ชาวนาในยุครัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ จะได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างไร?
จะมีโครงการปุ่ยคนละครึ่ง หรือไร่ละพัน?
หรือจะมีประกันรายได้? หรือจะกลับไปจำนำข้าว?
1. เดิม ในยุครัฐบาลเศรษฐา ได้พิจารณาอนุมัติโครงการปุ๋ยคนละครึ่งไว้แล้ว เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 วงเงินงบประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท
แต่ไม่ได้ดำเนินการ เวลาล่วงเลยมาเสียก่อน
มีข่าวว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) จะมีการพิจารณาทบทวนโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง
การหารือระหว่างคณะทำงานระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังในเบื้องต้น ทราบว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่งไม่เป็นที่นิยมสำหรับชาวนา
จึงยังเป็นที่น่าสนใจว่า จะเลือกดำเนินโครงการใด แม้จะมีกรอบวงเงินที่ครม.เคยอนุมัติปุ๋ยคนละครึ่งอยู่เดิม 2.9 หมื่นล้านบาทก็ตาม
โดยมีแนวคิดว่า จะพิจารณาโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท จ่ายสูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท
แต่ถึงขณะนี้ ยังไม่มีการตัดสินใจเด็ดขาดว่า จะเอาอย่างไร?
2. เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2567
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม
หลังการประชุม ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 จำนวน 3 โครงการ
รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 60,085 ล้านบาท ได้แก่
1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินงบประมาณ 43,843.76 ล้านบาท
2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินงบประมาณ 15,656.25 ล้านบาท
และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก วงเงินงบประมาณ 585 ล้านบาท
โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว จัดทำรายละเอียดโครงการที่ 1 และ 2
ส่วนกรมการค้าภายใน จัดทำรายละเอียดโครงการที่ 3
เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
3.เท่ากับว่า นบข.ยังไม่มีการพิจารณาว่าจะมีโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง หรือไร่ละพัน ?
โดยแนวทางที่ปรากฏ ก็คือการบริหารจัดการดูแลข้าว คล้ายๆ กับสมัยรัฐบาลลุงตู่เคยดำเนินการมาก่อนนั่นเอง
แต่ยุคนี้ ไม่มีโครงการประกันรายได้ชาวนา ซึ่งเคยช่วยคุ้มครองความเสี่ยงด้านรายได้ของชาวนา
4.สำหรับสถานการณ์ภาพรวมข้าวไทย ปีการผลิต 2567/68 พื้นที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน
เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก
โดยรอบที่ 1 นาปี มีพื้นที่เพาะปลูก 62.12 ล้านไร่ ลดลงจากปีก่อน 0.1 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.2 พื้นที่เก็บเกี่ยว 60.29 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.03 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.05
ผลผลิตที่ได้ 27.04 ล้านตันข้าวเปลือก
เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.21 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 1
และรอบที่ 2 นาปรัง มีผลผลิต 7.17 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.95 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 15
ในส่วนสถานการณ์ราคาข้าวเปลือก ค่าความชื้นร้อยละ 15 ได้แก่
ข้าวหอมมะลิ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 15,750 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,000 บาท
ข้าวปทุมธานี มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,050 บาท เพิ่มจากปีก่อน 500 บาท
ข้าวเจ้า มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 9,550 บาท ลดลง 1,600 บาท
และราคาข้าวเปลือกค่าความชื้นร้อยละ 30 ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 12,200 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 800 บาท
ข้าวปทุมธานี มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10,100 บาท เพิ่มจากปีก่อน 400 บาท
ข้าวเจ้า มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 7,400 บาท ลดลง 1,200 บาท
ทั้งนี้ ในช่วงมกราคม - กันยายน 2567 อินเดียส่งออกข้าวได้เป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 11.84 ล้านตัน
รองลงมาเป็นประเทศไทย ส่งออกประมาณ 7.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 22 จากปีก่อน
5. สถานการณ์ข้างต้น เห็นว่า ชาวนาขายข้าวเจ้าได้ราคาถูกกว่าปีที่แล้ว
ในที่สุด ความเดือดร้อน และความกดดัน ก็จะรุมเร้าไปที่รัฐบาล
จะช่วยเหลือชาวนาอย่างไร?
กลไกที่มีอยู่ จะเพียงพอหรือไม่?
ขณะนี้ เรียกว่า เป็นช่วงสุญญากาศ ในการช่วยเหลือชาวนา หลังจากโครงการไร่ละพันสะดุด ขณะที่โครงการเดิมก็ยังไม่ออกมา
ล่าสุด สส. พรรคร่วมรัฐบาลเอง นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลฯ โฆษกพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า ได้รับทราบปัญหาของพี่น้องชาวนา ที่ต้องการให้รัฐบาล รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโครงการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทกลับคืนมา
“ประชาชนเรียกร้องขอให้นำโครงการการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ คืนมา
เพราะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้รับผลกระทบจำนวนมาก
รัฐบาลไม่ได้ให้ความชัดเจนในการช่วยเหลือชาวนา “ไร่ละ 1,000 บาท” ดังนั้น จึงควรจะให้ความกระจ่างกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่กำลังอยู่ในระหว่างช่วงเกี่ยวข้าวด้วย” – สส.แนนกล่าว
6. รัฐบาล โดย นบข. ควรจะเร่งพิจารณา จะเอายังไง?
และเร่งประกาศให้เกิดความชัดเจนแก่ชาวนา เพื่อจะได้วางแผนชีวิตกันถูก
หากจะกลับไปทำไร่ละพัน ก็ต้องระมัดระวังการทุจริต ต้องทำให้เกิดความโปร่งใส
ในอดีต เคยมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ฯลฯ ในลักษณะจัดซื้อวัตถุดิบอุปกรณ์การเกษตรไปแจกจ่ายเกษตร มักพบว่ามีการทุจริตโกงกิน
ในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้เลือกใช้วิธีการช่วยเหลือเกษตรกร แบบจ่ายเงินตรงเข้าบัญชีเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น โครงการประกันรายได้เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด ชาวสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน
โครงการประกันรายได้ และโครงการจ่ายเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการไร่ละ 1,000 บาท) ใช้งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีละประมาณ 54,300 ล้านบาท
ไม่ต้องมีการจัดซื้อสิ่งของไปแจกให้เกษตรกร แบบซื้อปุ๋ยอินทรีย์ ฯลฯ
ไม่ต้องมีการรับซื้อสินค้าจากเกษตรกร แบบจำนำข้าว จำนำมัน จำนำยางพารา ฯลฯ
สามารถตัดวงจรการทุจริตโกงกินแบบที่เคยเป็นปัญหามาในอดีตได้
ย้ำ ทั้งสองโครงการในยุคนั้น จ่ายเงินเข้ากระเป๋าชาวนาโดยตรง
เมื่อชาวนาได้เงินไปแล้ว จะเอาข้าวไปขายที่ไหนก็ได้ จะเอาเงินไปซื้อปุ๋ยหรือปัจจัยการผลิตที่ไหน ก็ตามแต่ชาวนาจะพิจารณาเอาเอง
ส่วนโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ยุครัฐบาลนายกฯเศรษฐา เงินจะไม่ได้จ่ายเข้ากระเป๋าชาวนา แต่ภาครัฐจะไปเจรจาคัดเลือกปุ๋ยและพ่อค้าปุ๋ยมาให้ชาวนา แล้วชาวนาจะต้องจ่ายเงินค่าปุ๋ยเองครึ่งหนึ่ง แล้วรัฐถึงจะออกให้อีกครึ่งหนึ่ง
โดยเงินค่าปุ๋ยประมาณ 29,980 ล้านบาท จะถูกจ่ายจาก ธ.ก.ส.ผ่านสหกรณ์การเกษตรไปเข้าบัญชีพ่อค้าปุ๋ย
ไม่ผ่านกระเป๋าชาวนาเลยด้วยซ้ำ
7. บทเรียนคดีทุจริตประมูลจัดซื้อปุ๋ยวงเงิน 367 ล้านบาท เมื่อปี 2544-2545
ยุคนั้น มีการเสนอให้มีการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 1.31 แสนตัน วงเงิน 367 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ
สุดท้าย เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ ร่วมกันเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือฮั้วประมูล และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 157
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง พิพากษาจำคุก 6 ปี “ชูชีพหาญสวัสดิ์” และ “วิทยา เทียนทอง” โดยไม่รอลงอาญา
8. อย่างไรก็ตาม หากเลือกทำโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง หรือมุ่งให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ด้วยการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง เหมาะสม ตามหลักวิชาการ
โดยช่วยให้ชาวนาเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับสภาพการเพาะปลูกจริง โดยไม่มีการทุจริต
ก็จะทำให้ชาวนาได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นได้จริง และมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เหมือนกับโด๊ปยานั่นเอง ทำให้เพิ่มผลผลิตต่อไร่เฉพาะหน้า โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้รับการอุดหนุนช่วยเหลือจากภาครัฐ
รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างไร ก็ควรจะทำให้ชัดเจนโดยเร็ว
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี