด็จไปต่างประเทศครั้งนั้นแล้ว พระองค์จะสละราชสมบัติ
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี